posttoday

ห่วงปลานกแก้วถูกล่าขึ้นโต๊ะอาหารกระทบระบบนิเวศ

23 มิถุนายน 2557

ไอยูซีเอ็นห่วงปลานกแก้วถูกล่ามาเป็นอาหารจนกระทบระบบนิเวศในทะเล หลังพบมีวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า

ไอยูซีเอ็นห่วงปลานกแก้วถูกล่ามาเป็นอาหารจนกระทบระบบนิเวศในทะเล หลังพบมีวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า

นายเพชร มโนปวิตร รองหัวหน้ากลุ่มงานอนุรักษ์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ไอยูซีเอ็น) เปิดเผยว่า จากที่พบว่า หลายพื้นที่ นำเอาปลานกแก้วมาจำหน่ายเพื่อการบริโภคเป็นจำนวนมาก โดยพบได้จากการสำรวจและเก็บข้อมูลตลาด ร้านค้าปลา ตามแนวชายฝั่งทะเล รวมทั้งในห้างค้าส่งขนาดใหญ่ ทั้งๆ ที่เดิมปลาชนิดนี้ไม่ได้อยู่อยู่ในความนิยม หรือเป็นเนื้อปลาที่รสชาติดี เหมาะสำหรับนำมาประกอบอาหาร ที่สำคัญคือ ปลานกแก้ว ถือเป็นปลาที่ช่วยรักษาระบบนิเวศในแหล่งปะการังที่ดีที่สุดในบรรดาสัตว์ทะเลทั้งหมด

"เจ้าหน้าที่ เคยสอบถามไปที่ห้างสรรพสินค้าส่งขนาดใหญ่แห่งหนึ่งถึงที่มาของปลานกแก้ว ได้รับคำตอบว่า มาจากการเพาะเลี้ยง โดยเอาลูกปลามาจากทะเล จนมีขนาดสามารถนำออกมาขายได้ ซึ่งความเป็นจริงแล้ว ปลานกแก้ว เป็นปลาที่อาศัยอยู่ในแนวปะการัง กินสาหร่ายทะเลเป็นอาหาร เป็นตัวช่วยที่ดีที่สุด ในช่วงเวลาที่ปะการังบอบช้ำจากการฟอกขาว และเวลาที่มีสาหร่ายมาปกคลุม เพราะปลานกแก้วจะช่วยกินสาหร่าย ทำให้ตัวอ่อนของปะการังสามารถเติบโตได้"นายเพชร กล่าว

นอกจากนี้จากการวิจัยเก็บข้อมูล พบว่า ปลานกแก้วแต่ละชนิดนั้น เฉลี่ยแล้ว แต่ละตัวจะขับถ่ายออกมาเป็นทรายละเอียดถึงปีละ 90 กิโลกรัม โดยเฉลี่ย เป็นการเพิ่มปริมาณเม็ดทรายในทะเล หมุนเวียนแร่ธาตุในแนวปะการัง วิถีชีวิตของปลาเป็นตัวช่วยอย่างหนึ่งในการป้องกันและแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

นายเพชร กล่าวว่า ในเวลานี้ ขณะที่เนื้อปลานกแก้วยังไม่เป็นที่นิยมมากเท่าใดนัก จึงอยากให้หน่วยงานที่ดูแลเรื่องทรัพยากรชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) ต้องออกมาให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้มาก มิฉะนั้นแล้ว ในอนาคตอันใกล้ หากมีการสร้างกระแสขึ้นมาให้กินปลานกแก้วจนลดจำนวนลง ปัญหาระบบนิเวศน์ในท้องทะเล จะยิ่งมีมากขึ้นในอนาคต