posttoday

อธิบดีคุ้มครองสิทธิชี้บิลลี่หายตัวคล้ายทนายสมชาย

24 เมษายน 2557

อธิบดีคุ้มครองสิทธิฯชี้บิลลี่หายตัวคล้ายกับทนายสมชายกระทบภาพลักษณ์ไทยเหตุลงนามในสัญญาป้องกันอุ้มฆ่า

อธิบดีคุ้มครองสิทธิฯชี้บิลลี่หายตัวคล้ายกับทนายสมชายกระทบภาพลักษณ์ไทยเหตุลงนามในสัญญาป้องกันอุ้มฆ่า 

เมื่อวันที่24เม.ย. พ.ต.อ.ณรัชต์  เศวตนันทน์  อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม  กล่าวถึงกรณีนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ แกนนำกระเหรี่ยงสมาชิกอบต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี หายตัวไปหลังจากนายชัยวัฒน์  ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน คุมตัวไปสอบการเข้าไปเก็บของป่าและปล่อยตัวออกมา โดยล่าสุดนายบิลลี่ได้หายตัวไปครบ 7 วันแล้วว่า  ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเพราะผู้ที่หายตัวไปมีข้อพิพาทกับเจ้าหน้าที่รัฐคือหัวหน้าอุทยานฯซึ่งมองว่าผู้ที่หายตัวไปเป็นผู้บุกรุกทำลายป่าจนมีข้อพิพาทฟ้องร้องถึงศาลปกครอง ขณะที่ข้อมูลขององค์กรพัฒนาเอกชน ระบุว่ากลุ่มกระเหรี่ยงอาศัยอยู่ในเขตอุทยานมานานแล้ว แต่มีปัญหาความขัดแย้งกับหน่วยงานของรัฐที่เข้าไปจับกุมและไล่เผาที่พักอาศัย ซึ่งจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ยังไม่สรุปสาเหตุการหายตัวไปของนายบิลลี่ว่าเสียชีวิตไปแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่  โดยลักษณะดังกล่าวคล้ายกับกรณีการหายตัวไปของนายสมชาย  นีละไพจิตร  ทนายมุสลิม  ซึ่งมีข้อมูลว่าเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง และกรณีของนายบิลลี่ก่อนหายตัวไปก็อยู่กับเจ้าหน้าที่รัฐเช่นกัน จึงมีลักษณะที่หมิ่นเหม่ต่อความน่าเชื่อถือ เพราะกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ต่างชาติให้ความสนใจ

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวต่อว่า หากเป็นการกระทำเจ้าหน้าที่รัฐจะมีผลกระทบที่น่าตำหนิเพราะประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการสูญหายโดยถูกบังคับ (Internation Convention on the Protection of All Person from Enforced Dissamperances-CED) ซึ่งประเทศไทยมีแผนจะให้สัตยาบรรณเป็นสมาชิกในปีนี้  โดยข้อผูกพันที่ไทยต้องปฏิบัติตามคือการให้หลักประกันแก่ประชาชนว่าจะดำเนินการคุ้มครองไม่ให้ประชาชนถูกกระทำให้สูญหายโดยถูกบังคับโดยเจ้าหน้าที่รัฐหรือกลุ่มบุคคลใด ๆที่ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นกรมคุ้มครองสิทธิฯได้ประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติและตำรวจภูธรภาค 7  เพื่อติดตามคดี เพราะกรมคุ้มครองสิทธิ์ฯเห็นว่าคดีดังกล่าวกระทบกับภาพลักษณ์ของประเทศจึงต้องติดตามเข้าใกล้ชิด  อีกทั้งในวันที่ 30 เม.ย. -1 พ.ค.ตนในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยจะต้องเดินทางไปร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการของสหประชาชาติ(ยูเอ็น) เพื่อประชุมเรื่องสนธิสัญญาต่อต้านการทรมานและมีความเป็นไปได้ที่ที่ประชุมจะซักถามถึงเรื่องดังกล่าว เนื่องจากมีกลุ่มเอ็นจีโอจากกลุ่มฮิวแมนไรต์วอทร่วมเดินทางไปด้วย

“ตามกฎหมายของกรมคุ้มครองสิทธิฯพ.ร.บ ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญากรณีนายสมชายกว่าที่กรมคุ้มครองสิทธิฯจะสามารถเข้าไปเยียวยาได้ก็ผ่านไปนานกว่า 5 ปี หลังศาลแพ่งมีคำสั่งให้เป็นบุคคลสูญหายหรือสาบสูญในทางนิติศาสตร์ ซึ่งกรณีดังกล่าวได้มอบเงินให้ 80,000 บาท เพราะไม่พบศพ ส่วนกรณีบิลลี่หากร้ายแรงที่สุดโดยพบว่าถูกฆาตกรรมและตำรวจยืนยันได้ก็จะได้รับเงินเยียวยา 100,000 บาท”

พ.ต.อ.ณรัชต์ ยังกล่าวถึงการถูกบังคับให้สูญหายว่าจากการหารือร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนมีความเห็นตรงกันว่าควรมีการขึ้นบัญชีสีขาว(White List) กับกลุ่มบุคคลที่เป็นแกนนำสำคัญหรือมีบทบาทภาคประชาชน เพื่อให้การคุ้มครองดูแลไม่ให้บุคคลเหล่าถูกทำร้ายหรือถูกบังคับให้สูญหาย  โดยจะให้เอ็นจีโอหรือภาคประชาสังคมส่งรายชื่อให้กรมคุ้มครองสิทธิฯก่อนที่จะมีการตั้งคณะกรรมขึ้นมากลั่นกรองประวัติ และบทบาทหน้าที่ เพื่อไม่ให้ได้บุคคลที่มีประวัติสีเทาได้รับการคุ้มครองไปด้วย  นอกจากนี้ยังต้องมีหน่วยงานด้านความมั่นคง เช่น ตำรวจหรือสันติบาลให้การดูแลเป็นพิเศษ (VIP Protection).