posttoday

นักวิชาการเตือนจับตารอยเลื่อนเฝ้าระวังดินไหว

07 พฤษภาคม 2557

นักวิชาการเตือนจับตาทุกรอยเลื่อนเพื่อเฝ้าระวังแผ่นดินไหว ชี้ เหตุที่เชียงรายเป็นการพลิกตำราเพราะเกิดจากรอยเลื่อนนอกสายตาที่ไม่คิดว่าจะเกิดเหตุ

นักวิชาการเตือนจับตาทุกรอยเลื่อนเพื่อเฝ้าระวังแผ่นดินไหว ชี้ เหตุที่เชียงรายเป็นการพลิกตำราเพราะเกิดจากรอยเลื่อนนอกสายตาที่ไม่คิดว่าจะเกิดเหตุ

นายปัญญา  จารุศิริ อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา และหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยธรณีวิทยาแผ่นดินไหว คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศไทยช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะ 6.3 ริกเตอร์ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ อ.พาน จ.เชียงราย  เป็นการพลิกตำราด้านธรณีวิทยาแผ่นดินไหว

ทั้งนี้ รอยเลื่อนพะเยาที่เรียกได้ว่าเป็นรอยเลื่อนนอกสายตาของนักธรณีวิทยา ไม่คาดคิดว่าจะเป็นสาเหตุให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นได้

นายปัญญา กล่าวว่า ในอนาคต กลุ่มนักธรณีวิทยาควรให้ความสนใจและเฝ้าระวัง โอกาสเกิดแผ่นดินใหญ่ตามที่คาดการณ์น่าจะเกิดที่ รอยเลื่อนแม่จัน ซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่อยู่ใกล้กับรอยเลื่อนมีพลังขนาดใหญ่ในประเทศพม่า เช่น รอยเลื่อนน้ำมา และรอยเลื่อนมีพลังที่วางตัวแนวเดียวกันในประเทศลาว ซึ่งรอยเลื่อนทั้งสองเคยทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ มาแล้วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี เนื่องจากความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีในการตรวจวัดในปัจจุบัน ยังไม่สามารถชี้ชัดหรือคาดการณ์หรือสามารถบอกเรื่องแผ่นดินไหวล่วงหน้าได้ การเฝ้าระวังล่วงหน้าจึงเป็นเรื่องการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงที่อาจจะเกิดหรือไม่เกิดแผ่นไหวขึ้นเลยเท่านั้น

"จากงานวิจัยที่ผ่านมา พบว่ารอยเลื่อนพะเยาในอดีตเคยเกิดแผ่นดินไหว  คำนวณได้ประมาณ  5 - 5.6   ริกเตอร์ ประกอบกับรอยเลื่อนดังกล่าวเป็นรอยเลื่อนบนหินแข็ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรอยเลื่อนตามลำน้ำ แม่ลาว ด้วยเหตุผลในเบื้องต้นดังกล่าว ทำให้นักวิชาการไม่ได้เฝ้าสังเกตมากนัก เพราะรอยเลื่อนมีพลัง ส่วนใหญ่จะเกิดในตะกอนหรือหินตะกอนที่มีอายุน้อยๆ มากกว่า"นายปัญญากล่าว

นายปัญญากล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังในขณะนี้คือรอยเลื่อนที่อยู่ใกล้เคียงหรืออยู่แนวเดียวกันกับรอยเลื่อนพะเยาที่จะมีการปรับตัวของดินใต้แผ่นเปลือกโลก และยังต้องกลับไปดูรอยเลื่อนนอกสายตาอื่นๆ อีกด้วย จากเหตุการณ์ดังกล่าวนับเป็นข้อมูลใหม่อีกด้านที่เกิดขึ้น พร้อมๆ กับการติดตามความเสียหายว่าเกิดขึ้นในพื้นที่วงกว้างเพียงใด ทั้งในประเทศไทย ประเทศพม่า และ ประเทศลาว ที่สำคัญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเฝ้าระวังรอยเลื่อนแม่จัน เนื่องจากรอยเลื่อนนี้ถึงรอบของการไหวหรือคาบอุบัติซ้ำ สุดท้ายแม้ว่าเราจะไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นเมื่อใดอย่างแม่นยำ แต่เราสามารถเก็บสถิติของเหตุการณ์เพื่อนำไปสู่งานวิจัย และเฝ้าระวังต่อไปเพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด

ด้าน นายปณิธาน  ลักคุณะประสิทธิ์  ที่ปรึกษาศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหว คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าสำหรับสถานการณ์แผ่นดินไหวในเวลานี้  หน่วยงานราชการที่รับผิดชอบ ต้องทำการสำรวจโครงสร้างพื้นฐาน เสริมความมั่นคงแข็งแรงของอาคารชั่วคราวเท่าที่จะทำได้โดยเร่งด่วน  ควรเตรียมรถดับเพลิงไว้ให้พร้อม สำรวจระบบโทรคมนาคม ไฟฟ้าฉุกเฉิน จัดที่พักชั่วคราวโดยด่วน พร้อมรถสุขาชั่วคราว ในระยะยาวจะต้องเสริมความมั่นคงแข็งแรงของสิ่งก่อสร้าง  จัดมาตรการจูงใจให้ประชาชนในการเสริมความแข็งแรงของอาคาร ในส่วนของประชาชน ในเบื้องต้นต้องสังเกตความเสียหายของโครงสร้างอาคาร และให้วิศวกรประเมินเสริมความแข็งแรงของอาคารในระยะยาว 

ทั้งนี้ในส่วนของมหาวิทยาลัย จะต้องจัดทำแผนปฏิบัติการรับมือแผ่นดินไหวในระดับจังหวัด โดยร่วมมือกับหน่วยงานราชการต่างๆ

นาย สุพจน์ เตชวรสินสกุล ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ  กล่าวว่า  ถึงแม้จะเป็นแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นจะเป็นขนาดกลาง แต่แรงสั่นสะเทือนสามารถก่อให้เกิดการเคลื่อนตัวของดินในระดับสูง ในอัตราเร่งสูงกว่า 15% ของค่าจี  ซึ่งอัตราการสั่นไหวของพื้นดินในระดับนี้ สามารถก่อความเสียหายให้แก่โครงสร้างทางวิศวกรรมได้ค่อนข้างหลากหลาย อาทิ  โครงสร้างประเภทอิฐรับแรง (โบราณสถาน เจดีย์ และวัด) กำแพงอิฐที่ก่อไม่ได้ตาม มาตรฐาน เป็นต้น นอกจากนี้แรงสั่นสะเทือนยังมีความรุนแรงเพียงพอที่จะกระตุ้นให้เกิดปรากฎการณ์    ทรายเหลวในชั้นดินทราย ซึ่งส่งผลให้เกิดการพังทลายของลาดดิน และคันทางต่างๆ ได้

นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการ สำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้รับรายงานจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว โดยมีโรงเรียนที่เสียหายอย่างหนักเป็นจำนวนมากเรียงจากความเสียหายมากไปหาความเสียหายน้อย ได้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) 36 (เชียงราย-พะเยา) จำนวน 14 โรงเรียน โดยความเสียหายเกิดกับอาคารเรียน อาคารประกอบ จำนวน 28 หลัง ส่วนใหญ่เกิดจากโครงสร้างแตกร้าว ปูนพื้นผนังอาคารแตกร้าว อาคารห้องสมุด ห้องน้ำ หลังคา แตกร้าวเสียหาย พื้นดินเกิดการทรุดตัว ถนน รั้ว โรงเรียนพังทลาย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 2  มีความเสียหาย 22 โรงเรียน อาคารเรียน อาคารประกอบได้รับความเสียหาย 34 หลัง โครงสร้างอาคารมีรอยแตกร้าว ปูนกะเทาะ กระเบื้องหลังคาแตกร้าว หลุดร่วง ฝ้าเพดานวงกบประตูหน้าต่างชำรุดเสียหาย

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 4  จำนวน 8 โรงเรียน มีอาคารเรียนอาคารประกอบ จำนวน 17 หลัง ได้รับความเสียหาย ตัวอาคารมีปูนกะเทาะแตกร้าว หอพักครูชาย-หญิง อาคารพักนอนนักเรียนชาย-หญิง ห้องสมุดห้องน้ำชำรุดเสียหาย กระเบื้องหลังคาแตกหลุดล่วง  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 1 จำนวน 5 โรงเรียน มีอาคารเรียน อาคารประกอบจำนวน 13 หลัง ได้รับความเสียหายโครงสร้างมีรอยแตกร้าว และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3  ได้รับความเสียหาย 6 โรงเรียน โดยมีอาคารเรียน อาคารประกอบ จำนวน 8 หลัง โครงสร้างอาคารมีรอยแตกร้าว พื้นดินบริเวณโรงเรียนทรุดตัว โรงเรียนที่เสียหายอย่างหนักส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาเนื่องจากเป็นอาคารเรียนขนาดใหญ่ ความเสียหายเบื้องต้น คาดว่าไม่ต่ำกว่า 150 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สพฐ. ได้ส่งวิศวกรของ ออกไปสำรวจความเสียหายในส่วนของโครงสร้างเพื่อไม่ให้เกิดอันตราย หากจะต้องใช้อาคารในการจัดการเรียนการสอน เนื่องจากขณะนี้ใกล้เปิดภาคเรียนแล้ว ตลอดจนการจัดทำประมาณการค่าเสียหายในส่วนที่ซ่อมแซมได้ เพื่อ สพฐ. จะได้จัดสรรงบประมาณไปใช้ในการซ่อมแซมเป็นการด่วนต่อไป