posttoday

ตามรอยธรรม พุทธศาสตร์ จุฬาฯ

17 พฤษภาคม 2557

ทุกเช้าวันพฤหัสบดี บริเวณสระน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใครมีโอกาสผ่านมาย่านนี้

โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์/อภิชชญา โตวิวิชญ์ ภาพ ไม่มีเครดิต

ทุกเช้าวันพฤหัสบดี บริเวณสระน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใครมีโอกาสผ่านมาย่านนี้ จะได้เห็นภาพน่าประทับใจของเหล่านิสิต คณาจารย์ และบุคลากรนับร้อย ที่พร้อมใจมาตักบาตรร่วมกันเป็นประจำทุกสัปดาห์ ทว่านี่เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของชมรมพุทธศาสตร์และประเพณี จุฬาฯ ยังมีกิจกรรมอื่นอีกมาก ที่ทำให้การรวมกลุ่มเหนียวแน่นและยาวนานมากว่า 50 ปี หรือกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว โอ้โห!

วรเมธ มลาศาสตร์ หรือแก๊ป นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานชมรมฯ เล่าว่า ชมรมพุทธศาสตร์และประเพณีดำเนินการภายใต้อุดมการณ์และปณิธานแห่งการให้ รวมทั้งการดำเนินชีวิตภายใต้หลักธรรมที่ดีงาม ปัจจุบันคือทีมงานเหล่านิสิตกว่า 30 ชีวิต ตัวแทนคนรุ่นใหม่ผู้สนใจธรรมะ

สำหรับกิจกรรมของชมรมฯ ทุกวันจันทร์ศุกร์ เวลา 07.00 น. จะร่วมกันสวดมนต์ทำวัตรเช้า ช่วงเย็นมีกิจกรรมทำวัตรเย็น ส่วนทุกเย็นวันพุธ มีกิจกรรมถวายน้ำปานะแด่พระภิกษุสงฆ์อาพาธที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ทุกเช้าวันพฤหัสบดีตักบาตรประจำสัปดาห์ รวมทั้งวันพระหรือวันสำคัญอื่นๆ ครั้งหนึ่งๆ มีผู้เข้าร่วมกว่า 300 คน นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมจิตอาสา เช่น การพัฒนาวัดวาอาราม รับผิดชอบการจัดพิธีไหว้ครูและตักบาตรน้องใหม่ร่วมกับองค์การบริหารสโมสรนิสิต ฯลฯ

ตามรอยธรรม พุทธศาสตร์ จุฬาฯ

 

“ตั้งแต่ปี 2 เราจะจำลองการเป็นผู้นำ โดยให้น้องๆ ลองเป็นหัวหน้าจัดงานต่างๆ ชมรมมีระเบียบปฏิบัติอยู่แล้ว เพียงแต่ปรับเปลี่ยนรายละเอียดให้สอดคล้องกับปัจจุบัน ไม่ต้องคิดงานใหม่ แต่ต้องศึกษาย้อนหลัง และต่อยอดจากสิ่งเดิมที่มีอยู่” แก๊ป เล่า

สิ่งที่ยากคือการทำให้พุทธศาสนาไม่ใช่ยาขมสำหรับคนรุ่นใหม่ โดยวัยรุ่นทุกวันนี้คิดว่าศาสนาเป็นเรื่องไกลตัว ชมรมใช้กุศโลบายเริ่มจากพื้นฐาน นั่นคือ การให้ โดยเชื้อเชิญน้องๆ ให้มาช่วยงานที่ถนัด เช่น น้องบางคนชอบจัดดอกไม้ บางคนชอบพูดชอบเป็นพิธีกร บางคนมีพละกำลังดี ก็เชิญมาช่วยถ่ายบาตร ยกโต๊ะเก้าอี้ (ฮา) ทำลายกรอบที่ว่าพุทธศาสนาคร่ำครึ ยังไม่พูดเรื่องคำสอนหรือหลักธรรม แต่ให้น้องรู้จักจิตอาสาก่อน

ตามรอยธรรม พุทธศาสตร์ จุฬาฯ

 

แก๊ปเองก็เริ่มจากการเป็นอาสาสมัครชมรม ช่วยถ่ายบาตรในงานวันแม่ จากนั้นจึงเข้าร่วมอีกหลายกิจกรรมในเวลาต่อมา ชีวิตก่อนหน้านี้ห่างเหินพุทธศาสนาไปช่วงหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อเข้ามหาวิทยาลัย ชีวิตถึงขั้นว่างเปล่า ตอบตัวเองไม่ได้ในหลายเรื่อง จึงแสวงหากิจกรรมที่จะทำให้เข้าใจชีวิตมากขึ้น ในที่สุดก็พบชมรมพุทธฯ ได้พบความเรียบง่ายที่นำมาซึ่งความสุข

สราวรรณ ติยโรจน์เวคิน หรือลิลลี่ นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะนิเทศศาสตร์ เล่าว่า ได้เข้าร่วมกิจกรรมตักบาตรประจำสัปดาห์ตั้งแต่อยู่ปี 2 การใส่บาตรตอนเช้าทำให้จิตใจสงบ โดยเฉพาะการสวดมนต์หรือรับพรพระ กิจกรรมของชมรมเป็นสิ่งที่ดี ทำให้รู้สึกดีที่มีโอกาสได้สละของที่เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่น วิถีชีวิตปัจจุบันทำให้ไม่สะดวกในการตักบาตรแถวบ้าน ก็สามารถมาทำที่มหาวิทยาลัยได้

ตามรอยธรรม พุทธศาสตร์ จุฬาฯ

 

ตบท้ายด้วยแก๊ป ที่บอกว่า อยากให้สมาชิกได้รู้ถึงเป้าหมายที่แท้จริงของการเกิดเป็นมนุษย์ การเรียนตอบโจทย์ชีวิตไม่ได้ทั้งหมด แต่พุทธศาสนาจะทำให้เราได้คำตอบ เป้าหมายสูงสุด คือ การสร้างสรรค์สังคมแห่งการให้ อย่างน้อยก็สังคมภายในรั้วมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ยิ่งไปกว่านั้น คือ การนำชมรมไปสู่ความเป็นสากล อย่างการตักบาตร ที่ไม่ใช่การตักบาตรพระแต่เพียงอย่างเดียว หากมีการตักบาตรในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งศาสนาอื่นก็มาร่วมได้ เช่น การสละข้าวของเครื่องใช้แก่เด็กกำพร้าหรือผู้ด้อยโอกาส เป็นต้น

ก็หวังว่าปณิธานนี้จะเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ที่เปลี่ยนแปลงสังคมให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น ผู้สนใจกิจกรรมชมรมพุทธฯ สามารถเข้าร่วมหรืออย่างน้อยก็มาตักบาตรด้วยกัน http://cubs072.blogspot.com หรือ www.facebook.com/cubsfanpage

ตามรอยธรรม พุทธศาสตร์ จุฬาฯ