posttoday

สพฉ.แนะยึดหลัก7ข้อลดอุบัติเหตุสงกรานต์

10 เมษายน 2557

สพฉ.เตือนเทศกาลสงกรานต์เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุมากกว่าปกติ4เท่าแนะยึดหลัก7ข้อลดสูญเสีย

สพฉ.เตือนเทศกาลสงกรานต์เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุมากกว่าปกติ4เท่าแนะยึดหลัก7ข้อลดสูญเสีย   

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลถือเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุมากขึ้นกว่า 4 เท่า  ซึ่งจากสถิติเทศกาลสงกรานต์ 7 วันอันตรายในปีที่ผ่านมามีจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทั้งสิ้น 23,739 คน ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเมาแล้วขับ ไม่สวมหมวกกันน็อค และขับรถเร็วเกินอัตรากำหนด โดยการเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 31.78 รองลงมาคือภาคกลาง ร้อยละ 31.1 ภาคเหนือ ร้อยละ 24.57 และภาคใต้ร้อยละ 12.56  และเกิดในช่วงเวลา 16.00 น.มากที่สุด

สำหรับการเตรียมพร้อมเพื่อลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ในส่วนของประชาชนเอง จะต้องยึดหลักปฏิบัติ  7  ข้อ คือ 1.เมาไม่ขับ 2.งดขับรถเร็ว 3.สวมหมวกนิรภัย 4.คาดเข็มขัดทุกที่นั่ง  5.ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด อย่าขับรถเร็ว ฝ่าไฟแดงและย้อนศร และต้องระมัดระวังในการเปลี่ยนเลนกะทันหัน ไม่ชับรถกระชั้นชิดคันหน้ามากเกินไป  6.หากต้องขับรถในระยะทางไกลเกินกว่า 200 กิโลเมตร ควรหยุดพักเป็นระยะ  7.มีสติและสมาธิในการขับรถ งดการใช้โทรศัพท์เด็ดขาด

นอกจากนี้ควรตรวจสภาพเครื่องยนต์และอุปกรณ์ต่างๆ ในรถให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานด้วยเพื่อความปลอดภัย  นอกจากนี้ควรมีการเตรียมความพร้อมอยู่เสมอเพราะเราไม่สามารถคาดเดาการเกิดอุบัติเหตุได้ เช่น ต้องพกเบอร์โทรฉุกเฉิน  อุปกรณ์ปฐมพยาบาล และหากเกิดอุบัติเหตุหรือพบเห็นอุบัติเหตุจะต้องมีสติอยู่เสมอ และต้องรีบขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ โดยสามารถโทรแจ้งได้ที่สายด่วน 1669   

เลขาธิการ สพฉ. กล่าวต่อถึงการเตรียมความพร้อมในส่วนของ สพฉ. และผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินว่า  ได้มีการประสานเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ โดยมีการตรวจเช็คคู่สายโทรศัพท์ 1669 ทั่วประเทศให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา

นอกจากนี้ได้เน้นย้ำให้ผู้ปฏิบัติการ และผู้ขับรถพยาบาลฉุกเฉินยึดหลักความปลอดภัย และช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างมีคุณภาพ คล่องแคล่ว และครบพร้อม 24 ชั่วโมง  และที่สำคัญในส่วนของรถพยาบาลฉุกเฉินจะต้องขับขี่ด้วยความระมัดระวังเช่นกันเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยฉุกเฉินและทีมกู้ชีพ  โดยจะต้องไม่เปิดสัญญาณไฟฉุกเฉินและไซเรนโดยไม่จำเป็น  ขับขี่ด้วยความเร็วตามที่มาตรฐานกำหนด คือ ไม่เกิน90 กม./ชม. และเมื่อขับผ่านทางแยก จะต้องไม่ใช้ความเร็วเกิน กม. กำหนด และขับด้วยความระมัดระวัง และเมื่อขับผ่านทางแยกที่เป็นสัญญาณไฟแดง หรือผ่านทางรถไฟ จะต้องหยุดก่อนที่จะขับต่อไปด้วยความระมัดระวัง