posttoday

การเมืองแตกแยกกระทบการพัฒนาชุมชน

25 เมษายน 2557

เวทีเสวนาชี้ ความขัดแย้งทางการเมืองซึมลึก ผู้นำชุมชนแบ่งฝ่ายหวาดระแวงกันเองจนส่งผลต่อการพัฒนาชุมชน

เวทีเสวนาชี้ ความขัดแย้งทางการเมืองซึมลึก ผู้นำชุมชนแบ่งฝ่ายหวาดระแวงกันเองจนส่งผลต่อการพัฒนาชุมชน

เวลา 09.30 น. วันที่ 25 เม.ย. ภาคีพัฒนาประเทศ จัดเวทีเสวนาเรื่อง “ฟื้นฟูคุณธรรม ปฏิรูปสังคม : ภารกิจภาคพลเมืองภายหลังความขัดแย้ง” เพื่อประเมินความเสียหายด้านคุณธรรมสังคมจากความขัดแย้งทางการเมือง แยกย่อยเป็นรายภูมิภาค

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กล่าวว่า คาดว่ามีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างส่วนกลางในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะมีคนทั้งที่สมหวังและผิดหวัง  ประชาชนและชุมนุมทั่วประเทศอาจจะมีทั้งพอใจและไม่พอใจต่อการเปลี่ยนแปลง ย่อมมีการแตกแยก แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย จึงต้องมีการฟื้นฟู เยียวยากันและกัน

นายสาคร สงมา องค์กรพัฒนาเอกชน จ.พิษณุโลก ตัวแทนจากภาคเหนือ กล่าวว่า ครั้งนี้ทำให้มองเห็นตัวตนของความขัดแย้งระหว่างผู้คุมอำนาจจัดสรรทรัพยากรกับประชาชนมากขึ้น ที่ผ่านมาเป็นความขัดแย้งทางความคิดที่เห็นไม่ชัด แต่ตั้งแต่ปี 2549 ความขัดแย้งเกิดขึ้นทุกพื้นที่มาจากการเมืองที่มีความเชื่อที่แตกต่างกัน ซึมลึกลงไปในแต่ละคน โดยพื้นที่ภาคเหนือตอนบนมีความขัดแย้งไม่มากนัก เนื่องจากมีคนค้านเพียงเล็กน้อย เป็นคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีการทักทวงอย่างตรงไปตรงมาจนมีคนตาย เป็นความขัดแย้งทางความคิดของกลุ่มนักวิเคราะห์ นักวิชาการที่มีความคิดแตกต่างกันมาก ไม่ได้ทะเลาะแต่คบกันไม่สนิท

ขณะที่ภาคเหนือตอนล่างลงมานั้น พิษณุโลก มีกองกำลังพอๆ กัน แต่ยังมีฐานคิดว่าไม่อยากให้พี่น้องประชาชนมาปะทะกันจนตาย มีความขัดแย้งกันสูงมากระหว่างคนเมืองกับกลุ่มชาวนา นอกจากนี้ยังเห็นภาพความระแวงกันภายในชุมชน มีการระแวงว่าคนที่เข้ามาเคยจะขึ้นเวทีไหนบ้างหรือไม่ จนเกิดความไม่ยอมรับหากมีการเลือกข้างแล้ว ทำให้ทำงานยากขึ้น

"กลุ่มแกนนำของจังหวัดที่มีความเชื่อแบบเดียวและเชื่ออย่างจริงจัง ทำให้เกิดการปะทะกันวาจา และร้ายแรงจนกระทั่งอาจจะมีการฆ่ากัน ผลที่เกิดขึ้นคือความหวาดระแวงกันในชุมชนสูงมาก กิจกรรมในชุมชนมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย คนในชุมชนที่ไม่อยากเลือกฝ่าย ไม่อยากสนใจความขัดแย้งของผู้นำชุมชนก็เบื่อหน่ายอ่อนล้า ส่งผลต่อการทำงานในชุมชน"

สาคร กล่าวว่า ที่สำคัญที่สุดจะอยู่กันอย่างไรภายหลังความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เพราะเมื่อมีคนแพ้ คนชนะ ก็มีความแค้น ซึ่งคนกลุ่มนี้คิดถึงแต่เรื่องอารมณ์ เป็นเรื่องน่ากลัวที่จะเอาอาวุธไปฆ่าใครก็ได้ ขณะนี้จึงต้องคิดเพื่อก้าวข้ามอารมณ์เหล่านี้ให้ได้

ด้านนายเจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ เครือข่ายภาคประชาสังคม ตัวแทนภาคอีสาน กล่าวว่า สถานการณ์ล่าสุดเมื่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ออกมาเคลื่อนไหว ความนิยม กปปส.ในภาคอีสานมีเพียง 2 พื้นที่ คือ จ.นครราชสีมา โดยบทบาทแกนนำคือหอการค้า อีกส่วนหนึ่งคือที่ จ.ขอนแก่น เนื่องจากเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย มีแพทย์ด้านสาธารณสุขมาก ขณะที่ จ.อุบลราชธานีและ จ.อำนาจเจริญ เป็นพื้นที่ของ สส. ประชาธิปัตย์ มีกลุ่มชนชั้นกลางที่ตื่นตัวขึ้นมา และอีกส่วนหนึ่งคือกลุ่มพันธมิตรซึ่งถดถอยเรื่อยๆ แต่ยังคงมีแม่ยกอยู่ และแม้ฐานที่มีจะน้อยอยู่แล้ว ยังมีความขัดแย้งในพื้นที่ ทั้ง จ.นครราชสีมาและขอนแก่น คือแบ่งเป็น 2 ขั้วระหว่าง กปปส.และพันธมิตร ที่พยายามมาช่วงชิงการนำเอง

นายเจริญลักษณ์ กล่าวว่า ที่น่าสนใจคือการเคลื่อนไหวของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่เชื่อมโยงเพื่อไทย มีการปรับเปลี่ยนยุทธวิธีมากขึ้น จากเดิมที่นำเรื่องชนชั้นมาใช้ และสร้างความชอบธรรมเรื่องนโยบายของรัฐบาลว่าจับต้องได้ เป็นรูปธรรมและมีประโยชน์ มีการตั้งหมู่บ้านเสื้อแดง มาเป็นวิธีการใหม่ ใช้วิธีทางวิชากา ให้ข้อมูลตามช่องทางต่างๆ มีการขยับตัวของแกนนำฮาร์ดคอโดยอดีต สส. และทหารเก่า มีตำรวจที่เป็นกลไลสำคัญ เชื่อมโยงกับอำนาจรัฐบาล

"ระบบราชการทั้งหมดของอีสานเชื่อมโยงกับรัฐบาลทั้งหมด มีกลุ่มของกำลังเคลื่อนไหวในพื้นที่ และล่าสุดมีการตั้ง อาสาสมัคร จำนวน 1.6หมื่นคน ที่ จ.ขอนแก่น ฐานของคนเสื้อแดงไปไกลมาก ในการเลือกตั้งแค่บอกว่าเป็นพวกเดียวกันก็เลือกแล้ว

ขณะที่นายณัฐวัฒน์ ชั้นอินทร์งาม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางระกำ อ.บางเลน จ.นครปฐม ตัวแทนภาคตะวันตกและภาคใต้ กล่าวว่า ตั้งแต่ จ.เพชรบุรี เป็นต้นไป เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงการเมืองเริ่มเปลี่ยนขั้ว ที่ จ.ราชบุรี มีการแบ่งกลุ่มชัดเจน จ.นครปฐม จ.กาญจนบุรี จ.สุพรรณ มีกปปส.แต่แสดงออกไม่ได้มาก การที่จะมีคนมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับ สส.ในพื้นที่และผู้นำท้องถิ่น

"ตอนนี้ความขัดแย้งมาจากสื่อและไม่ฟังเหตุผลใคร คนในชุมชนจึงทะเลาะกันแม้กระทั่งคนในบ้านเองก็ทะเลาะกัน วิวัฒนาการคือเริ่มจากสื่อ ผู้นำชุมนุม ทุกวันนี้ผู้นำชุมชนมีความขัดแย้งระหว่างกันอย่างชัดเจนทำให้กิจกรรมชุมชนนั้นหายไป ทุกคนมีความชัดเจนและไม่ฟังใคร จึงต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนในหมู่บ้านรักกัน"ณัฐวัฒน์ กล่าว

นายจำรูญ สวยดี  ตัวแทนภาคตะวันออก กล่าวว่า ภาคตะวันออกมีความอุดมสมบูรณ์จึงถูกเลือกเป็นพื้นที่เศรษฐกิจของประเทศ เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ มีการพัฒนาต่างๆ เพื่อชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ แต่ผลประโยชน์ไม่ได้ทำเพื่อคนในพื้นที่  จึงมีการคัดค้านมาตลอดและก็แพ้มาตลอด ส่วนเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองนั้น ยังเป็นเรื่องรองลงไป เพียงแต่แสดงความคิดเห็นที่ผ่านมาเป็นความขัดแย้งของฝ่ายนำ แต่พอไม่ชนะก็เป็นการหาพวก สิ่งที่ปรากฎในสังคมจึงเป็นการหาประโยชน์เฉพาะหน้า ต้องการเป็นเพียงผู้ชนะและต้องการหาพรรคพวกโดยใช้ประชาชน ไม่ได้มองในระยะยาวหรือรากเหง้าของประเทศ

"เรื่องนี้ยังไม่มีการแพ้ การชนะจริงๆ ตอนนี้บ้านเมืองยังมองไม่ออกถึงความผิดหรือถูก ดูแต่เรื่องพรรคพวกและสังคมที่เล่นพวกย่อมไม่มีความสามัคคี ดังนั้นการมองหาสันติวิธีก็ต้องไม่มีการเล่นพวก"จำรูญ กล่าว

นายภิญโญ  ทองชัย อดีตเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้ต้องปรับโครงสร้างสังคมอย่างถาวร โดยอยากเสนอเรื่องที่สำคัญ คือ เรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นค่านิยมที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะเรื่องชาติ ความซื่อสัตย์ สุจริต ที่มันเด่นชัดว่า เจ้าหน้าที่รัฐควรจะมีมาตรฐานทางจริยธรรม ต้องมีการทำลายการเมืองแบบทุนสามานย์ว่าไม่ควรจะเกิดขึ้นในสังคมไทย และปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน รณรงค์ไม่ให้คนโกงมีที่ยืนในสังคมไทย และเรื่องความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม การปฏิรูปสื่อ และปฏิรูประบบการสื่อสารระหว่างรัฐทั้งหมด