posttoday

ไทยเจ๋งบันทึกเสียงวาฬบรูด้าได้ครั้งแรกในโลก

05 กรกฎาคม 2557

ทช.จับมือญี่ปุ่นบันทึกเสียงวาฬบรูด้าสำเร็จครั้งแรกในโลกหลังติดเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมรับข้อมูลการเดินทางติดตามพฤติกรรม

ทช.จับมือญี่ปุ่นบันทึกเสียงวาฬบรูด้าสำเร็จครั้งแรกในโลกหลังติดเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมรับข้อมูลการเดินทางติดตามพฤติกรรม

นายนพพล ศรีสุข อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยว่าทีมงานวิจัยร่วมไทย-ญี่ปุ่น สามารถบันทึกเสียงวาฬบรูด้าได้เป็นครั้งแรกของโลก โดยความสำเร็จดังกล่าว จะพัฒนานำไปใช้ในงานวิจัยเรื่องวาฬ โลมาและพะยูน ที่ทำให้สามารถเข้าใจถึงพฤติกรรมต่างๆ และช่วยในการอนุรักษ์ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จอีกระดับหนึ่งของทช. และเป็นความก้าวหน้าอย่างยิ่งสำหรับการศึกษาสัตว์ทะเลหายาก ที่จะสามารถติดตามการเคลื่อนที่และการอยู่อาศัยของวาฬบรูด้าได้เป็นอย่างดี

นายนพพล กล่าวว่า ความสำเร็จดังกล่าว เกิดขึ้นจากที่ ทช.ติดเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียม  เพื่อการศึกษาการเคลื่อนที่และการอพยพของวาฬบรูด้าบริเวณอ่าวไทยตอนบน   โดยได้รับความอนุเคราะห์เครื่องมือจาก จาก นายอากามะสุ โทโมนาริ และ นายอิวาตะ ทากาชิ 2 นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญวาฬจากประเทศญี่ปุ่น จำนวน 3 ตัว และจากนายชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์ จำนวน 2 ตัว โดยเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมนี้จะถูกรับส่งสัญญาณโดยดาวเทียม ARGOS ของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งจะส่งข้อมูลพิกัดทางภูมิศาสตร์มายังผู้ใช้อีกด้วยนั้น วาฬบรูด้าที่ได้รับการติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณดาวเทียมนั้น คือวาฬที่ทช.เคยติดตามพฤติกรรมและตั้งชื่อให้แล้วก่อนหน้านี้ 4 ตัว คือ วาฬเมษา วาฬพัธยา วาฬสมหวัง และวาฬท่าจีน

"เวลานี้ เราทราบได้ว่า เจ้าเมษา อาศัยอยู่บริเวณอ่าวไทยตอนบนหากินบริเวณชายฝั่งทะเล จ.เพชรบุรี หลังจากนั้นมีการเคลื่อนที่ไปยังบริเวณชายฝั่ง จ.ชุมพร โดยใช้เวลา 3 วัน ในระยะทาง 400 กิโลเมตร ก่อนที่จะพบอุปกรณ์ส่งสัญญาณดาวเทียมที่ติดอยู่หลุดออกและลอยเข้าหาชายฝั่งที่ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี ส่วนเจ้าพัธยาได้ติดเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมรุ่น SPOT 240 C มีสัญญาณการส่งข้อมูล 2 ครั้งในวันที่ติดตั้ง หลังจากนั้นก็ไม่สามารถได้รับสัญญาณดาวเทียมจากอุปกรณ์ที่ติดกับ เจ้าพัธยา อีกเลย ก่อนที่เจ้าหน้าที่ของศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนจะพบเห็นเจ้าพัธยาในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็ไม่พบเอุปกรณ์ติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมติดกับตัวแล้ว ส่วนเจ้าสมหวัง และเจ้าท่าจีนนั้น อุปกรณ์ไม่สามารถส่งสัญญาณดาวเทียมได้"นายนพพล กล่าว

นส.กาญจนา อดุลยานุโกศล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน กล่าวว่า ความสำเร็จครั้งนี้  ถือเป็นนิมิตรหมาย และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากสำหรับการเรียนรู้เรื่องพฤติกรรมที่ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นของวาฬบรูด้า  ที่ผ่านมานั้น นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกยังมีความรู้เรื่องการสื่อสารระหว่างวาฬบรูด้าน้อยมาก เพราะที่ผ่านมายังไม่มีใครสามารถบันทึกเสียง เพื่อนำไปศึกษา และแปลความหมายสัตว์ชนิดนี้ได้เลย

"วิธีการของเรา ที่ได้เสียงวาฬบรูด้ามาคือ ติดเครื่องอัดเสียงไปกับตัวช่วยดูด แล้วยิงไปติดกับตัววาฬ โดยเครื่องอัดนี้ จะติดอยู่ที่ตัววาฬ เสียงร้องของวาฬบรูด้า เป็นเสียงเล็กๆ น่ารักๆ แม้ตอนนี้ ยังแปลไม่ออกว่ามันหมายถึงอะไรแต่ก็เป็นเรื่องที่ดีที่เราบันทึกเสียงเอาไว้ได้ ขณะนี้ทางทีมวิจัยของญี่ปุ่น ได้นำเอาเสียงดังกล่าวไปวิเคราะห์แล้ว คาดว่าต้องใช้เวลาในการแปลความหมายอีกระยะเวลาหนึ่ง และ ขณะนี้ ถือว่า ถือได้ว่านักวิจัยของไทย มีข้อมูลของวาฬบรูด้ามากกว่าที่อื่นใดในโลก" นส.กาญจนา กล่าว

น.ส.กาญจนากล่าวว่า วาฬบรูด้า ถือเป็นสัตว์ประจำถิ่นของพื้นที่อ่าวไทยตอนบน มีวาฬบรูด้า หากินอยู่บริเวณดังกล่าวประมาณ 50 ตัว นักวิจัยสามารถบันทึกเอกลักษณ์ ทำข้อมูลประจำตัว และตั้งชื่อได้แล้วทั้งหมด 45 ตัว อย่างไรก็ดี กรณีที่พบซากวาฬบรูด้าเกยตื้น เป็นเรื่องที่นักวิจัยต้องใช้เวลาในการตรวจสอบเนื้อเยื่อวาฬที่ตายจึงจะทราบว่าเป็นตัวไหน 1 ใน 45 ตัว ที่ตั้งชื่อเอาไว้แล้วหรือไม่