posttoday

หมอศิริราชผ่าตัดหัวใจเทียมสำเร็จรายแรกในไทย

24 กุมภาพันธ์ 2557

แพทย์ศิริราชประสบความสำเร็จผ่าตัดใส่หัวใจเทียมเป็นครั้งแรกในไทย โดยผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ

แพทย์ศิริราชประสบความสำเร็จผ่าตัดใส่หัวใจเทียมเป็นครั้งแรกในไทย โดยผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ

เมื่อวันที่ 24 ก.พ. เวลา 14.00 น. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับศูนย์โรคหัวใจสมเด็จพระบรมราชินีนารถ แถลงผลสำเร็จของการผ่าตัดใส่หัวใจเทียมเป็นครั้งแรกในประเทศไทย หลังจากผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้แล้ว

ผศ.นพ.ปรัญญา สากิยลักษณ์ แพทย์ประจำสาขาวิชาศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก ภาควิชาศัลยศาสตร์ ผู้ผ่าตัดใส่หัวใจเทียมครั้งนี้ กล่าวว่า การผ่าตัดครั้งนี้ ผู้ป่วยมีภาวะหัวใจล้มเหลวระยะสุดท้าย แต่ไม่สามารถทำการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจได้ เนื่องจากมีความดันโลหิตของปอดสูงมาก จึงมีความจำเป็นต้องใส่หัวใจเทียมชื่อ Heartmate II

โดยหัวใจเทียมนี้จะฝังอยู่บริเวณใต้หัวใจเดิมตรงหน้าท้องส่วนบน โดยจะมีท่อต่อจากหัวใจเดิม เพื่อดูดเลือดและสูบฉีดเข้าไปในเส้นเลือดใหญ่ผ่านหลอดเลือดเทียม นำไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆของร่างกาย

เครื่องหัวใจเทียม Heartmate II สามารถทำงานแทนหัวใจเดิมและใช้งานได้นานอย่างน้อย 10 ปี โดยมีสายไฟทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างหัวใจเทียมและเครื่องควบคุมซึ่งอยู่ภายนอกบริเวณหน้าท้องผู้ป่วย ซึ่งเครื่องควบคุมจะต่อเข้ากับแบตเตอรี สามารถทำงานได้ 8-10 ชม. เมื่อชาร์ตเต็มที่

ทั้งนี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีประสบการณ์ในการใส่เครื่องพยุงหัวใจมากว่า 20 รายแล้ว ซึ่งเครื่องดังกล่าวมีลักษณะคล้ายหัวใจเทียม แต่ตัวปั๊มจะอยู่นอกร่างกาย สามารถใช้งานได้ 1-2 เดือน ทั้งยังมีเครื่องควบคุมขนาดใหญ่ ไม่สามารถพกพาได้เหมือนกับเครื่องควบคุมหัวใจเทียม

นายวีระกิตติ์ นวสินพงศ์สุข อายุ 56 ปี ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาผ่าตัดใส่หัวใจเทียมรายแรกของไทย กล่าวว่า การผ่าตัดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2556 ภายหลังการผ่าตัด อาการฟื้นตัวได้เร็ว ร่างกายทำงานเป็นปกติเหมือนคนทั่วไป เพิ่งออกจากร.พ.กลับมาใช้ชีวิตที่บ้านได้ตั้งแต่วันที่ 5ก.พ.ที่ผ่านมา

"ผมป่วยเป็นโรคหัวใจล้มเหลวมาสิบกว่าปี ก่อนหน้านี้รักษาตัวด้วยการใช้ยา ระยะหลังอาการทรุดหนัก เหนื่อยง่าย เริ่มบวม จึงปรึกษาแพทย์ จึงได้ข้อสรุปว่าต้องผ่าตัดใส่หัวใจเทียม

ตอนนี้คุณภาพชีวิตดีขึ้นมาก ทำอะไรเองได้ทุกอย่าง แต่ยังต้องดูแลแผลที่หน้าท้อง ทานยาปรับความดัน ปรับเลือดไม่ให้เกาะตัว ควบคู่กับการดูแลเครื่องควบคุมหัวใจเทียม ต้องหมั่นศึกษาคู่มือ คอยชาร์ตแบตเตอรีอย่างสม่ำเสมอ"

ปัจจุบันทั่วโลกมีการใส่หัวใจเทียมชนิดนี้กว่า 1 หมื่นราย อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นวิธีที่ดี แต่ขณะนี้ยังมีราคาแพง ค่าผ่าตัดและ ค่าอุปกรณ์เครื่องควบคุมหัวใจเทียม รวมประมาณ 18 ล้านบาท

หมอศิริราชผ่าตัดหัวใจเทียมสำเร็จรายแรกในไทย

 

หมอศิริราชผ่าตัดหัวใจเทียมสำเร็จรายแรกในไทย

 

หมอศิริราชผ่าตัดหัวใจเทียมสำเร็จรายแรกในไทย