posttoday

กรมอุทยานฯสอบมัลดีฟเมืองไทย

26 กรกฎาคม 2557

กรมอุทยานฯสอบสถานะดินสร้างรีสอร์ทและสวนปาล์มที่อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี สงสัยรุกป่าต้นน้ำ

กรมอุทยานฯสอบสถานะดินสร้างรีสอร์ทและสวนปาล์มที่อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี สงสัยรุกป่าต้นน้ำ  

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 26 ก.ค. 57 นายธัญญา เนติธรรมกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุพืช พร้อม นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ ผอ.สำนักป้องกันปราบปรามและควบคุมไฟป่า กรมอุทยานฯ และคณะ ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพป่าในพื้นที่เขตอุทยานฯ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี โดยใช้เครื่องบินบินสำรวจในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเอราวัณ อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ หลังจากนั้นได้เดินทางร่วมประชุมมอบนโยบายในการป้องกันปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ในพื้นที่อนุรักษ์ที่ห้องประชุมอุทยานแห่งชาติเอราวัณ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี โดยมีหัวหน้าอุทยานฯ ในพื้นที่กาญจนบุรี เข้าร่วมประชุม

นายธัญญากล่าวถึงการบินตรวจสภาพป่าว่า มีการสร้างรีสอร์ท และปลูกต้นปาล์มสภาพใหม่ประมาณ 2 ปี ในพื้นที่ป่าบ้านแก่งเรียงใกล้ป่าต้นน้ำของน้ำตกเอราวัณ ซึ่งคาดว่าอาจจะมีการเปลี่ยนมือสิทธิการทำประโยชน์ที่กรมอุทยานฯ ได้ผ่อนผันให้อยู่ตามมติ ครม. เมื่อ 30 มิ.ย. 2541 ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทำการสำรวจตรวจสอบ และหากพบเป็นการกระทำผิดตามระเบียบกฎหมายให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาด

ส่วนการปลูกสร้างอาคารที่พักที่ยื่นเข้าไปในอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ กรณีของมัลดีฟเมืองไทย จะได้นำเรื่องนี้ไปร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบว่า เป็นการดำเนินถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ รวมถึงการได้มาของที่ดินด้วย ขอเตือนนายทุนที่ทำการซื้อขายที่ดิน ขอให้ตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ก่อนว่าเป็นที่ดินที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาและความเสียหายตามมาในภายหลังได้

นายศักดิ์ดา กล่าวว่า เป็นห่วงเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่าบ้านแก่งเรียงอย่างมาก เนื่องจากการบินสำรวจพบว่า มีการบุกรุกพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ และห่างจากต้นน้ำน้ำตกเอราวัณเพียงแค่ 500 เมตร เท่านั้น ซึ่งการบินในครั้งนี้พบว่า ปริมาณน้ำบริเวณน้ำตกเอราวัณช่วงที่น้ำไหลจากหัวช้างเอราวัณมีน้ำไหลในปริมาณน้อยมาก หากไม่เร่งดำเนินการอาจจะส่งผลต่อป่าต้นน้ำน้ำตกเอราวัณได้ และสภาพพื้นที่ยังพบด้วยว่ามีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่จำนวนมาก

ดังนั้น จะต้องดำเนินการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ที่เข้าใช้ทำประโยชน์ หรือใช้กระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ผู้ครอบครองพื้นที่ว่ามีการเปลี่ยนมือหรือไม่ เบื้องต้นทราบว่ามีการเปลี่ยนมือและมีการซื้อขายที่ดินในราคาที่สูงมาก และจะใช้พื้นที่นี้เป็นโมเดลในเรื่องการพิสูจน์สิทธิ์ เพื่อป้องกันและปราบปรามขบวนการบุกรุกครอบครองพื้นที่ป่าโดยนายทุนเข้ามาสวมสิทธิ์ชาวบ้านดั้งเดิมที่ได้รับการผ่อนผันตามกฎหมาย ดังนั้นหากตรวจสอบและสามารถชี้ชัดได้ว่ามีการเปลี่ยนมือก็จะนำพื้นที่ดังกล่าวกลับคืนมาเป็นผืนป่าต่อไป