posttoday

เดอะ เรนโบว์ รูม เพื่อเด็กพิเศษ

29 มีนาคม 2557

เพราะโลกนี้มีคนอยู่ร่วมกันในสังคมมากมาย และเต็มไปด้วยบุคคลที่มีความต้องการที่หลากหลาย

 

โดย...มีนา

เพราะโลกนี้มีคนอยู่ร่วมกันในสังคมมากมาย และเต็มไปด้วยบุคคลที่มีความต้องการที่หลากหลาย และมีความพิเศษที่แตกต่างกัน หนึ่งในนั้นคือ กลุ่มเด็กๆ ที่มีภาวะความต้องการพิเศษที่แตกต่างจากเด็กๆ ทั่วไป การที่สังคมจะอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจก็ต้องรู้จักกับความต่างในข้อนี้ด้วยเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

โรสซาลีน่า อเล็กซานเดอร์ แมคเคย์ ประธานกลุ่มและเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเดอะ เรนโบว์ รูม มูลนิธินี้เป็นองค์กรที่ก่อตั้งเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ร่วมกับเพื่อนๆ จำนวน 9 คน ที่มีแรงบันดาลใจเดียวกันคือ ต้องการให้สังคมได้เห็นศักยภาพของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ และให้เขาสามารถมีชีวิตอยู่ในสังคมที่มีคุณภาพได้ ซึ่งการจะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้ สิ่งจำเป็นคือ ความเข้าใจเชิงบวกของพ่อแม่ที่มีลูกที่มีภาวะความต้องการพิเศษ หรือมีภาวะออทิสซึม รวมทั้งคนอื่นๆ ในสังคมด้วย

ล่าสุด ด้วยความพยายามของมูลนิธิ คือ ร่วมแรงร่วมใจกันรณรงค์ไม่ใช้คำว่า ป.ญ.อ. กับเด็กๆ กลุ่มที่มีความต้องการพิเศษนี้ เพราะเพียงคำพูดด้านลบก็เป็นตัวลิดรอนและตัดสินเด็กกลุ่มที่มีความต้องการที่พิเศษไปแล้ว โดยรณรงค์ผ่านรูปแบบละครเวที “เธียเตอร์สายรุ้ง” ซึ่งนับเป็นโครงการที่ 2 แล้ว

เดอะ เรนโบว์ รูม เพื่อเด็กพิเศษ

 

“จากการทำงานด้านนี้มานานหลายปี ทำให้เรารู้และตระหนักว่า หนึ่งในกุญแจที่สามารถไขประตูแห่งศักยภาพของเด็กๆ ที่มีความต้องการพิเศษนั้นคือ คำพูด นั่นเอง หากข่าวที่ได้รับด้วยความเข้าใจที่ผิดๆ หรือความไม่รู้ ทำให้พ่อแม่หลายคนต้องจ่อมจมอยู่กับความไม่เข้าใจ ซึ่งนำไปสู่ความขมขื่น ความระทมทุกข์ และความสิ้นหวัง แต่คำพูดที่เป็นไปในเชิงบวก คำพูดที่สร้างสรรค์ คำพูดที่เปี่ยมไปด้วยความหวัง ความเป็นไปได้ ทำให้การได้รับการวินิจฉัยในความแตกต่างของลูกน้อยไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่เป็นโอกาสที่พ่อแม่จะมีความเข้าใจในด้านบวกเกี่ยวกับศักยภาพของเด็กๆ แล้วลุกขึ้นให้ความช่วยเหลือกระตุ้นพัฒนาการแรกเริ่มอย่างเร็วที่สุด บ่อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ด้วยความรักที่ไม่มีเงื่อนไข”

มูลนิธิเดอะ เรนโบว์ รูม จึงพยายามรณรงค์เรื่องการใช้ถ้อยคำที่ให้เกียรติและไม่ดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง แทนที่จะใช้คำว่า “ป.ญ.อ.” ซึ่งมีนัยแฝงในการดูแคลนคนอื่นและดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ บุคคลกลุ่มนี้เลือกที่จะใช้คำว่า “ความล่าช้าทางเชาวน์ปัญญา” หรือ “ความแตกต่างทางเชาวน์ปัญญา” หรือ “ความท้าทายด้านเชาวน์ปัญญา” แทนดีกว่า โดยในต่างประเทศใช้คำว่า Intellectual Delay เรียบร้อยแล้ว เพื่อเป็นการระบุถึงภาวะของเด็กๆ ได้อย่างถูกต้องและเป็นความจริง โดยไม่มีผลกระทบในด้านลบกับเด็กๆ

“การรณรงค์คือเราจัดกิจกรรมทำละครขึ้นมาหนึ่งเรื่อง โดยได้รับความร่วมมือกับกลุ่มอาร์ตคอนเนกชั่น สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ และชมรมเมืองไทยเข้าใจออทิสซึม จัดทำกิจกรรมพิเศษเนื่องในโอกาสวันดาวน์ซินโดรมโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 21 เดือน 3 ของทุกปี และเดือนออทิสซึมโลก ซึ่งตรงกับเดือน เม.ย.ของทุกปี เพื่อเป็นการเชิญชวนสังคมให้เลิกใช้คำว่า “ป.ญ.อ.” ในการพูดถึงเด็กๆ พวกเราจึงขอเสนอละครเวทีแนวทดลองเธียเตอร์สายรุ้ง ซึ่งผู้อยู่เบื้องหลังทำให้ละครประสบความสำเร็จได้ คือ ละครบางเพลย์ คณะละครสร้างสรรค์ดราม่าคิวบ์ ชนะ เสวิกุล นักแต่งเพลงระดับแนวหน้าของไทย และราชนิกร แก้วดี จัดกลุ่มน้องๆ ที่ร่วมกันเล่นละครระหว่างเด็กที่มีความต้องการพิเศษกับเด็กปกติ ร่วมกันสร้างสรรค์คิดพล็อตเรื่องละคร เพื่อนำมาแสดงเป็นละครเวทีหนึ่งเรื่อง โดยระยะเวลาในการเตรียมงานร่วมกันทำเวิร์กช็อปนาน 4 เดือนทีเดียว ซึ่งระหว่างการทำงานจะมีการถูกบันทึกเรื่องราวตัดต่อเป็นสารคดี โดยฝีมือผู้กำกับมือรางวัลอย่าง รณิษฐา จริตกุล และ ม.ร.ว.มงคลชาย ยุคล เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานร่วมกันของศิลปินกับเด็กๆ ตั้งแต่เริ่มการคัดเลือกตัวละคร การฝึกซ้อม จนกระทั่งถึงจุดสิ้นสุดของกระบวนการคือ ละครบนเวที โดยผู้ชมสารคดีชุดนี้จะเน้นถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของตัวตน อารมณ์ ความสามารถ การปฏิสัมพันธ์ และผลงานของศิลปินที่ทำงานร่วมกับเด็กๆ ที่มีความต้องการพิเศษและเด็กทั่วไปค่ะ”

เดอะ เรนโบว์ รูม เพื่อเด็กพิเศษ

 

โดยจะมีการจัดฉายภาพยนตร์สารคดีรอบปฐมทัศน์ในวันที่ 26 เม.ย. ณ พารากอน ซีนีเพล็กซ์ และจะจัดงานเป็นกาลาพรีเมียร์การกุศล มีการจำหน่ายบัตร เพื่อนำรายได้สนับสนุนกิจกรรมของเด็กๆ กลุ่มมีภาวะความต้องการพิเศษต่อไป

สำหรับประชาชนทั่วไป มูลนิธิเดอะ เรนโบว์ รูม ยินดีต้อนรับประชาชนทั่วไป โดยสามารถเข้าไปรับข่าวสารและการทำกิจกรรมกลุ่ม หรือเข้าไปกดไลค์ www.therainbowroom.org หรือในเฟซบุ๊ก แล้วไปร่วมทำกิจกรรมร่วมกันได้

“งานส่วนใหญ่ของมูลนิธิคือการให้ความรู้กับคุณพ่อคุณแม่เพื่อให้เข้าใจลูกๆ ที่มีภาวะความต้องการพิเศษ เรามีการจัดงานเสวนาเดือนละ 1 ครั้ง ที่มูลนิธิซอยสุขุมวิท 38 และมีอบรมคุณพ่อคุณแม่เพื่อให้มีความเข้าใจลูกๆ มากขึ้น โดยเรามีผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำเดือนละครั้ง นอกจากนี้เรายังมีกิจกรรมสำหรับเด็กๆ เดือนละ 2 ครั้ง เสาร์และอาทิตย์ ใครสนใจไปได้ เราเป็นสถานที่เปิดสำหรับพ่อแม่และเด็กๆ เราทำงานกับพ่อแม่ส่วนใหญ่ คุณพ่อคุณแม่พาลูกมาได้ตลอด หรือ 02-712-0923 มีอะไรโทรไปปรึกษาได้ โดยมาปรึกษากับคุณหมอครั้งแรกฟรีค่ะ”