posttoday

ไทยยังคงร่วมค้นหาเครื่องบิน MH370

13 มีนาคม 2557

หลายหน่วยงานไทยระดมความช่วยเหลือค้นหาเครื่องบิน Malaysia Airlines ที่สูญหายมาแล้ว 6 วัน

หลายหน่วยงานไทยระดมความช่วยเหลือค้นหาเครื่องบิน Malaysia Airlines ที่สูญหายมาแล้ว 6 วัน

จากกรณีที่เครื่องบิน แบบโบอิ้ง 777-200 เที่ยวบินที่ MH370 ของสายการบิน Malaysia Airlines ได้สูญหายขณะทำการบินจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ไปยังกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2557 โดยบรรทุกผู้โดยสารและลูกเรือ จำนวน 227 คน ขาดการติดต่อกับหอบังคับการบิน เมื่อเวลา 02.40 น. ตามเวลาท้องถิ่นของมาเลเซีย หรือ 01.40 น. ตามเวลาในประเทศไทย นั้น

ประเทศไทย ในฐานะเป็นภาคีสมาชิกขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศและองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ ซึ่งมีภาระผูกพันที่สำคัญ คือ ต้องจัดให้มีกระบวนการช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัยภายในอาณาเขตของตน รวมทั้งให้จัดตั้งศูนย์ประสานงานการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการอำนวยการและประสานงานในกิจการนี้

ดังนั้น คณะรัฐมนตรี จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติในการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัยขึ้น โดยมี นายธีระพงษ์  รอดประเสริฐ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานกรรมการ นายวรเดช  หาญประเสริฐ อธิบดีกรมการบินพลเรือน และ นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า เป็นรองประธานกรรมการ คณะกรรมการ ประกอบด้วย กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี  การท่าเรือแห่งประเทศไทย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด

คณะกรรมการแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและหลักการในการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย กำหนดมาตรการในการดำเนินงานค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัยในเขตรับผิดชอบของประเทศ จัดให้มีการฝึกซ้อมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย รวมทั้งให้คำปรึกษาแนะนำแก่รัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับวิธีดำเนินการและการทำความตกลงกับประเทศต่าง ๆ ในการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย

สำหรับผลการช่วยเหลือและค้นหาเครื่องบินของสายการบิน Malaysia Airlines ที่สูญหาย ล่าสุด สรุปได้ดังนี้

ประเทศมาเลเซีย ได้แบ่งพื้นที่การค้นหาออกเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งอันดามัน และฝั่งอ่าวไทย โดยในฝั่งอ่าวไทย ประเทศมาเลเซีย ได้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 พื้นที่ คือ A  B  C ซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่ในประเทศไทย และใกล้เคียงกับจุดที่เครื่องบินของมาเลเซียหายไปจากจอเรดาห์ โดยการค้นหาของฝ่ายไทย ได้มอบให้ ทัพเรือภาค 2 จัดเครื่องบิน Dornier 228 บินลาดตระเวน ดังนี้

-   วันจันทร์ที่ 10 มีนาคม 2557  บินลาดตระเวนพื้นที่ A
-   วันอังคารที่ 11 มีนาคม 2557 บินลาดตระเวนพื้นที่ B
-   วันพุธที่ 12 มีนาคม 2557     บินลาดตระเวนพื้นที่ C            

ส่วนฝั่งทะเลอันดามัน ประเทศมาเลเซีย ได้แบ่งพื้นที่เป็น 10 พื้นที่ และมอบให้ประเทศไทยค้นหาในพื้นที่ G ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่ที่อยู่ใกล้เกาะภูเก็ต และเกาะราชา ดังนี้

- วันจันทร์ที่ 10 มีนาคม 2557 ทัพเรือภาค 3 ได้นำเรือหลวงปัตตานี พร้อมเฮลิคอปเตอร์ Supper Lynx 300 เจ้าหน้าที่ชุดประดาน้ำ และเจ้าหน้าที่พยาบาล เข้าปฏิบัติภารกิจการค้นหาฯ ในช่องแคบมะละกาในพื้นที่ G ทั้งหมด แต่ไม่พบวัสดุหรือสิ่งบอกเหตุที่คาดว่าจะเป็นเครื่องบินของสายการบินมาเลเซีย

- วันอังคารที่ 11 มีนาคม 2557 ทางมาเลเซียเห็นว่าประเทศไทยค้นหาในพื้นที่ G หมดแล้ว จึงขอให้ค้นหาในพื้นที่ H ด้วย เนื่องจากเรือมาเลเซีย ต้องกลับไปรับการส่งกำลังบำรุง แต่ไม่พบสิ่งใด ๆ จึงกลับไปยังพื้นที่ G

- วันพุธที่ 12 มีนาคม 2557 เรือหลวงปัตตานี ได้ลาดตระเวนในพื้นที่ G อีกครั้งหนึ่ง   และได้จัดเครื่องบินแบบ Dornier 228 บินลาดตระเวนด้วย ในพื้นที่ G และ H

สำหรับการค้นหาทางทะเลฝั่งอันดามัน มีเรือที่เข้าร่วมจากประเทศต่าง ๆ ได้แก่ อินโดนีเซีย จำนวน 5 ลำ มาเลเซีย จำนวน 7 ลำ และไทย จำนวน 1 ลำ ซึ่งในขณะนี้เหลือเพียงเรือของมาเลเซีย 5 ลำ และไทย 1 ลำ ที่ยังคงดำเนินการค้นหาอยู่