posttoday

คสช.ดึงกลไกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติปฏิรูปสธ.

31 กรกฎาคม 2557

ทหารเรือหนุนเดินหน้ากรรมการประสาน 3 กองทุนสุขภาพ ลดความเหลื่อมล้ำแต่ละสิทธิ ยันเดินหน้าปฏิรูประบบสุขภาพต่อผ่านกลไก "สช."

ทหารเรือหนุนเดินหน้ากรรมการประสาน 3 กองทุนสุขภาพ ลดความเหลื่อมล้ำแต่ละสิทธิ ยันเดินหน้าปฏิรูประบบสุขภาพต่อผ่านกลไก "สช."

เมื่อวันที่ 31 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พล.ร.ต.นวพล ดำรงพงศ์ เจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารเรือ ตัวแทนฝ่ายสังคมจิตวิทยา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นตัวแทนการประชุมระหว่าง ฝ่ายสังคมจิตวิทยา นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ. โดยมีตัวแทนจาก 3 กองทุนสุขภาพ และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง นางสุพัชรี มีครุฑ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เข้าร่วม เพื่อหารือเกี่ยวกับการปฏิรูประบบสุขภาพ

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ฝ่ายสังคมจิตวิทยา และที่ประชุม เห็นตรงกันว่า ควรมีการเดินหน้า คณะกรรมการ 3 กองทุนสุขภาพ ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างระบบสุขภาพให้มีมาตรฐานมากขึ้น โดยจะมีสัดส่วนคณะกรรมการจากทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ และมีผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วม เชื่อว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้

รวมถึงได้เตรียมการนำกรอบการปฏิรูประบบสุขภาพ 5 ข้อ ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ได้แก่ ได้แก่ 1.การปฏิรูประบบสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคและการจัดการกับภัยคุกคามสุขภาพ 2. การปฏิรูประบบบริการสุขภาพ 3.การปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพ 4. การปฏิรูประบบการเงินการคลังและระบบหลักประกันด้านสุขภาพ และ 5.การปฏิรูปการอภิบาลระบบสุขภาพและการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ไปผลักดันต่อไป และจะลงรายละเอียดให้ชัดขึ้น ในการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ อีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า  เรื่อง การลดความเหลื่อมล้ำ และการให้ระบบสุขภาพมีมาตรฐานมากขึ้น โดยเตรียมประชุมกับคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คสช. ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า โดยการปฏิรูปสธ. จะดำเนินการให้สอดคล้องกับมติดังกล่าว

ทั้งนี้ นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ไม่ได้มีการพูดถึงการบริหารจัดการงบประมาณ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ได้หารือในกรอบกว้างๆ เกี่ยวกับการปฏิรูปเท่านั้น

ขณะที่ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการสช. กล่าวว่า มติสมัชชาสุขภาพทั้ง 5 ข้อ ถือเป็นร่มใหญ่ ที่จะต้องไปหารือในรายละเอียดต่อไป อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าทุกฝ่ายเห็นตรงกันเกี่ยวกับการลดความเหลื่อมล้ำของกองทุนสุขภาพ และการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ส่วนเรื่องการเงินการคลังนั้น ไม่ได้มีการหารือ แต่ภาพรวมคงเน้นที่กรอบใหญ่คือต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมทุกระดับอยู่แล้ว

น.ส.สุภัทรา นาคะผิว โฆษกคนรักหลักประกันสุขภาพ และตัวแทนภาคประชาชน กล่าวว่า เห็นด้วย หากจะนำมติสมัชชาสุขภาพไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิรูประบบสุขภาพ เนื่องจากได้ผ่านการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนมาแล้ว อย่างไรก็ตาม ภาคประชาชนต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า เมื่อลงรายละเอียดแล้ว จะเป็นอย่างไร นอกจากนี้ อยากให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการประสาน 3 กองทุนสุขภาพ เนื่องจากภาคประชาชน มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง