posttoday

คสช.เคาะเขตสุขภาพเพื่อประชาชน

02 กันยายน 2557

เล็งใช้ระเบียบสำนักนายกฯ กำหนดภารกิจเขตสุขภาพเพื่อประชาชน ยัน ไม่ก้าวก่ายอำนาจแต่ละหน่วยงาน

เล็งใช้ระเบียบสำนักนายกฯ กำหนดภารกิจเขตสุขภาพเพื่อประชาชน ยัน ไม่ก้าวก่ายอำนาจแต่ละหน่วยงาน

เมื่อวันที่ 2 ก.ย. ที่อาคารสุขภาพแห่งชาติ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ แถลงข่าความคืบหน้าการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน โดยนพ.อำพล เปิดเผยว่า ขณะนี้ ได้ตั้งคณะทำงานเขตสุขภาพเพื่อประชาชนเรียบร้อยแล้ว โดยมีกรรมการจำนวน 20 คน จากหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล กทม. แพทยสภา ฯลฯ เพื่อร่วมออกแบบกลไกการทำงานที่เป็นรูปธรรม มีการทำงานวิชาการรองรับและเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยจะจัดรับฟังความคิดเห็นครั้งแรงในวันที่ 12 ก.ย.นี้ ที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ ก่อนนำเสนอสู่ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ วันที่ 24-26 ธ.ค.

“วัตถุประสงค์หลักคือ 1.ร่วมประสานข้อมูล ภารกิจ และการทำงานของแต่ละองค์กร 2.ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การทำงานเสริมกัน 3.ร่วมกำหนดทิศทางการทำงานสู่เป้าหมายเดียวกัน 4.ร่วมบูรณาการการทำงานในพื้นที่เดียวกัน 5.ร่วมระดมทรัพยากรเพื่อขับเคลื่อนงาน โดยจะเชื่อมองค์กรสุขภาพในแต่ละพื้นที่เข้าด้วยกัน คิดด้วยกัน ไม่ก้าวก่ายกัน ทั้งนี้ ยืนยันว่าเขตสุขภาพเพื่อประชาชนไม่ใช่เขตโครงสร้าง แต่เป็นกลไกสำหรับทำงานร่วมกันคิด โดยยกตัวอย่างประเด็นเป็นตัวตั้งเพื่อแก้ปัญหา เช่น บางพื้นที่ของภาคเหนือมีปัญหาการฆ่าตัวตายมากเป็นอันดับต้นๆ ทุกหน่วยก็ต้องร่วมกันคิด ร่วมกันผนึกกำลังว่าจะใช้โครงสร้าง หรือทรัพยากรของตัวเอง มาทำงานร่วมกันอย่างไรเพื่อแก้ปัญหา” เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติกล่าว

นพ.อำพล กล่าวอีกว่า ขณะนี้ คสช.เห็นชอบหลักการแล้ว มีคณะทำงานเริ่มต้นแล้ว ซึ่งหลังจากนี้ จะเป็นขั้นตอนของการทำงานวิชาการร่วมกัน ส่วนเขตบริการสุขภาพที่สธ.กำลังทำ ก็สามารถเดินหน้าคู่ขนานกันไปได้ โดยเขตสุขภาพเพื่อประขาชนจะไม่ก้าวก่าย ส่วนการขับเคลื่อนนโยบายนั้น น่าจะเริ่มเห็นชัดเจน ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ช่วงปลายเดือนธ.ค.นี้

“ยืนยันว่าเขตสุขภาพเพื่อประชาชนไม่ใช่เขตของสช.เพียงคนเดียว แต่เป็นของทุกคนที่จะร่วมกันปฏิบัติ โดยหลังจากนี้ จะเสนอไปยังคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ได้เห็นชอบในรายละเอียดต่อไป ส่วนวิธีการทำงาน ในที่สุดอาจออกเป็นรูปแบบของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อมีผลให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติตาม และมีผลผูกพันข้ามรัฐบาลได้ด้วย ขณะนี้ขั้นตอนอาจจะเห็นผลช้า แต่เรื่องของนโยบายต้องคิดให้รอบคอบ เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างแท้จริง” นพ.อำพลกล่าว

ทั้งนี้ เขตสุขภาพเพื่อประชาชน เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สธ. สปสช. สช. สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง และสสส. ที่เห็นด้วยในการร่วมมือกันทำงาน โดยมีเป้าหมายหลัก เพื่อปฏิรูประบบสุขภาพ ให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น และมีระบบการทำงานที่สอดคล้องกัน โดยผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ไปเมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่ผ่านมา