posttoday

เบื้องหลังการทำทาน ทำดีบุญได้บาป???

29 เมษายน 2557

หากมองเข้าไปในแววตาที่หม่นเศร้า เมื่อได้เห็นริมฝีปากของเด็กสาววัยเยาว์ที่แห้งผากบนใบหน้าที่ไร้ริ้วรอยแห่งความฝัน

โดย...พงศ์ พริบไหว ภาพ มูลนิธิกระจกเงา&<2288;

หากมองเข้าไปในแววตาที่หม่นเศร้า เมื่อได้เห็นริมฝีปากของเด็กสาววัยเยาว์ที่แห้งผากบนใบหน้าที่ไร้ริ้วรอยแห่งความฝัน คงไม่ผิดหากจะเข้าใจสิ่งที่เห็นเบื้องหน้าเป็นความสงสาร และยื่นเงินให้ในทันทีเพราะหวังช่วยบรรเทาความน่าสงสารของเด็กน้อย แต่หากมองในอีกมิติเงินที่หลายชีวิตหยิบยื่นไป แท้จริงแล้วสามารถทำร้ายเด็กที่นั่งอยู่สองข้างถนน และจะเป็นเช่นนั้นต่อไป ต่อไป มิรู้จบ...

เมื่อไม่นานมานี้ เว็บไซต์ชื่อดังอย่างพันทิปได้ตั้งคำถามถึงความถูกต้องเหมาะสมของโฆษณาตัวหนึ่ง ที่นำเรื่องราวเด็กขอทานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเรื่อง ถึงแม้ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในแง่ของความตั้งใจที่จะสื่อสารออกมานั้น ทำได้ดีจนมีเสียงชื่นชมชื่นชอบ แต่ก็ยังมีหลายเสียงต้องการให้ตัดประเด็นของการให้ทานเด็กออกไป เพราะมองว่าเป็นเรื่องส่งเสริมการ “ทำบุญบาป” ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงกระบวนการค้ามนุษย์อันซับซ้อน ที่เป็นเรื่องราวหม่นเทาในสังคมไทย

เบื้องหลังการทำทาน ทำดีบุญได้บาป???

 

เบื้องหลังความดีงามของการทำทานให้กับเด็กนั้น มีหลายสิ่งที่คนในสังคมควรจะรับรู้ โดยภายหลังจากการดำเนินงานของศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ “มูลนิธิกระจกเงา” ที่มี “บอม-วิธนะพัฒน์ รัตนาวลีพงษ์” หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน เข้ามาขับเคลื่อนดูแลในเรื่องนี้ ทางโครงการเองได้เก็บข้อมูลและสามารถเปิดโปงกระบวนการที่เรียกว่าธุรกิจเด็กขอทาน และจากการสืบค้นตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ข้อมูลที่จะได้รับรู้กันนั้นล้วนมาจากการทำงานที่ต่อเนื่องในเรื่องของขอทานเด็กมาตลอด 10 ปี ซึ่งอาจเป็นอีกข้อมูลที่ทำให้ผู้อ่านสัมผัสถึงกระบวนการธุรกิจที่เรียกว่าขอทานเด็ก และเห็นมุมมืดในธุรกิจบาปนี้ได้อย่างชัดเจนขึ้น

ย้อนไปประมาณเกือบ 10 ปีที่แล้ว ปัญหาเด็กขอทานได้ถูกขมวดมาเป็นอีกหนึ่งการทำงานภายใต้ “มูลนิธิกระจกเงา” เพราะกรณีเด็กหายที่มีพ่อแม่ของเด็กมาแจ้ง และเมื่อทีมงานลงพื้นที่ ก็พบว่า เด็กถูกลักพาตัวไปและถูกบังคับให้เป็นขอทาน นั่นเองเป็นจุดเริ่มที่ทำให้ “มูลนิธิกระจกเงา” ทำงานในเรื่องขอทานเด็ก และเห็นว่า กรณีเด็กขอทานทั้งหมดไม่ใช่การสมัครใจ แต่เป็นปัญหาสังคมชนิดหนึ่ง ที่กำลังเติบโตเป็นธุรกิจที่ว่ากันว่าสร้างรายได้ให้มากมาย จนกลายเป็นกระบวนการค้ามนุษย์ไปแล้ว

เบื้องหลังการทำทาน ทำดีบุญได้บาป???

 

“ปัญหาการค้ามนุษย์ในบ้านเรา จากการที่ผมลงพื้นที่สำรวจมาหลายปี รับรู้เลยว่ามีขอทานเด็กมากมายกระจายอยู่ทั่วประเทศ แล้วเด็กที่ตกเป็นเหยื่อ 80% เป็นเด็กที่มาจากประเทศกัมพูชา โดยที่นายหน้าค้ามนุษย์ใช้วิธีการซื้อขายหรือเช่าเด็ก จากครอบครัวที่มีความยากจนตามแนวชายแดนมาทำงาน อีกทั้งคนไทยมีค่านิยมที่ชอบให้เงินเด็ก จึงทำให้การนำเด็กมาขอทานนั้นเป็นงานที่มีรายได้ดีมาก ชาวบ้านจึงยอมที่จะขายหรือไม่ก็ให้เช่าเด็กมาเพื่อทำงานนี้โดยเฉพาะ

นอกจากนี้ ยังมีข่าวการจับกุมผู้หญิงชาวพม่าคนหนึ่งที่ จ.เชียงใหม่ โดยผู้หญิงคนดังกล่าวได้เช่าเด็กทารกคนหนึ่งจากครอบครัวที่มีความยากจนในประเทศพม่า ราคา 1.5 หมื่นบาท โดยมีกำหนดระยะเวลาในการเช่าเด็ก 3 เดือน หากเราเห็นผู้หญิงอุ้มเด็กมาขอทานเกือบทุกคนไม่ใช่พ่อแม่กันจริงๆ และอีกอย่างที่ผมพบในการทำงาน คือ เด็กที่มานั่งขอทานหนึ่งคนรายได้เฉลี่ย 3001,000 บาท บางคนมากกว่านั้นด้วยซ้ำ อย่างที่ผมเจอเยอะสุด ขอทานเด็กคนหนึ่งมีรายได้ถึงวันละ 3,500 บาท เด็กขอทานโดยมากจะมีอายุใช้งานได้ตั้งแต่แรกเกิดถึง 12 ปี เพราะความน่าสงสารของเด็ก ถ้าอายุเกินกว่านั้นจะไม่น่าสงสารคนให้เงินน้อยลง

เบื้องหลังการทำทาน ทำดีบุญได้บาป???

 

เมื่ออายุเกินจากนั้นนายหน้าก็จะเปลี่ยนเด็กไปทำอย่างอื่น เช่น ขายพวงมาลัย ขายดอกไม้ สินค้าราคาถูก และยืนถือกล่อง ซึ่งแน่นอนว่าระยะเวลาที่เด็กอยู่ข้างถนน พวกเขาไม่มีทางได้รับการศึกษา ถ้าพวกเขาโตไปเขาก็ไม่รู้ว่าจะต้องไปทำอะไรต่อ เขาก็จะหันตัวเองไปเป็นนายหน้าค้ามนุษย์ในการซื้อขายเด็กเข้ามาในประเทศ หรือบางคนก็โตก้าวเข้าไปสู่วงการค้าประเวณี ไม่ก็ค้ายาเสพติด เพียงเพราะว่าสามารถหารายได้ให้กับเขาได้มาก และมันก็จะกลายเป็นปัญหาสังคมเรื่องอื่นๆ ต่อยอดไปอีก”

อีกหนึ่งปัญหาที่พบบ่อยในเรื่องของธุรกิจขอทานเด็ก คือ การที่เด็กถูกแสวงหาผลประโยชน์จากคนในครอบครัวเอง ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก ตัวอย่างที่ทาง “มูลนิธิกระจกเงา” ได้เข้าไปพบเจอและเข้าไปช่วยเหลือ ได้แก่ เด็กขอทานในย่านถนนพระอาทิตย์ กรณีดังกล่าวนั้นมีเด็กที่ถูกบังคับมาขอทาน จำนวน 3 คน เด็กจะถูกบังคับให้หาเงินให้ได้วันละ 400 บาท หากทำรายได้ไม่ครบตามที่พ่อแม่ของเด็กกำหนดไว้ ก็จะถูกทุบตีทำร้ายร่างกาย โดยสาเหตุมาจากการที่พ่อแม่เด็กติดยาเสพติด จึงเลือกใช้ลูกเป็นเครื่องมือในการหาเงิน ตามข้อมูลและการลงพื้นที่ช่วยเหลือ พบว่า มีหลายครอบครัวที่มีทัศนคติว่าการนำลูกมาขอทานเป็นอาชีพหนึ่ง นั่นทำให้พบปัญหานี้ในเมืองไทยหลายต่อหลายครั้ง

เบื้องหลังการทำทาน ทำดีบุญได้บาป???

 

กรณีสุดท้ายที่ วิธนะพัฒน์ พบมากในธุรกิจขอทานเด็ก คือ ปัญหาเด็กที่อพยพมากับแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเขาเล่าให้ฟังว่า เนื่องจากประเทศไทยมีการนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก ทั้งจากประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา ซึ่งแรงงานข้ามชาติบางกลุ่มใช้วิธีการลักลอบเข้าสู่ประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย เพื่อมาประกอบอาชีพต่างๆ ซึ่งย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองในเรื่องสิทธิ กลุ่มแรงงานเหล่านี้จึงมักถูกนายจ้างให้ค่าตอบแทนอย่างไม่เป็นธรรม และทำให้เกิดความยากลำบากในการใช้ชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลกระทบมาถึงบุตรหลานของแรงงานอพยพที่ต้องจำยอมก้าวสู่ธุรกิจขอทาน

กรณีทั้งหมดที่ว่ามา เป็นข้อมูลที่ทางมูลนิธิได้รับจากการสัมภาษณ์เด็กและครอบครัวที่เคยมาขอทานในกรุงเทพมหานคร ผู้นำชุมชน รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ อีกทั้งจากการลงพื้นที่เพื่อหาทางออกให้กับปัญหา จึงทำให้ได้ทราบถึงการเคลื่อนย้ายเด็กในรูปแบบขบวนการ ที่มีวิธีการชักจูง ล่อลวง และการนำพาเด็ก เข้าสู่วงจรขอทาน แต่ถึงกระนั้นก็ยังพบว่ามีการขอทานในลักษณะจำยอมหรือสมัครใจอยู่บ้าง กรณีที่พบมาก คือ เด็กกำพร้าที่ต้องออกมาเร่ร่อนใช้ชีวิต

หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน บอกว่า เมื่อเห็นโฆษณาชิ้นดังกล่าวออกมาแล้ว ทางมูลนิธิไม่เห็นด้วย ก็กลายเป็นว่า ทำไมจึงเพิ่งมาพูดเรื่องขอทานเด็กตอนนี้ “จริงๆ เราพูดเรื่องนี้มานานหลายปีแล้ว แต่คนส่วนใหญ่เขาไม่รับรู้”

เบื้องหลังการทำทาน ทำดีบุญได้บาป???

 

ปัญหาเด็กขอทานก็เป็นปัญหาสังคมอย่างหนึ่ง เมื่อมีคนมองก็จะรู้สึกว่าต้องมีคนรับผิดชอบ แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้มองว่าเป็นสิ่งที่เขาต้องร่วมรับผิดชอบ

“จริงๆ แล้ว ผมว่าปัญหาเรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่คนในสังคมควรร่วมมือกัน ไม่ใช่ไปโต้แย้งหรือบอกว่าเป็นหน้าที่ใคร เราอาจพูดแบบนั้นได้ก็จริง แต่เราอย่าลืมว่าปัญหานี้กระจายตัวกันอยู่ทั่วประเทศ ฉะนั้นคนในสังคมเราต้องเข้ามามีส่วนร่วม และวิธีการที่ง่ายที่สุด คือ คุณหยุดให้เงิน (ขอทาน) กันก่อน แล้วเปลี่ยนเป็นการแจ้งเบาะแสมายังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และยิ่งหน่วยงานภาครัฐถูกกระตุ้นเท่าไร เขาเองก็ไม่อาจอยู่นิ่งเฉย เขาจะตระหนักได้เองถึงปัญหาขอทานเด็กได้

คือ เราต้องไม่ยอมรับก่อนนะว่า การที่เด็กมานั่งขอทานอยู่ข้างถนนเป็นสิ่งที่ชอบธรรม เพราะว่าหากเราให้เงินใคร เราไม่รู้และไม่มีเด็กคนไหนกล้าบอกหรอกว่า เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ เขาจะบอกแต่ว่าเขาสมัครใจมาขอทาน แต่สำหรับผมเองคิดว่าเด็กทุกคนไม่ควรอยู่ข้างถนน ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม แน่นอนเราเข้าใจแหละว่าเด็กบางคนเร่ร่อนเพราะว่าเป็นเด็กกำพร้านั้นมีจริงและขอทานประทังชีวิต แต่เราก็ควรเข้าไปผลักดันการคุ้มครองเด็กจากภาครัฐ เพราะว่าถ้าเรายังยอมให้มีการเอาเด็กมาขอทาน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แน่นอนเราย่อมแก้ปัญหานี้ไม่ได้”

ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2551 โดยมีภารกิจในการต่อต้านและขจัดการค้ามนุษย์ในทุกรูปแบบ รวมไปถึง “โครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน” โดยมีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์รับแจ้ง ประสานเหตุ และสืบสวนปราบปรามกรณีการค้ามนุษย์

เบื้องหลังการทำทาน ทำดีบุญได้บาป???