posttoday

คนไทยหนุนข่มขืนต้องโทษประหาร

07 สิงหาคม 2557

กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดผลสำรวจประชาชนเห็นชอบ55ฐานความผิดอาญาควรมีโทษประหารชีวิต

กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดผลสำรวจประชาชนเห็นชอบ55ฐานความผิดอาญาควรมีโทษประหารชีวิต

เมื่อวันที่  7 ส.ค. กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ออกมารณรงค์เปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล“ในฐานความผิดใดควรยกเลิกโทษประหารชีวิต”โดยมีบทลงโทษประหารชีวิตจำนวน 55 ฐานความผิด เช่น การข่มขืนเด็กที่มีอายุยังไม่เกิน 15 ปี หรือเด็กอายยุยังไม่เกิน 13 ปี  การฆ่าบุพการี ฆ่าเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติตามหน้าที่โดยไตร่ตรองไว้ก่อน  การผลิตนำเข้า หรือส่งออกยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เพื่อจำหน่าย เป็นต้น

กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ศรีสมบัติ โชคประจักษ์ชัดได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นใน 2 วิธี ได้แก่ 1.การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ“โทษประหารชีวิตยังจำเป็นต่อสังคมไทยหรือไม่” (ก่อนการประชุม)  โดยครอบคลุมผู้แทนจากทุกจังหวัดทั่วประเทศทั้ง 4 ภาค และกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,073 คน พบว่า ร้อยละ 41.4 เห็นควรจะมีโทษประหารยิ่ง ร้อยละ 27.3 เห็นว่าน่าจะมีโทษประหาร ร้อยละ 9.2 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 14.3 เห็นว่าน่าจะยกเลิกโทษประหาร และร้อยละ 7.8 เห็นว่าควรจะยกเลิกโทษประหารอย่างยิ่ง และหลังจากการประชุมพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีการเปลี่ยนแปลงระดับความเห็นว่า “ควรจะมีโทษประหารอย่างยิ่ง” มีอัตราลดลงเกือบ 6 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่ากลุ่มตัวอย่างยังไม่อยากให้ยกเลิกโทษประหารซึ่งต้องศึกษาองค์ประกอบในเชิงลึกว่าเหตุผลคืออะไร

สำหรับวิธีที่ 2.การรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์  www.rlpd.moj.go.th  จำนวน 1,301 คน ผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 73 เห็นควรจะมีโทษประหารยิ่ง ร้อยละ 15 เห็นว่าน่าจะมีโทษประหาร ร้อยละ 3 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 5 เห็นว่าน่าจะยกเลิกโทษประหาร และร้อยละ 4 เห็นว่าควรจะยกเลิกโทษประหารอย่างยิ่ง   ดังนั้นจะเห็นว่าการใช้มาตรการ กลไก การให้ความรู้แก่ประชาชนย่อมมีต่อความคิดเห็น