posttoday

สำรวจพบคนไทยอ่านนสพ.มากกว่าหนังสือประเภทอื่น

03 เมษายน 2557

สถิติเผยผลสำรวจ คนไทยชอบอ่านหนังสือพิมพ์มากกว่าหนังสือประเภทอื่น ขอราคาหนังสือถูกลงหนุนคนรักการอ่านเพิ่มขึ้น

สถิติเผยผลสำรวจ คนไทยชอบอ่านหนังสือพิมพ์มากกว่าหนังสือประเภทอื่น ขอราคาหนังสือถูกลงหนุนคนรักการอ่านเพิ่มขึ้น

นายวิบูลย์ทัต  สุทันธนกิตติ์  ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยผลการสํารวจการอ่านหนังสือของประชากร โดยเก็บรวบรวมข้อมูลในระหว่าง เดือนมิ.ย.-ก.ค. 2556 จากจำนวนครัวเรือนตัวอย่าง 55,920 ครัวเรือน

ผลการสำรวจพบว่า ประชากรอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป มีอัตราการอ่านหนังสือนอกเวลาเรียน/นอกเวลาทำงาน ร้อยละ 81.8   ผู้ชายมีอัตรา การอ่านหนังสือสูงกว่าผู้หญิงเล็กน้อย ที่ร้อยละ 82.8 และ 80.8 ตามลำดับ และเมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจที่ผ่านมา ทั้งผู้ชายและผู้หญิงอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 10  จากปี 2554

ทั้งนี้ การอ่านหนังสือของประชากรมีความแตกต่างกันตามวัย  กลุ่มวัยเด็กมีอัตราการอ่านหนังสือสูงสุดถึง ร้อยละ 95.1 รองลงมาคือ กลุ่มเยาวชน ร้อยละ 90.1 กลุ่มวัยทำงาน ร้อยละ 83.1 และต่ำสุดคือ กลุ่มวัยสูงอายุ ร้อยละ 57.8 ตามลำดับ และเมื่อเปรียบเทียบอัตราการอ่าน พบว่า ในปี 2556 ทุกกลุ่มวัยมีการอ่านเพิ่มขึ้นจากปี 2554

สำหรับประเภทของหนังสือที่ประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไป อ่านนอกเวลาเรียน/นอกเวลาทำงานมากที่สุด คือ หนังสือพิมพ์ ร้อยละ 73.7  รองลงมาคือ วารสาร/เอกสารประเภทที่ออกเป็นประจำ   ร้อยละ 55.1 ตำรา/หนังสือ/เอกสารที่ให้ความรู้ร้อยละ 49.2 นิตยสาร ร้อยละ45.6 และหนังสือ/เอกสารเกี่ยวกับคำสอนทางศาสนา ร้อยละ 41.2

ขณะที่นวนิยาย/การ์ตูน/หนังสืออ่านเล่น และแบบเรียน/ตำราเรียนตามหลักสูตรมีผู้อ่านน้อยกว่าร้อยละ 40.0 (ร้อยละ 38.5 และ 29.5 ตามลำดับ) และหนังสือประเภทอื่นๆ มีผู้อ่านเพียง ร้อยละ 5.4 

ส่วนของเนื้อหาสาระที่ผู้อ่านหนังสือชอบอ่านมากที่สุดคือ ข่าว ร้อยละ 54.3 รองลงมาคือ สารคดี/ความรู้ทั่วไป บันเทิง ความรู้วิชาการ และคำสอนทางศาสนา (ร้อยละ 36.4  32.2  23.2 และ 13.4 ตามลำดับ) ส่วนโฆษณาเนื้อหาสาระประเภทความคิดเห็น/วิเคราะห์ และอื่น ๆ มีผู้อ่านเพียงเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับวิธีการรณรงค์ให้คนรักการอ่านหนังสือ 5 อันดับแรก คือ หนังสือควรมีราคาถูกลง ร้อยละ 39.0 ปลูกฝังให้รักการอ่านผ่านพ่อ แม่/ครอบครัวร้อยละ 26.3 ให้สถานศึกษารณรงค์ส่งเสริมการอ่าน และส่งเสริมให้มีห้องสมุด/ห้องสมุดเคลื่อนที่/มุมอ่านหนังสือในชุมชน/พื้นที่สาธารณะร้อยละ 25.2 เท่ากัน และรูปเล่ม/เนื้อหาน่าสนใจหรือใช้ภาษาง่าย ๆ ร้อยละ 23.2