posttoday

"หมอมงคล"ชง 9 ข้อกระตุกจิตสำนึกสธ.

12 กรกฎาคม 2557

นพ.มงคล ค้านสธ. ล้มระบบหลักประกันสุขภาพ บีบประชาชน ร่วมจ่ายค่ารักษา30-50% ชงข้อมูล 9 ข้อหวังกระตุกจิตสำนึกผู้บริหาร

นพ.มงคล  ค้านสธ. ล้มระบบหลักประกันสุขภาพ บีบประชาชน ร่วมจ่ายค่ารักษา30-50% ชงข้อมูล 9 ข้อหวังกระตุกจิตสำนึกผู้บริหาร

นพ.มงคล ณ สงขลา อดีต รมว.สาธารณสุข โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ผมในฐานะคนที่อยู่ในแวดวงสาธารณสุขมาทั้งชีวิต เคยผ่านช่วงเวลาที่ชาวบ้านไม่กล้ามาหาหมอที่โรงพยาบาลเพราะกลัวว่าจะไม่มีเงินจ่าย เคยเห็นคนขายวัวขายควายขายไร่ขายนาเพื่อจ่ายค่ารักษาพยาบาล มาจนถึงวันที่ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ได้รับการรักษาแม้จะยากจน และไม่ต้องรู้สึกต่ำต้อยอนาถาเมื่อเข้ารับการรักษาพยาบาล

ผมรู้สึกไม่สบายใจอย่างมาก เมื่อทราบข่าวว่า ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขสั่งห้าม รพ.และเจ้าหน้าที่กระทรวงให้ความร่วมมือกับสปสช. มีข้อเสนอที่จะยกเลิกหลักการการแยกผู้ซื้อและผู้ให้บริการ เพื่อดึงอำนาจและการจัดงบประมาณกลับมาที่กระทรวง รวมถึงจะเสนอให้ประชาชนต้องร่วมจ่าย (co-pay) 30-50% ที่ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการส่งข้อความปลุกกระแสทาง line

ผมจึงใช้เวลาช่วงบ่ายวันนี้ทั้งวันเขียนข้อมูลทั้ง 9 ข้อนี้เพียงหวังว่า มันจะสามารถกระตุกสำนึกของผู้คนที่กำลังหลงผิดทำลายระบบหลักประกันสุขภาพ และหวังว่ามันจะทำให้ คสช.เข้าใจในเรื่องความสุขทุกข์ของประชาชนจริงๆ

1. กระทรวงสาธารณสุขและสปสช. ควรแยกจากกัน ในหน้าที่ผู้ซื้อและผู้ให้บริการ ถูกต้องอย่างยิ่ง เพราะงบประมาณเพื่อบริการจะไม่ถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น เนื่องจากมีการติดตามจากผู้ซื้อบริการ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน

2. รัฐมนตรีสาธารณสุขเป็นประธานบอร์ดสปสช. ปลัดกระทรวงสาธารณสุขอยู่ในฐานะบอร์ดคนหนึ่ง ถูกต้องแล้ว เพราะรัฐมนตรีทำหน้าท่ีบริหารงานสาธารณสุขระดับนโยบาย จะได้ให้ความเห็นแก่บอร์ดในการพิจารณาเรื่องที่เป็นนโยบายที่ไปเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆเกี่ยวกับงานสาธารณสุข ส่วนปลัดกระทรวงในฐานะผู้บริหารสถานบริการส่วนใหญ่ของประเทศ จะให้ความเห็นแก่บอร์ดเมื่อพิจารณาเรื่องใดๆที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการของสถานบริการต่างๆในสังกัดกระทรวง เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย แต่อาจไม่จำเป็นถ้าหากกระทรวงสาธารณสุขยอมกระจายอำนาจให้โรงพยาบาลและสถานบริการต่างๆออกจากกระทรวงไปเป็นองค์กรมหาชน อย่างเช่นโรงพยาบาลบ้านแพ้ว หรือไปอยู่กับ อปท. ตามกฎหมยแผนและขั้นตอนกระจายอำนาจ 2543

3. กฎหมายสปสช. มีเจตนารมณ์ชัดเจนที่ต้องให้การระบบหลักประกันสุขภาพเป็นของคนทุกภาคส่วน ไม่ใช่แค่ผู้ให้บริการเท่านั้น ตัวแทนทุกภาคส่วนในบอร์ดมีสิทธิในการออกความเห็น เสียงส่วนน้อยก็ได้รับการยอมรับ ไม่มีการใช้อำนาจหน้าที่(Authority), บารมี(Prestige) หรืออิทธิพล(Power) ใดๆทั้งสิ้น เสียงส่วนใหญ่จึงเป็นทางเลือกที่สังคมผู้เจริญให้ความเคารพด้วยความศรัทธา ไม่ใช่เป็นเสียงท่ีมาจากไหนไม่รู้ เพราะตำแหน่งหน้าที่คือมายา คุณค่าคือของจริง ดังจะเห็นได้จากหลักการของกองทุนสุขภาพตำบล ที่เป็นการร่วมกองทุนระหว่าง สปสช.และองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น หากเป็นตำบลที่มีใหญ่ๆก็จะได้งบประมาณ 5-600,000 บาทแล้วแต่ขนาดมาใส่ในกองทุน อปท.ก็ลงเงินร่วมอีกส่วนหนึ่ง นี่เป็นหลักการของการทำงานร่วมกัน การมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายต่างๆในพื้นที่ เพราะสุขภาพของสังคมจะดีได้ มันมีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องเกื้อกันเพื่อให้การป้องกันส่งเสริมสุขภาพมีประสิทธิภาพจริงๆ ภาคส่วนใดภาคหนึ่งทำลำพังไม่ได้ นี่ไม่ใช่เงินหาเสียงของ สปสช. เป็นกองทุนตั้งต้นซึ่งขณะนี้มี อปท.ตอบรับแล้วเกือบ100% คนสธ.ควรตระหนักว่าเรื่องสุขภาพไม่ใช่แค่เรื่องการรักษาพยาบาล

4. สิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาล (Benefit Package) ของประชาชนทุกรายการจะมีคณะกรรมการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากหลายอาชีพร่วมกันพิจารณา หลังจากผ่านการประเมินจากคณะวิชาการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (Health Technology Assessment ) มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ผ่านการทำวิจัยทุกรายการที่ยังสงสัย ส่วนใหญ่เลือกเพิ่มเติมรายการที่คุ้มค่า เช่นการเพิ่มวัคซีนไข้หวัดใหญ่แก่ผ้สูงอายุ ทำวิจัยออกมาแล้วค่าวัคซีนต่ำกว่าค่ารักษาพยาบาลเมื่อต้องไปนอนโรงพยาบาลจากการเป็นไข้หวัดใหญ่หลายเท่านัก ยกเว้นสิทธิบางอย่างอาจไม่คุ้มทางเศรษฐกิจ แต่ลดการล้มละลายจากการรักษาได้มากเช่น การล้างไต การรักษามะเร็งบางชนิด เป็นต้น

5. กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าสปสช.ต้องซื้อบริการจากสถานบริการภายใต้การกำกับของกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้นถูกต้อง เพราะสปสช.ซื้อบริการจากสถานบริการที่ได้มาตรฐานตามที่กำหนดให้ประชาชนใช้บริการสะดวกที่สุด จากหน่วยงานรัฐหรือเอกชนก็ได้ แต่สถานบริการส่วนใหญ่อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขซึ่งบรรพบุรุษในวงการสาธารณสุขผู้ที่สายตายาวไกลได้ช่วยกันสร้างขึ้นมา ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ นับว่าล้ำหน้าที่สุดจนหลายๆประเทศอยากเอาอย่าง ทั้งนี้เพื่อให้เป็นที่พึ่งของคนไทยทุกคนถ้วนหน้า แต่ไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อให้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขมายึดครองใช้อำนาจจำกัดการทำหน้าที่หลักของสถานบริการเหล่านี้ แท้จริงแล้วหากการให้บริการประชาชนดีขึ้น งบประมาณท่ีจะไปสู่การบริการประชาชนเพียงพอมากขึ้น น่าจะช่วยกันสนับสนุน เคยทราบกันไหมว่าก่อนหน้าที่มี สปสช. สัดส่วนงบประมาณที่กระทรวงสาธารณสุขได้รับการจัดสรรค์น้อยมาก เพราะจัดตามโควต้ากระทรวง ไม่ใช่รายหัวของประชาชน ขอให้เราเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งได้ไหม

6. การให้ประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั้งคนจนและไม่จนทุกคน ถูกต้องแล้ว เพราะงบประมาณที่ใช้มาจากภาษีทั่วไป ซึ่งคนรวยจ่ายภาษีในสัดส่วนที่สูงกว่าคนจนอยู่แล้ว สร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม นอกจากนั้นคนที่ไม่รวยแต่ใกล้จนคือคนชั้นกลางซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เมื่อป่วยหนักค่ารักษาพยาบาลแพง ทำให้ล้มละลายกันมากมายหลายรายต่อปี แม้แต่ร่วมจ่าย (co-pay) ก็หนีไม่พ้นชะตากรรมอย่างที่เคยเห็นกันอยู่ เราคงไม่ต้องการเห็นพี่น้องคนไทยกำเงินมาโรงพยาบาลด้วยแขนที่เปียกโชคด้วยเหงื่อเม็ดโป้งๆ เพราะเงินที่กำอยู่ไปกู้เขามา และเราก็คงไม่อยากเห็นคนมาโรงพยาบาลด้วยความหดหู่เพราะถือบัตรผู้มีรายได้น้อยมาขอทานการพยาบาลอีกต่อไป

7. กฏหมายสปสช.ที่มีอยู่ดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นที่กฎหมายทุกฉบับต้องบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ นอกจากนั้นรัฐธรรมนูญไทย ปี 40 และ 50 ได้บรรจุไว้แล้วว่า รัฐมีหน้าที่ที่ต้องให้การรักษาพยาบาลแก่ประชาชน และประชาชนมีสิทธิที่จะได้เข้าถึงการบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง

8. การประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดจากกระทรวงสาธารณสุข นำโดยนายแพทย์สงวน นิตยารัมพงษ์และภาคีเครือข่าสาธารณสุขทั่วประเทศ ไม่ใช่ 'ซากเดนระบอบทักษิณ'ตามที่กล่าวหากัน เพียงแต่การจะเป็นนโยบายสาธารณะได้นั้น ต้องได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลหรือการเมืองซึ่งที่ผ่านมาไปเสนอมาแล้วทุกพรรคการเมืองใหญ่ และยืนยันว่านี่ไม่ใช่นโยบายประชาชนนิยม แต่เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องดูแลทุกข์สุขของประชาชนตามเจตนารมณ์ของอาจารย์หมอเสม พริ้งพวงแก้ว, อาจารย์หมออุดม โปษะกฤษณะ, อาจารย์หมออมร นนทสุต, อาจารย์หมอบรรลุ ศิริพานิช และอาจารย์ผู้ใหญ่อีกหลายๆท่านมากมายนัก รวมทั้งอาจารย์ผู้ใหญ่สมัยที่คัดลูกสาวชาวชนบทมาเรียนผดุงครรภ์ 2 ปีเพื่อให้กลับไปให้บริการญาติพี่น้องโดยชาวบ้านต้องสร้างสำนักงานผดุงครรภ์เองเพราะรัฐบาลอยากให้บริการทุกพื้นที่ถ้วนหน้าแต่ไม่มีเงินสร้างสำนักงานผดุงครรภ์ นี่ก็เกิดในสมัยอาจารย์หมอสมบูรณ์ วัชรโรทัย

9. ขณะนี้องค์การอนามัยโลกและสหประชาชาติตั้งเป้าไว้แล้วว่าเมื่อผ่านปี 2015 อันเป็นเป้าหมายแห่งสหัสวรรษ (MDG) แล้ว เป้าหมายต่อไป ปี 2030 คือการบริการประกันสุขภาพถ้วนหน้า ณเวลานี้ ประเทศไทยทำสำเร็จระดับหนึ่งในปี 2002 ล่วงหน้าเป้าหมายนี้ไป 28 ปี หลายประเทศมาศึกษาระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าจากประเทศไทย ประเทศไทยได้รับการยกย่องไปทั่วโลก เราจะทำลายเพชรเม็ดงามชิ้นนี้ไปเพื่อสนองกิเลส 1500 ตัณหา 108 ของคนบางกลุ่มอย่างนั้นจริงๆหรือ