posttoday

ต้านทุนนอกผสมโรงสร้างเขื่อนในไทย

13 มีนาคม 2557

นักวิชาการจวกนักการเมืองรวมหัวสร้างเขื่อนมีทุนข้ามชาติร่วมผสมโรง แนะสังคมไทยทำตามข้อเสนอคณะกก.เขื่อนโลก

นักวิชาการจวกนักการเมืองรวมหัวสร้างเขื่อนมีทุนข้ามชาติร่วมผสมโรง แนะสังคมไทยทำตามข้อเสนอคณะกก.เขื่อนโลก
 
เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยมหสารคาม  ( มมส.)   ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์การสร้างเขื่อนในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เนื่องในวันหยุดเขื่อนโลก 14 มีนาคมว่า  การเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านเขื่อนในภาคประชาชนแม้จะมีความตื่นตัวมากขึ้นกว่าในอดีต แต่ จะรอประท้วงหรือต่อสู้ เชิงสังคมอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ในยุคที่มีรัฐบบาลฉ้อฉล และถนัดเรื่องการใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ด้านมูลค่าความเสียหาย และการใช้อำนาจรัฐ เพราะนักการเมืองมุ่งจะแสวงหาผลประโยชน์  ขณะที่ทุนขนาดใหญ่ก็เร่งผลักดันทุกอย่างเพื่อกำไร และประโยชน์ส่วนตัวโดยมักมองข้ามเสียงของคนท้องถิ่น

ดร.ไชยณรงค์กล่าวว่า ยกตัวอย่างกรณีโครงการบริหารทรัพยากรน้ำภายใต้งบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท จะเห็นว่าแม้กลุ่มคัดค้านพยายามใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อยุติโครงการขนาดใหญ่ แต่ผลก็คือ เวทีรับฟังความคิดเห็นที่รัฐบาลอ้างว่าเพื่อให้ประชนมีส่วมร่วมนั้นบิดเบี้ยวจากข้อเท็จจริงอย่างมาก แม้ไม่รู้ว่าหากศาลปกครองตัดสินออกมาแล้วจะเป็นอย่างไร แต่บทเรียนครั้งนี้ทำให้รู้ว่า ที่ผ่านมา โครงการสร้างขื่อนถูกแทรกแซงและพลิกแพลงแผนสร้างมาโดยตลอด

“กรณีนี้เรามองข้ามไปได้เลยเรื่องการเอาความเห็นของคนทั้งประเทศมาตัดสินเพื่อสร้างเขื่อนในพื้นที่ใด พื้นที่หนึ่ง ความเสียหายมันต่างกันอยู่แล้ว  เพราะคนที่เดือดร้อนคือคนท้องถิ่นนั้นๆ เช่น จะสร้างเขื่อนแม่ขาน คนลุ่มน้ำแม่ขานก็เดือดร้อน ถ้าชาวบ้านไม่เอาก็คือไม่เอาจบ  แล้วชุมชนเองก็หันมาสร้างจุดยืนการจัดการทรัพยากรน้ำเองดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแหล่งเก็บน้ำขนาดเล็ก   ประปาชุมชน เป็นต้น เพราะถึงแม้อนาคตแผน 3.5  แสนล้านจะล้มหรือพับลงไป แผนเล็กแผนน้อยก็เกิดแน่ๆ การค้านจึงต้องควบคู่กับการสร้างจุดแข็งของเครือข่ายภาคประชาชน” ดร.ไชยณรงค์ กล่าว
 
ดร.ไชยณรงค์ กล่าวด้วยว่า  การรวมตัวหาประโยชน์ของทุน นักการเมืองและรัฐบาลเป็นมานานแล้วในโครงการน้ำ 30-40 ปีที่ผ่านมา เห็นได้ว่าทุกอย่างเป็นไปเพื่อประโยชน์ของบางกลุ่มเท่านั้น แต่ความเสียหายเกิดขึ้นกับหลายกลุ่มยิ่งเปิดรับทุนข้ามชาติเช่น รับบริษัทเควอร์เตอร์มาร่วมสร้างด้วยแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่างบประมาณการสร้างไปหาใคร หลักเศรษฐศาสตร์การเมืองง่ายมาก หากทุน นักการเมือง และรัฐบาลที่พยายามใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายเพื่อดำเนินการ ซึ่งกำไรตกอยู่กับ 3 กลุ่มหลักแน่ๆ

ผู้สื่อข่าวถามว่าสังคมไทยควรทบทวนอย่างไรกับโครงการสร้างเขื่อนที่กำลังเกิดขึ้นมากมาย ดร.ไชยณรงค์ กล่าวว่า เราควรทำตามข้อเสนอของคณะกรรมการเขื่อนโลกอย่างชัดเจนเพราะหลายประเทศประสบความล้มเหลวจากการสร้างเขื่อนมามาก ไม่สายที่สังคมไทยจะเรียนรู้ซึ่งเป็นทางเดียวทำให้รู้ทันนักการเมือง ว่าแผนลอยๆ สร้างเขื่อนเพื่อผลาญงบประมาณนั้นใช้ไม่ได้  อีกทั้งชุมชนที่เดือดร้อนจากแผนการสร้างเองต้องแสดงให้สังคมภายนอกรู้ด้วยว่า มีศักยภาพในการจัดการน้ำด้วยตนเอง

ทั้งนี้ข้อเสนอของคณะกรรมการเขื่อนโลกที่ ดร.ไชยณรงค์ เคยอ้างถึงไว้ในเว็บไซต์สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตมีเนื้อหาบางตอนว่า จะต้องมีการประเมินความต้องการอย่างรอบด้านของเขื่อน สำหรับการสร้าง เขื่อนใหม่ในอนาคตนั้นจำเป็นที่จะต้องจัดการในเรื่องความต้องการ(Demand Side Management) ทั้งด้านพลังงานน้ำ ไฟฟ้า และที่สำคัญต้องใช้ประโยชน์จากเขื่อนที่มีอยู่แล้วให้มากที่สุดก่อนที่คิดจะสร้างเขื่อนใหม่

ตอนสุดท้ายของรายงานยังเสนอว่า จะสร้างเขื่อนไม่ได้หากว่าไม่ได้รับความเห็นชอบจากผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนนั้น โดยเฉพาะชนพื้นถิ่น และชนเผ่า และจะต้องคิดเรื่องพลังงานทางเลือก และจัดการทบทวนประเด็นต่างๆเกี่ยวกับเขื่อนที่มีอยู่แล้วสำหรับเขื่อนที่สร้างไปแล้วนั้น คณะกรรมการเขื่อนโลกเสนอว่า หากเป็นไปได้ เขื่อนใดที่มีการประเมินแล้วว่าสร้างความเสียหาย ก็ให้ ยกเลิกการใช้เขื่อนนั้น (Decommissioning)

 รายงานยังเสนอให้แก้ไขผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมกับเขื่อนที่สร้างไปแล้ว โดยการ สร้างกลไกเพื่อที่จะจัดการชดเชยทางสังคม(reparation) ให้แก่ผู้ที่ต้องประสบเคราะห์กรรมจากเขื่อน และการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ที่เสียหาย จากการสร้างเขื่อน

 นายกมล เปี่ยมสมบูรณ์  ประธานสภาลุ่มน้ำท่าจีน กล่าวว่า  สิ่งที่รัฐบาลพยายามเปลี่ยนแปลงเพื่อดันไปสู่การสร้างเขื่อน คือ การแปรกฎหมาย ทำให้ความขัดแย้งของภาคประชาชนกับรัฐบาล กลายเป็นสงครามในสังคมจวบจนปัจจุบัน ประเทศไทยมีเสรีในการต่อสู้ และมีเสรีภาพในการประท้วง แต่เมื่อฝ่ายปกครองไม่เคยสนใจฟัง ทำให้นำไปสู่การฟ้องร้อง สิ่งที่น่ากลัวคือการฟ้องร้องที่เกิดขึ้น เมื่อผ่านกระบวนการยุติธรรมแล้ว ฝ่ายบริหารและผู้สนับสนุนไม่เคยยอมรรับในอำนาจความยุติธรรม เท่ากับเสียงประชาชนไม่มีความหมาย

“เราจะสังเกตว่า การต่อต้านของประชาชนไทยเป็นแบบยกต่อยก คือ เหตุการณ์ใดเกิด เราก็ลุกฮือต่อต้านเป็นเหตุการณ์ไป ไม่มุ่งเป้าแบบภาพรวม แต่ปีนี้ปรากฎการณ์การคัดค้านเขื่อนมีมุมมองกว้างขึ้น คือ ประชาชนรวมตัวกันทั่วประเทศ แม้จะต่างคนต่างมีปัญหา แต่กรณีโครงการจัดการน้ำนั้นสร้างปึกแผ่นให้คนทั่วประเทศรวมตัวกันคัดค้าน อีกทั้งยังมีการเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนเหมือนกัน วันหยุดเขื่อนโลกปีนี้ จึงถือว่า มีปรากฎการณ์ภาคประชาชนที่น่าสนใจและสร้างการมีส่วนร่วมของคนทั้งประเทศ แต่สิ่งหนึ่งที่อยากเสนอคือ  ไม่ว่าในอนาคตรัฐบาลใดจะหยิบโครงการเขื่อนมาทำใหม่อีกครั้งในรูปแบบโครงการเล็กหรือโครงการใหญ่ก็ตาม อยากให้ประชาชนคงความเข้มแข็งไว้ เพราะมันทำให้มีพลังคัดค้านมากขึ้น จากนั้นค่อยๆระดมภูมิปัญญาความรู้เชิงวิชาการ ทั้งด้านประเพณี ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมมาคัดค้านอีกที อย่างน้อยก็พลิกรากเหง้าแห่งชุมชนขึ้นมาให้สาธารณะรับรู้ว่า  แผนผลาญงบประมาณมหาศาล ทำไม่ได้ในยุคที่ประชาชนพึ่งตนเอง” นายกมล กล่าว

ด้านนายสมเกียรติ มีธรรม ผู้อำนวยการสถบันอ้อผะหญา กล่าวว่า ในส่วนพื้นที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่  นั้นแม้จะเคยเคลื่อนไหวมาหลายครั้งต่อการคัดค้านเขื่อนแม่แจ่ม แต่ปี 2557 และในอนาคตระยะยาว ชุมชนจะพัฒนาตนเองในเรื่องของการฐานข้อมูลความรู้เพิ่มเติม และสร้างคุณค่าของพื้นที่ช่วงที่ไม่มีเขื่อนให้คนภายนอกรู้จักมากขึ้น  โดยแบ่งเป็น  1 จัดทำข้อมูลที่ดิน/การใช้ประโยชน์ที่ดิน ข้อมูลพันธุ์สัตว์น้ำ/ป่า พันธุ์พืชสมุนไพร/พรรณไม้ในป่า 2. พัฒนาผาวิ่งจู้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรม 3. จัดกิจกรรมกับเด็กและเยาวชน 4.งานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านงานเครือข่าย พร้อมผลักดันให้มีการปฏิรูปการจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อการอนุรักษ์ในพื้นที่ 5.สนับสนุนชุมชนท้องถิ่นในการบริหารจัดการน้ำโดยภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น แม่แจ่มโมเดลการบริหารจัดการน้ำ