posttoday

ร้องสปสช.หยุดนโยบายสิทธิฉุกเฉิน

26 สิงหาคม 2557

เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ร้องสปสช.หยุดนโยบายสิทธิฉุกเฉิน (MCO)

เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ร้องสปสช.หยุดนโยบายสิทธิฉุกเฉิน (MCO)

เมื่อวันที่26ส.ค.57 เมื่อเวลา 13.00 น.เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ยื่นเรื่องต่อเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง นโยบายสิทธิฉุกเฉิน (MCO) สืบเนื่องจากพบความบกพร่องในนโยบายดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ป่วยหรือญาติต้องถูกฟ้องร้องจากโรงพยาบาลเอกชน เพื่อเรียกค่ารักษาพยาบาล รวมถึงกรณีที่ผู้ป่วยหรือญาติฟ้องสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และโรงพยาบาลเอกชนต่อศาลปกครองเพื่อเรียกค่ารักษาพยาบาลคืน

นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันพบผู้ป่วยหรือญาติที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายสิทธิฉุกเฉินจำนวนมาก อาทิ 1.) นางสำรวย โสภจารย์ อายุ 78 ปี ตกเป็นจำเลย โดยถูกโรงพยาบาลย่านฝั่งธนฯ ฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลคืน จำนวน 446,225 บาท 2.) นายประเสริฐ อชินีทองคำ อายุ 53 ปี ยื่นฟ้องกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) สปสช. และโรงพยาบาลย่านรามอินทรา ให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 3 ร่วมกันติดตามค่าใช้จ่าย 333,069 บาท กรณีที่ภรรยาของนายประเสริฐ ประสบอุบัติเหตุและเข้ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลสินแพทย์ แต่ถูกปฏิเสธสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ 3.) นางบุญยัง บุญมี อายุ 78 ปี ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แต่ไม่มีเงินชำระค่ารักษาพยาบาล ซึ่งคาดว่าโรงพยาบาลวิภาวดีจะฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลในเร็วๆนี้

ดังนั้น จึงเรียกร้องให้สปสช. ดำเนินการ ดังนี้ 1.) ประกาศยกเลิกนโยบายดังกล่าวชั่วคราว เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยและญาติต้องตกเป็นเหยื่อเพิ่มขึ้น 2.) เร่งออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนโดยด่วน ด้วยการคืนเงินให้กับผู้ป่วยและญาติที่สำรองจ่ายไปแล้ว และเข้าช่วยเหลือคดีความที่ผู้ป่วยและญาติถูกโรงพยาบาลเอกชนฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาล และ 3.) หากสปสช.จะดำเนินนโยบายนี้ต่อไป จะต้องได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ และมีมาตรการรองรับที่ชัดเจน ไม่ผลักภาระให้ประชาชนอีกต่อไป

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. กล่าวว่า เรื่องที่ร้องเรียนนี้อยู่นอกเหนืออำนาจการตัดสินใจของสปสช. เนื่องจากเป็นนโยบายที่ถูกผลักดันโดยรัฐบาล การพิจารณาว่าจะยุตินโยบายดังกล่าว เป็นการชั่วคราวหรือไม่ จะต้องออกคำสั่งโดยรัฐบาล ส่วนตัวเห็นด้วยว่าจะต้องมีการปรับปรุงนโยบายดังกล่าว หากยังขับเคลื่อนต่อไป เนื่องจากกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันกำหนดไว้เพียงให้โรงพยาบาลทุกแห่ง จะต้องให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยไม่ว่ากรณีใดๆ จึงไม่มีการปฏิเสธที่จะรักษา แต่กลายเป็นปัญหาในด้านการชำระค่ายรักษาแทน ซึ่งต้องแก้ไขด้วยการร่างกฎหมายกำกับให้ละเอียดขึ้น นอกจากนั้นกรณีที่ญาติผู้ป่วย ฟ้องร้องโรงพยาบาล สธ และสปสช. เพื่อเรียกเงินค่ารักษาคืนนั้น ขึ้นอยู่กับว่าจะนำเงินจากส่วนไหนคืน หากศาลปกครองเห็นว่าต้องชำระเงินคืนแก่ผู้ฟ้อง ซึ่งหากศาลปกครองมีคำสั่งให้สปสช. เป็นผู้ชดใช้ ตนยินดีดำเนินการตามคำสั่งศาล แต่ขณะนี้ไม่มีคำสั่งจากรัฐบาลหรือศาลปกครอง จึงไม่สามารถกระทำการใดได้

นพ.แท้จริง ศิริพานิช คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและประธานอนุกรรมการด้านสิทธิผู้สูงอายุ ผู้พิการ บุคคลหลากหลายทางเพศ กล่าวว่า โรงพยาบาลมีหน้าที่ให้การรักษาผู้ป่วย ไม่ว่าโรงพยาบาลจะทำหน้าที่หรือไม่ทำหน้าที่ หากเป็นการละเมิดสิทธิยอมเข่าข่ายที่คณะกรรมการสิทธิฯ จะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง แล้วชี้มูลว่าเป็นการละเมิดสิทธิจริงหรือไม่ ซึ่งสามารถนำไปเป็นหลักฐานในชั้นศาลหรือเพิ่มความหน้าเชื่อถือต่อผู้เสียหาย  แต่คณะกรรมการสิทธิฯ ไม่มีอำนาจในการสั่งการไปยังหน่วยงานรัฐหรือโรงพยาบาลเอกชนคู่กรณี ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดได้

ทั้งนี้ไม่สามารถระบุระยะเวลาในการดำเนินการได้ เพราะหากบุคคลที่ถูกเรียกตรวจสอบไม่ให้ความร่วมมือ ก็จะต้องเลื่อนระยะเวลาในการสอบสวนออกไป จึงทำให้ไม่สามารถคาดการระยะเวลาในส่วนนี้ได้