posttoday

สช.ดัน10วาระปฎิรูปสุขภาพ

18 มิถุนายน 2557

ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่6 มีมติดัน10วาระปฏิรูประบบสุขภาพในไทยให้เกิดขึ้นในอนาคต

ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่6 มีมติดัน10วาระปฏิรูประบบสุขภาพในไทยให้เกิดขึ้นในอนาคต 

เมื่อวันที่18มิ.ย.57 เวลา 11.30 น.การแถลงข่าวผลการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ(สช.) ครั้งที่ 6 เพื่อสรุปความสำเร็จของการขับเคลื่อนวาระการประชุม 10 วาระ และข้อเสนอต่อการปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย เพื่อเตรียมเสนอรัฐบาลใหม่ ดำเนินการควบคู่การปฏิรูปประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า กระบวนการของสมัชชาสุขภาพฯ ไม่ได้จัดขึ้นภายใน 2 วันที่ผ่านมาเท่านั้น เนื่องจากมีกระบวนการในการศึกษาปัญหาและขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องตลอดปี การจัดเวทีสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งนี้เป็นการร่วมหาฉันทามติสาธารณะ เพื่อนำมติที่ได้ไปปฏิบัติ มีทั้งเรื่องเดิมที่นำมาพิจารณาใหม่ และเรื่องใหม่ที่ผลักดันให้มีการลงมติ กระบวนการดังกล่าวเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ต่างจากอดีตที่รอการขับเคลื่อนจากภาครัฐอย่างเดียว นอกจากนั้นยังมีการสร้างเครือข่ายในระดับปฏิบัติงานราว 500 คน ประกอบด้วยภาคสาธารณสุข วิชาชีพ และประชาสังคม เป็นต้น สำหรับการจัดเวทีสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งนี้ มีการร่างมติ 10 วาระ โดยหาข้อเสนอการปฏิรูปสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูประเทศไทย ซึ่งเน้นไปที่สุขภาพชุมชน อันเป็นรากฐานความเข้มแข็งของสังคมภาพรวม

นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุมคณะที่ 4 กล่าวว่า การปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องเร่งผลักดัน โดยเสนอให้รัฐบาลใหม่ สภาปฏิรูปประเทศไทย หรือองค์กรใดๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นำกลไกของ สช. และสมัชชาปฏิรูป (สป.) ไปปรับใช้ในการปฏิรูประเทศไทย โดยยึด 86 มติ จากสช. และ 21 มติ จากสป. เป็นแนวทางในการปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการหรือสาระที่ทั้ง 2 คณะได้ร่วมกันหาฉันทามติจากประชาชน รวมถึงสนับสนุนมติที่มีการขับเคลื่อนไปแล้วด้วย  ทั้งนี้พิจารณาความเหมาะสมในการนำมติของ 2 คณะ ปรับใช้ในการปฏิรูป คือ

1.การดำเนินงานของทั้ง 2 คณะ อยู่บนข้อมูลเชิงประจักษ์ มีการศึกษาและดำเนินการอย่างเป็นระเบียบวิธี
2. มติที่ได้ เกิดจากการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายอย่างกว้างขวาง ทั้งภาครัฐ เอกชน กลุ่มวิชาชีพ และประชาสังคม
3.มติที่ได้จาก สช. และ สป. ไม่ได้เกิดจากการโหวตเพื่อผลแพ้-ชนะ แต่เป็นการหาฉันทามติ ซึ่งหากตกลงกันไม่ได้ จะให้ตกไปก่อน แล้วจึงนำมาพิจารณาหาฉันทามติใหม่

นอกจากนั้นในที่ประชุม มีการเสนอให้มีการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้น คือ
1.กระจายอำนาจ โดยการถ่ายโอนไปยังชุมชน หลักการคือ การลดอำนาจของรัฐ สนับสนุนหน่วยงานระดับย่อยเพิ่มขึ้น และส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการ 2.ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาค โดยการผลักดันให้เกิดกองทุนสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ
3.สร้างความเข้มแข้งในภาคประชาสังคม ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

นายประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร ประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุมคณะที่ 3 กล่าวว่า มีการพิจารณา 3 วาระ วาระที่ 1 คือ การกำกับดูแลสื่อและการสื่อสารการตลาดของผลิตภัณฑ์ยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ประชุมเห็นว่า สุราและบุหรี่เป็นภัยคุกคายร้ายแรงต่อสุขภาพ จึงปลักดันให้สื่อมวลชนมีส่วนร่วมในการสร้างจริยธรรม พัฒนาองค์ความรู้ รวมถึงร่วมกับภาคีเครือข่ายในการตั้งกฎเกณฑ์กำกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพื่อทำแผนยุทธศาสตร์และผลักดันให้เกิดกลไกที่มีผลบังคับใช้
นอกจากนั้นยังพิจารณาเรื่อง การจัดการอาหารในโรงเรียน ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นที่สนใจอย่างยิ่ง มีการร่วมกันร่างมติจาก 40 หน่วยงานเครือข่าย ทั้งนี้เห็นร่วมกันว่า การสร้างความแข็งแรงต่อสุขภาพร่างกายของนักเรียน ส่งผลโดยตรงต่อความสมบูรณ์ทางสติปัญญาและพัฒนาการของนักเรียน องค์กรปกครองท้องถิ่นจึงควรเข้ามามีส่วนร่วมและสร้างกรอบเงื่อนไขในการสนับสนุนอย่างชัดเจน นอกจากนั้นโครงการนมโรงเรียนต้องมีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง สพฐ. องค์กรปกครองท้องถิ่น และผู้ปกครอง จะต้องร่วมกันผลักดัน

ส่วนการพิจารณาเรื่อง การสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วนเพื่อสุขภาพหนึ่งเดียว คน-สัตว์-สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ ซึ่งสามารถติดต่อจากสัตว์สู่คน ต่อประเด็นนี้ที่ประชุมเห็นว่า ควรมีการสร้างความรู้ความเข้าใจต่อประชาชนในสังคมยิ่งขึ้น โดยเริ่มจากการให้ข้อมูลในสถาบันการศึกษา เพราะน่าจะช่วยสื่อสารไปยังสังคมได้ดีที่สุด

นายเจษฎา มิ่งสรร ประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุมคณะที่ 2 กล่าวว่า จากการติดตามผลการปฏิบัติงานจากรายงานความก้าวหน้าในการติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 10 มติ พบ มีความต่อเนื่องในการปฏิบัติ แม้จะมีบางมติที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ จะถูกนำมาพิจารณาใหม่ จนกว่าจะนำไปปรับใช้ได้จริง ซึ่งเท่าที่ติดตามถือว่ามีความก้าวหน้า ส่วนวาระการจัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมาย ของยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ พบปัจจุบันประชาชนมีความเสี่ยงสูง ที่จะบริโภคผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หากไม่ได้ติดตามข้อมูลข่าวสาร สื่อมีส่วนสำคัญในการให้ข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ รวมถึงตรวจสอบการโฆษณาที่บิดเบือนข้อมูลแก่ผู้บริโภคด้วย นอกจากนั้น การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ร่วมแห่งชาติ ว่าด้วยระบบสุขภาวะชุมชน เน้นการสร้างสุขภาวะไปยังชุมชน จะทำอย่างไรให้ชาวบ้านสามารถสะท้อนปัญหาด้านสุขภาวะที่เผชิญได้มากขึ้น รวมถึงการทบทวนความเหมาะสมในการมี "หมอประจำตัว" เนื่องจากสังคมไทยได้พัฒนาไปมากแล้ว จึงควรมีการบริการแพทย์ที่เข้าถึงประชาชนยิ่งขึ้น ประเด็นนี้อยู่ในการผลักดัน

นพ.สุภกิจ ศิริลักษณ์ ประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุมคณะที่ 1 กล่าวว่า ทำหน้าที่ในการพิจารณาวาระใหม่ 2 วาระ และวาระยังไม่สามารถหาฉันทามติเดิม 1 วาระ

วาระที่ 1 คือ นโยบายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมทางการตลาดต่างๆ เช่น แพคเกจ ลดราคา และของสมนาคุณฯลฯ ต้องพิจารณาบริการเหล่านี้ว่าจำเป็นต่อประชาชนจริงหรือไม่  ในอีกด้านหนึ่งต้องคำนึงถึงบริการตรวจสุขภาพที่จำเป็นต่อประชาชน ซึ่งยังมีคนบางกลุ่มที่ยังไม่สามารถรับบริการ นอกจากนั้นการตรวจสุขภาพ ควรตรวจเพื่อป้องกันการเกิดโรค/สร้างเสริมสุขภาพ แทนการตรวจเพื่อหาโรค เพราะเป็นการปฏิบัติการปลายเหตุ

วาระที่ 2 การตั้งเป้าหมายในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อของประเทศไทย เนื่องจากช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญกับช่วงเปลี่ยนผ่าน คือ ผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้น และการขยายตัวของโรคไม่ติดต่อ เช่น เบาหวาน มะเร็งฯลฯ คิดเป็นร้อยละ 70 ของผู้ป่วยทั้งหมด ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ที่ประชุมจึงร่วมกันสร้างเป้าหมาย เพื่อป้องกันสภาวะดังกล่าว เช่น ควบคุมอัตราการป่วย  อัตราการเสียชีวิต การบริโภคอาหารที่มีรสเค็ม การออกกำลังกาย และการให้คำปรึกษา/บริการสาธารณสุขแก่ประชาชน ประเด็นเหล่านี้จะถูกปรับเป็นเกณฑ์และเป้าหมายต่อไป

วาระที่ 3 การป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ เป็นประเด็นเดิมที่ยังไม่สามารถหาฉันทามติ เนื่องจากข้อเสนอที่ผ่านมา นำไปปฏิบัติจริงได้ยาก ซึ่งการพิจาณาในขณะนี้ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ จึงมีมติให้ตกไป แต่ได้ทำบักทึกต่อ สช. เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปศึกษาและหาข้อมูลเพิ่มเติม แล้วนำมาพิจารณาใหม่ จนว่าจะได้ฉันทามติ