posttoday

สธ.ประกาศให้อีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตราย

13 สิงหาคม 2557

ปลัดสธ.ออกประกาศ4ฉบับให้อำนาจเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคอีโบลาเต็มที่ ตรวจเข้ม3ชาติ1เมืองเข้าไทย

ปลัดสธ.ออกประกาศ4ฉบับให้อำนาจเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคอีโบลาเต็มที่ ตรวจเข้ม3ชาติ1เมืองเข้าไทย

วันที่ 13 ส.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. เปิดเผยว่า  ได้ลงนามในประกาศที่เกี่ยวข้องกับโรคอีโบลา 4 ฉบับ ได้แก่ 1. ประกาศเป็นโรคติดต่อ 2. ประกาศเป็นโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความ 3. ประกาศเป็นโรคติดต่ออันตราย ซึ่งเป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2523 และ 4. ประกาศประเทศดินแดนติดเชื้อไวรัสอีโบลา ซึ่งมีอยู่ 3 ประเทศ ได้แก่ กินี ไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน และ 1 เมือง คือ เมืองลากอส เมืองหลวงของไนจีเรีย ในฐานะปฏิบัติหน้าที่แทน รมว.สาธารณสุข และจะส่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้มีผลบังคับใช้ทันทีหลังประกาศ 1 วัน ซึ่งจะช่วยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขควบคุมโรคได้มากขึ้น และในวันที่ 14 ส.ค. จะมีการประชุมความคืบหน้าอีกครั้งว่าควรมีการเพิ่มเติมมาตรการใดอีกบ้าง รวมถึงจะประชุมคณะกรรมการโรคอุบัติใหม่แห่งชาติ ซึ่งจะมีหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในสัปดาห์หน้า

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การออกประกาศเป็นโรคติดต่อ โรคติดต่อต้องแจ้งความ และโรคติดต่ออันตราย จะช่วยให้พนักงานสาธารณสุข ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ รวมถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาล สามารถป้องกันและควบคุมโรคได้เต็มที่  อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าโอกาสเสี่ยงเข้าประเทศนั้นยังน้อย 

ทั้งนี้ ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกเมื่อวันที่ 11 ส.ค. พบว่ามีผู้ป่วย 1,848 ราย เสียชีวิต 1,013 ราย อัตราการเสียชีวิตลดลงจากเดิม 90% เหลือ 50-60% เนื่องจากแพทย์มีความเข้าใจในพยาธิสภาพของโรคมากขึ้น

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย. มีผู้เดินทางจาก 3 ประเทศ เข้ามายังประเทศไทย 483 ราย ซึ่งทั้งหมดไม่มีอาการของโรคอีโบลา ส่วนคนที่ต้องติดตามภายใน 21 วัน ตามระยะการฟักตัวมีทั้งสิ้น 79 ราย เป็นคนไทยที่เดินทางไปในพื้นที่ระบาด 1 ราย โดยขณะนี้ ยังไม่มีอาการของโรค

ขณะที่ยา “ซีแมฟ” สำหรับรักษาโรคอีโบลานั้น นพ.โอภาส กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกยังไม่ได้อนุญาตให้นำยาดังกล่าวมาใช้ เนื่องจากยังไม่ผ่านการทดลองในคน อย่างไรก็ตาม เห็นว่าเป็นโรคที่อันตรายสูงและประชาชนหวาดกลัว จึงอนุญาตให้นำมาใช้ได้ โดยหากประเทศไทยจำเป็นต้องใช้ก็สามารถนำเข้ามาได้โดยไม่ต้องผ่านการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)