posttoday

เปิดอาณาจักรชุมชนพอเพียง ทางรอดวิกฤตศึกชิงทรัพยากร

26 กันยายน 2552

โดย...ปริญญา ชูเลขา

โดย...ปริญญา ชูเลขา

หากเปรียบเทียบแก่นแท้ 2 แนวคิด ระหว่างโครงการเอสเอ็มแอล กับโครงการชุมชนพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่ว่า โครงการชุมชนพอเพียงฯ ต่อยอดแนวคิดโครงการเอสเอ็มแอลเดิม ในความเป็นจริงต้องเข้าใจเสียใหม่ เพราะ 2 แนวคิดนี้มีความต่างเชิงแนวคิด เป้าหมาย กล่าวคือ โครงการเอสเอ็มแอลนั้นรัฐบาลต้องการอัดเม็ดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจฐานล่าง เพื่อกระตุ้นการบริโภคในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้นและเกิดเงินหมุนเวียนในระบบ ผ่านโครงการต่างๆ โดยการทำประชาคมจากชาวบ้าน

ขณะที่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ต้องการให้ชุมชนพึ่งพาตนเองไว้ต่อสู้กับความไม่แน่นอน ไม่ว่าช่วงเวลานั้นเศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงขาขึ้นหรือขาลง

ในปัจจุบันยอมรับว่าชีพจรเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลก รายได้จากส่งออก การบริโภคนิยม และการลงทุนในภาครัฐเท่านั้น แต่ “ชุมชน” คือ รากฐานเศรษฐกิจสำคัญกลับไม่ได้รับความสนใจ ในทางกลับกัน ชุมชน คือ ต้นธารแห่งฐานความมั่นคงทางทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่สามารถเก็บเกี่ยวข้าว ปลา อาหารได้ไม่มีวันหมด กล่าวง่ายๆ คือ “เงินทองเป็นของมายา แต่ข้าวปลาสิเป็นของจริง”

แนวคิดนี้ได้ถูกถ่ายทอดและถอดแบบมาสู่ “ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง” ต.หนองบอนแดง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ก่อตั้งเมื่อ 6 ปีก่อน โดย วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้อำนวยการสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง หรืออาจารย์ยักษ์ ที่ชาวบ้านเรียกขานกัน และศูนย์เรียนรู้แห่งนี้เป็นตัวอย่างและต้นแบบ ที่จุดประกายความคิดให้อีกหลายชุมชน โดยมีการนำไปต่อยอดทางความคิดเป็นโครงการชุมชนพอเพียง เพื่อให้ชุมชนพึ่งพาตนเองตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่สิ่งสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสอยู่เสมอ คือ ต้องแสดงในแง่การปฏิบัติให้เกษตรกรได้เห็นจริง และเข้าใจ

พลันย่างเท้าเข้าไปในศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง คำถามวูบแรกที่ผุดขึ้นมา “ชาวบ้านอยู่กันได้อย่างไรโดยไม่ต้องใช้สตางค์แม้แต่แดงเดียว?” แต่เมื่อสัมผัสชาวบ้านจริงๆ พวกเขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ และมีความสุข ภายในอาณาจักรที่พร้อมสรรพ หลากหลายไปด้วยพืชพันธุ์ และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในความพยายามพึ่งพาตนเองอย่างรู้เท่าทันกระแสโลก แม้มีเนื้อที่อันน้อยนิดเพียง 40 ไร่ แต่เสมือนได้ย่นย่อแก่นความคิดเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาไว้ ณ ดินแดนแห่งนี้

ก้าวแรกผ่านประตูเข้าไปจะเห็นความรกครึ้มของป่าธนาคารต้นไม้ ที่ถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดโครงสร้างพันธุ์ไม้ให้มีสภาพใกล้เคียงกับป่า เพื่อรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ และสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน ยิ่งเมื่อเดินแหวกม่านอากาศชุ่มชื้นเข้าไปจะเห็นแต่ต้นไม้ใหญ่ขึ้นสูงตระหง่านเต็มไปหมด เช่น ตะเคียน ประดู่ ที่ชาวบ้านปลูกไว้ใช้ประโยชน์ในการ “พออยู่” คือ ไว้ปลูกบ้านไปจนถึงต่อโรงศพตัวเอง แต่เมื่อไล่ต่ำลงมาจะเป็นต้นไม้โตระดับกลาง และล่าง ส่วนใหญ่เป็นต้นไม้ที่ปลูกไว้ “พอกินพอใช้” เป็น “ยา” และ “อาหาร” เช่น สะเดา บอระเพ็ด ชะพลู ขี้เหล็ก ขิง ข่า และตะไคร้ หรือแม้แต่ชั้นใต้ดินต่ำสุดลงไปยังปลูกมันสำปะหลังแซมไว้ เผื่อเกิดภาวะวิกฤตข้าวยากหมากแพง ก็สามารถขุดหัวมันขึ้นมาต้มรับประทานได้ด้วย

สิ่งสำคัญต้นไม้ทุกต้นที่ศูนย์แห่งนี้ก็คือ ปลอดปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลง เพราะศูนย์แห่งนี้ผลิตยาฆ่าแมลงไว้ใช้เองในสุ่ม ที่เรียกว่า สุ่ม “คืนชีวิตให้แผ่นดิน” ซึ่งชาวบ้านจะร่วมกันผลิตปุ๋ยจุลินทรีย์ หรือปุ๋ยชีวภาพต่างๆ แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น ชาวบ้านต้องการให้ระบบนิเวศบำบัดด้วยระบบนิเวศด้วยกันเอง เช่น ออกกฎเหล็กขึ้นในชุมชน ห้ามจับกิ้งก่า กระปอม เพราะเจ้าสัตว์ 2 ชนิดนี้ คือ นักล่าฆ่าแมลงแห่งป่าไพร

เมื่อมีกับข้าวพร้อมสรรพแล้วต้องมี “ข้าว” ชาวบ้านที่นี่ก็ยังสร้างสุ่ม “คนรักทุ่ง” ซึ่งชาวบ้านร่วมกันปลูกข้าวไว้กินเองในชุมชน โดยเน้นการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูง ทนต่อสภาพภูมิอากาศ และศัตรูพืช แต่ที่ต้องตะลึงก็คือ ชุมชนแห่งนี้ยังใช้ระบบแปรข้าวเปลือกเป็นข้าวสารแบบดั้งเดิม คือ สามีเป็นคนสีข้าว และตำข้าว ขณะที่ภรรยาจะเป็นคนคอยกวัดข้าว นอกจากจะเป็นการออกกำลังกายแล้ว ไม่ต้องถูกโรงสีกดขี่ราคารับซื้อ อีกทั้งเป็นการกระชับความสัมพันธ์คนในครอบครัวให้เหนียวแน่นยิ่งขึ้นด้วย

ในชุมชนยังร่วมกันสร้างสุ่ม “คนมีไฟ” ซึ่งเป็นสุ่มที่ชาวบ้านร่วมกันผลิตพลังงานไว้ใช้เอง ด้วยการแปรรูปน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว และเศษอาหารที่เหลือกิน นำไปผลิตเป็นไบโอดีเซล และไบโอแก๊ส หรือแม้แต่การทำความสะอาด ยังมีสุ่ม “คนมีน้ำยา” ในการผลิตน้ำยาล้างจาน ล้างรถ สบู่ น้ำยาปรับผ้านุ่ม หรือแชมพูสระผมไว้ใช้กันเอง และจำหน่ายให้กับคนนอก สร้างทั้งชื่อเสียง และรายได้อีกด้วย สุดท้ายคนในชุมชนแห่งนี้ยังมีสุ่ม “คนเอาถ่าน” ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากการเผาสิ่งของที่เหลือกินเหลือใช้มาทำประโยชน์ เช่น เผาเศษไม้ในป่าธนาคารต้นไม้มาทำเป็นถ่านปรุงอาหาร เป็นต้น

อาจกล่าวได้ว่า ทางรอดหนทางเดียวที่ประเทศไทยจะผ่านพ้นสงครามแย่งชิงทรัพยากร ให้สามารถดำรงอยู่ได้ในสภาวะเศรษฐกิจทุกรูปแบบ คือ เศรษฐกิจพอเพียงเท่านั้น เพราะผ่านบทพิสูจน์มาแล้วว่า เศรษฐกิจแบบทุนนิยมตามแบบฉบับตะวันตก ที่เห็นเงินตราเป็นตัวตั้งในการพัฒนาเศรษฐกิจ วันนี้แจ่มชัดแล้วว่า เงินทองเป็นของมายา ไม่เช่นนั้นค่าเงินเหรียญสหรัฐ น้ำมันดิบ หรือแม้แต่ทองคำ ทำไมถึงด้อยค่ากว่าที่ดินของชาวนา นั่นแสดงว่า ข้าวปลาสิของจริง

อย่าลืมว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ 1 ใน 32 ส่วนของโลกที่ปลูกข้าวได้ และพื้นที่ 3 ใน 1,000 ส่วน เป็นพื้นที่น้ำจืด ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ทำไมประเทศที่ร่ำรวยจากขายน้ำมัน เช่น ซาอุดีอาระเบีย บรูไน ดูไบ แอบเข้ามากว้านซื้อที่นาในประเทศไทย และประเทศที่มั่งคั่งจากซีกโลกตะวันตก พยายามโจรกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น และพันธุ์พืชในประเทศเขตร้อนอย่างประเทศไทย

นับจากนี้ไปอีกไม่นาน หากคนไทยยังไม่เห็นความสำคัญตรงจุดนี้ ยังไม่รู้จัก “พอเพียง” “พอประมาณ” และ “สร้างภูมิคุ้มกัน” ตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สักวันหนึ่งคนไทยอาจต้องซื้อพันธุ์ข้าวจากฝรั่งมาปลูกบนผืนนาที่เช่าจากนายทุนอาหรับก็เป็นได้ ถึงวันนั้นคนไทยจะอยู่อย่างไร?