posttoday

พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ สร้างเครือข่ายจิตสาธารณะ

03 พฤษภาคม 2557

เพื่อสืบสานและถ่ายทอดความรู้ทางวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

โดย...วราภรณ์

เพื่อสืบสานและถ่ายทอดความรู้ทางวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จึงเชิญชวนบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจงานด้านพิพิธภัณฑ์ผ้า เข้าร่วมอบรมอาสาสมัครบริการวิชาการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ด้านงานอนุรักษ์ผ้าไทย รวมถึงวัฒนธรรมการแต่งกายของคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ปิยะวรา ทีขะระ เนตรน้อย หัวหน้าโครงการพิพิธภัณฑ์ผ้า เล่าว่า กิจกรรมนี้ทำขึ้นเพื่อชักชวนบุคคลภายนอกได้เข้ามามีส่วนร่วมกับพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ และได้เข้าใจถึงพันธกิจหลัก รวมถึงเรียนรู้วิธีการทำงานด้านต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ โดยรุ่นแรกมีอาสาสมัครเข้าฝึกอบรมแล้ว 22 คน ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมจะได้ทั้งเกียรติบัตรและบัตรประจำตัวอาสาสมัคร เพื่อในอนาคตอาสาสมัครเหล่านี้จะได้ให้ความรู้แก่ผู้ที่มาเข้าชมพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ซึ่งพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เป็นสถานที่ที่ให้ความรู้ด้านการส่งเสริมและอนุรักษ์ผ้าไทย ทั้งยังเป็นศูนย์กลางการเก็บรักษาและจัดแสดงผ้าประเภทต่างๆ ซึ่งเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติ รวมทั้งจัดแสดงฉลองพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงนำความเป็นไทยออกสู่สากล และก่อให้เกิดรายได้กลับมาสู่ผู้ผลิตในประเทศ

พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ สร้างเครือข่ายจิตสาธารณะ

 

“การอบรมอาสาสมัครบริการวิชาการครั้งนี้จะทำให้บุคคลภายนอกที่มีความสนใจและใฝ่รู้เรื่องผ้าไทย ได้เข้ามาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม และได้ทำความเข้าใจในเนื้อหาที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ มากยิ่งขึ้น” ปิยะวรา กล่าว

สำหรับบุคคลทั่วไปที่อยากเข้าฝึกอบรมและมีจิตอาสาในการช่วยกันอนุรักษ์ผ้าไทย คือ ต้องมีคุณสมบัติเอาใจใส่ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญมาก เนื่องจากงานในด้านนี้ต้องทำด้วยใจรักและความสนใจจริงๆ ในส่วนรายละเอียดอื่นๆ คือ น้ำเสียงต้องดังฟังชัด รวมทั้งการใช้คำราชาศัพท์ และคำพูดต่างๆ ให้ถูกต้องและสุภาพ เช่น การเรียกพระนามของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ หรือการแทนพระองค์ท่าน ก็ต้องใช้หลักภาษาไทยให้ถูกต้องด้วย นอกจากนี้ ในการนำชม ข้อมูลต้องแม่นยำ ถูกต้อง และไม่เสริมเติมแต่งเรื่องราว รวมทั้งเรื่องบุคลิกและการวางท่าทางในการนำชมต่างๆ เช่น ขณะบรรยายควรประสานตากับผู้เข้าชม และต้องสำรวมกริยาตามมารยาทในการชมพิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ สร้างเครือข่ายจิตสาธารณะ

 

ตลอดการฝึกอบรมรุ่นที่หนึ่งจำนวน 22 คน พบว่า เยาวชนไทยมีจิตสาธารณะที่ดีมากๆ ต่างก็ตั้งใจฟัง มีการตั้งคำถาม สนใจในทุกรายละเอียด นอกจากนี้ ยังได้เห็นพัฒนาการของผู้เข้าอบรมหลายคนที่ไม่เคยมีความรู้ด้านผ้ามาก่อน มีตั้งแต่ วิศวกร นักบัญชี นักศึกษา ฯลฯ แต่ก็สามารถนำชมและให้รายละเอียดในห้องจัดแสดงเบื้องต้นได้ ใช้ระยะเวลาในการอบรมเพียง 3 สัปดาห์เท่านั้น โดยผู้ที่ผ่านการอบรมครั้งนี้จะกลายเป็นกระบอกเสียงสำคัญที่จะทำให้การอบรมอาสาสมัครฯ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งตัวเองที่ได้รับประสบการณ์ และความรู้เกี่ยวกับผ้าไทยอย่างลึกซึ้ง และยังส่งผลต่อส่วนรวม คือ ประเทศชาติ ซึ่งพวกเขาจะเป็นกระบอกเสียงว่ามีสมบัติของชาติอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เพื่อให้คนไทยได้มาชื่นชมและสนับสนุน รวมทั้งช่วยกันอนุรักษ์และสืบสานให้ผ้าไทยคงอยู่ต่อไป

ด้านอาสาสมัครบริการวิชาการรุ่นแรก นที แก้วคำอ้าย เจ้าหน้าที่ห้องสมุด มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด หัวหิน ที่สนใจและศึกษาเกี่ยวกับผ้าไทย ผ้าไหม และผ้าพื้นบ้าน ความรู้ต่างๆ มาจากการที่เขาได้ทำงานวิจัยร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันวิจัยพัฒนาพื้นที่สูง ทำให้เขาได้คุ้นเคยกับการทอผ้าของชาวเขา

“ส่วนตัวผมมีความสนใจในเรื่องการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ เนื่องจากมีเพื่อนคนหนึ่งเป็นนักสะสมผ้าทอ มีทั้งผ้าของชาวล้านนา ลาว พม่า และเขาตั้งใจจะทำพิพิธภัณฑ์ผ้าพื้นบ้านที่เชียงใหม่ ดังนั้น การที่ได้มาเรียนรู้ที่นี่จึงทำให้ได้เรียนรู้ขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ การจัดเก็บ การจัดแสดง และการเผยแพร่ความรู้ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ ซึ่งได้รับความรู้ที่เป็นประโยชน์มากในการนำไปต่อยอด เพื่อก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ในอนาคต นที กล่าวถึงเสน่ห์ของผ้าไทยที่ทำให้ชื่นชอบ และมุ่งเผยแพร่ให้สาธารณชนได้เห็นคุณค่า เป็นเรื่องของความมหัศจรรย์ในการออกแบบลวดลาย ที่ไม่น่าจะมีชาติใดในโลกเก่งกาจเท่าคนไทย ทั้งการออกแบบลวดลายได้วิจิตรสวยงาม รวมทั้งขั้นตอนต่างๆ ในการทอผ้าที่ล้วนเป็นงานฝีมือที่ประณีตบรรจงทั้งสิ้น ซึ่งชาวต่างชาติที่ได้สัมผัสต่างก็ทึ่งในรูปแบบและความสามารถในการออกแบบลวดลายที่มีความพิเศษมากในฉลองพระองค์ทุกองค์ ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ผ้าไทยถือเป็นเครื่องบ่งบอกเอกลักษณ์ความเป็นไทย และเป็นสิ่งที่สวยงามมีคุณค่า ผ้าไทยในแต่ละภาคล้วนมีคุณค่าและเอกลักษณ์ของตัวเอง รวมทั้งมีความพิเศษเฉพาะตัวอยู่แล้ว ดังนั้น เราต้องช่วยกันอนุรักษ์”

พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ สร้างเครือข่ายจิตสาธารณะ

 

พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ขอเชิญชวนเยาวชนอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป หรือบุคคลทั่วไปที่มีใจรักงานบริการ และมีความสนใจงานด้านพิพิธภัณฑ์ เข้าร่วมอบรมอาสาสมัครบริการวิชาการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้เข้ารับการอบรมกับเจ้าหน้าที่ของทางพิพิธภัณฑ์ ในเรื่องพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยเฉพาะด้านการฟื้นฟูและอนุรักษ์ผ้าไทย และเนื้อหานิทรรศการภายในห้องจัดแสดง ทั้งส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับงานพิพิธภัณฑ์ในด้านต่างๆ เพื่อเป็นการสร้างกลุ่มอาสาสมัครเครือข่ายการมีส่วนร่วมทางการศึกษาและจิตสาธารณะ ในการเผยแพร่และส่งเสริมการสืบทอดความรู้ทางวัฒนธรรมให้แก่ผู้อื่นสืบไป

ระยะเวลาในการฝึกอบรมราว 4 วันเท่านั้น ตั้งแต่เวลา 13.00-15.00 น. อบรมที่พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ รับรุ่นละ 20 คนเท่านั้น รุ่นที่ 2 จะเปิดรับอาสาสมัครเร็วๆ นี้ ติดต่อสำรองที่นั่งได้ที่ 02-225-9420 หรือ 02-225-9430 ต่อ 0 หรือ 245 ได้ทุกวัน หรือติดต่อผ่านอีเมล : [email protected] หรือฝากข้อความทางเฟซบุ๊ก Facebook : Queen Sirikit Museum of Textiles