posttoday

การศึกษาบราซิลก้าวหน้าแซงไทยไม่เห็นฝุ่น

31 มกราคม 2557

สสค.จัดเวทีประชุมนักวิชาการด้านการศึกษา ถกปัญหาระบบการศึกษาไทยไม่โตตามเป้า วิเคราะห์บราซิลใช้ 'อีเดป' กระตุ้นสำเร็จ ระบุงบการศึกษาไทยกระจายไม่ทั่วถึง

สสค.จัดเวทีประชุมนักวิชาการด้านการศึกษา ถกปัญหาระบบการศึกษาไทยไม่โตตามเป้า วิเคราะห์บราซิลใช้ 'อีเดป' กระตุ้นสำเร็จ ระบุงบการศึกษาไทยกระจายไม่ทั่วถึง

วันที่ 31 ม.ค. สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านการศึกษาครั้งที่ 7 เรื่องการใช้ข้อมูลเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาจากประสบการณ์ของประเทศบลาซิล โดยจัดขึ้นที่ห้องประชุมทิวลิป โรงแรมรามาการ์เด้น กรุงเทพฯ

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. กล่าวว่า ประเทศบราซิลมีการปฏิรูปการศึกษาพร้อมกับไทยในปี 2542 แต่บราซิลมีพัฒนาการทางการศึกษาอย่างก้าวกระโดด โดยจากการทดสอบโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (PISA) เมื่อปี 2552 บลาซิลได้คะแนนเพิ่มขึ้นกว่า 40 คะแนน เป็นอันดับหนึ่งจาก 65 ประเทศที่เข้าร่วม ขณะที่ไทยคะแนนลดลง
ทั้งนี้ บราซิลนำระบบสารสนเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา หรือ "อีเด็ป" (IDEB) มาปรับใช้ทุกโรงเรียน เป็นเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารสถานศึกษา ด้วยการปฏิรูประบบแรงจูงใจและความรับผิดชอบของโรงเรียนและผู้บริหาร ซึ่งฐานข้อมูลนี้จะถูกส่งต่อให้หน่วยงานส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นใช้กำหนดนโยบายในการจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเพิ่มเงินสนับสนุนไปยังเด็กกลุ่มเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบ รวมถึงอุดหนุนเงินเดือนครูและผู้ปกครองเพื่อสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาการศึกษา

ด้าน ดร.วรลักษณ์ คงเด่นฟ้า นักวิจัยมหาวิทยาลัยนเรศวร อธิบายว่า อีเด็ปของประเทศบราซิลเป็นเกณฑ์วัดมาตรฐานการศึกษาคล้ายกับโอเน็ตของไทย แต่บลาซิลมีการจัดระเบียบสัมมโนประชากรเด็กไว้เพื่อทำเป็นข้อมูลพื้นฐานของเด็กแต่ละคนและส่งผลไปยังโรงเรียน จากนั้นให้โรงเรียนส่งผลการเรียนกลับมา ซึ่งเป็นการเปิดเผยข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อพัฒนาการศึกษา ต่างจากของไทยที่ไม่ค่อยเปิดเผยข้อมูล เมื่อจัดทำมาแล้วเหมือนเก็บไว้แบบไม่มีประโยชน์

สำหรับปัจจัยหลักที่ทำให้การปฏิรูปการศึกษาของบลาซิลสัมฤทธิ์ผล ได้แก่ 1.การจัดสรรงบประมาณการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ดี เพิ่มโอกาสไปสู่กลุ่มเด็กก่อนวัยเรียนและเด็กนอกระบบ 2.มีการให้เงินทดแทนรายได้แก่ครอบครัวเพื่อให้บุตรหลานเข้าเรียนแทนการออกไปทำงาน ถือเป็นการเก็บเด็กไว้ในระบบการศึกษาได้มากขึ้น และ 3.ใช้ระบบวัดผลสำเร็จทางการศึกษาที่กระจายอำนาจอย่างทั่วถึง เป็นตัวกระตุ้นให้นักเรียน โรงเรียน และผู้ปกครองเกิดความสนใจในคุณภาพการศึกษา

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสค. กล่าวว่า การพัฒนาการศึกษาต้องมีทั้งคุณภาพควบคู่ไปกับความเท่าเทียมทางการศึกษา โดยมีผลวิจัยออกมาว่าสำหรับเด็กที่มาจากครอบครัวยากจน ต่อให้มาเข้าเรียนอย่างไรก็ไปไม่รอด เพราะพอกลับมาถึงบ้านก็ต้องไปช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน ฉะนั้นนอกจากมาตรการในห้องเรียนแล้ว ก็ต้องไปถมความยากจน หรือเหมือนการไปซื้อโอกาสของตัวเด็กให้มาเรียนในระบบ
"เปรียบเทียบเหมือนพื้นที่ที่มีหลุมอยู่ เราต้องไปเติมหลุมให้เต็ม ให้กลายเป็นลักษณะพื้นราบ ให้หมด และจากนั้นเราจะถมให้ดินให้สูงขึ้นก็ได้ สิ่งสำคัญคือลดช่วงว่างความเหลื่อมล้ำทางระบบการศึกษา" น.พ.สุภกร กล่าว

ดร.ธันยวิช วิเชียรพันธ์ หัวหน้าสำนักงานวิจัย มหาวิทยาลัยศรีปทุม ให้ความเห็นว่า เวลาเรียนของเด็กและการสอนของอาจารย์ของไทยกับบลาซิลที่ไม่เท่ากันนั้น จะน้อยหรือมากไม่อาจเป็นตัวชี้วัดได้ถึงพัฒนาการศึกษา บริบทของไทยกับบราซิลมีความคล้ายคลึงกัน แต่ระบบฐานข้อมูลด้านการศึกษาของเไทยยังจัดสรรได้ไม่เป็นระบบ ขาดความชัดเจนในการกระจายอำนาจ ทำให้การพัฒนาระบบเป็นไปได้ยาก แต่จริงๆ แล้วการมีระบบที่ดี อาจเหนี่ยวนำพฤติกรรมคนให้เป็นระบบมากขึ้น เพราะเหมือนถูกบังคับให้ทำตามขั้นตอน หากมีการปรับปรุงระบบฐานข้อมูลให้ดีแล้วนำมาใช้เลยก็ถือเป็นสิ่งดี

ขณะที่ ผศ.ดร.ประวัติ สมเป็น ประจำสาขาครุศาสตร์เกษตร มรภ.สุรินทร์ กล่าวว่า ในทางปฏิบัติแล้วระบบการศึกษาประเทศไทย ไม่มีการกระจายอำนาจ แต่เหมือนเป็นการจับอำนาจมาอยู่เป็นหย่อมๆ เขตการศึกษาหนึ่งมีกว่า 10 อำเภอ 200-300 โรงเรียน ดูแลกันไม่ทั่วถึง จึงเป็นสาเหตุให้ไม่มีระบบระเบียบในการทำงาน อีกทั้งค่าตอบแทนของครูโรงเรียนใหญ่ในหัวเมืองต่างๆ ฐานเงินเดือนจะดีกว่าโรงเรียนเล็กๆตามชายแดนท้องถิ่นไทยเราเสริมแรงครูตามโรงเรียนใหญ่มากกว่า จึงมีการแข่งขันแย่งกันเข้าไปสอนที่โรงเรียนในเมืองใหญ่ ทำให้การพัฒนาการเรียนการสอนเป็นไปได้เฉพาะกลุ่ม ไม่ถึงส่วนท้องถิ่น