posttoday

ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ คนรุ่นใหม่และความหวังใหม่การศึกษาไทย

21 ธันวาคม 2556

เรื่องราวต่อไปนี้ เป็นเรื่องราวของคนรุ่นใหม่ ที่ทำอะไรใหม่ๆ ให้กับวงการการศึกษาไทย

โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์

เรื่องราวต่อไปนี้ เป็นเรื่องราวของคนรุ่นใหม่ ที่ทำอะไรใหม่ๆ ให้กับวงการการศึกษาไทย เรื่องราวที่เชื่อว่าจะสร้างความหวัง แม้ในคนที่สิ้นหวังไปแล้วกับปัญหาการศึกษาเด็กไทยก็ตาม นั่นก็คือ เรื่องราวของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ องค์กรไม่หวังผลกำไร ที่จัดตั้งขึ้นโดยเด็กหนุ่มวัยเพียง 26 ปี “วิชิตพล ผลโภค” กับเพื่อนๆ ของเขาอีก 7 คน

วิชิตพล หรือ ตะ เล่าให้ฟังว่า ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เริ่มต้นในใจของเขาเมื่อนานมาแล้ว ตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนหนังสืออยู่ที่สหรัฐอเมริกา เมื่ออาจารย์ถามนักศึกษาในห้องว่า จบแล้วอยากทำงานอะไร ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ทีช ฟอร์ ยูเอสเอ นั่นเอง ที่จุดประกายให้เขาอยากรู้จักโครงการเพื่อการศึกษาที่ยิ่งใหญ่นี้

“ทีช ฟอร์ ยูเอสเอ เริ่มในปี 1990 จากแนวคิดของนักศึกษาฮาร์วาร์ดคนหนึ่งที่คิดว่า ปัญหาสังคมในสหรัฐต้องเริ่มแก้ที่การศึกษา โครงการทีช ฟอร์ ยูเอสเอ จึงเกิดขึ้นจากครูอาสาสมัคร 500 คนในปีแรก กลายเป็น 6 หมื่นคนในปัจจุบัน โครงการประสบความสำเร็จอย่างมาก มันได้เปลี่ยนภาพลักษณ์อาชีพครูที่ต่ำต้อย กลายเป็นสิ่งแรกที่นักศึกษาจบใหม่อยากทำ” ตะเล่า

ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ คนรุ่นใหม่และความหวังใหม่การศึกษาไทย

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อไปขอสมัครเป็นครูในโครงการทีช ฟอร์ ยูเอสเอ ตะกลับถูกปฏิเสธ เนื่องจากตามระเบียบแล้วจำกัดเฉพาะผู้สมัครชาวอเมริกันเท่านั้น เขาจึงติดต่อไปที่ ทีช ฟอร์ ออล ซึ่งเป็นองค์กรแม่ จากนั้นแนวคิดก็ค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างถึงการก่อตั้ง ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ในประเทศไทย ตะซึ่งขณะนั้นเรียนจบแล้วและกำลังทำงานอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ตัดสินใจลาออกจากงาน เพื่อกลับมาทำความฝันให้เป็นความจริง

ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ จัดตั้งเป็นมูลนิธิ โดยจะเป็นองค์กรที่มุ่งมั่นสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันทางการศึกษา โดยการคัดเลือกคนรุ่นใหม่ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี มีศักยภาพและมีอุดมการณ์เดียวกัน มาเป็นครูในโรงเรียนที่ขาดแคลน สร้างประโยชน์แก่โรงเรียนและชุมชนเป็นเวลา 2 ปี ขณะเดียวกันก็จัดอบรมทักษะการสอนและความเป็นผู้นำแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยในอนาคต

ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ คนรุ่นใหม่และความหวังใหม่การศึกษาไทย

 

ในปีแรก ตะ เล่าว่า ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ จะรับสมัคร “ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง” จำนวน 50 คน โดยคัดเลือกจากบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ หรือคนทำงานที่มีศักยภาพใน 7 ด้าน 1.มีผลการเรียนที่ดี 2.มีทักษะการสื่อสารที่ดี 3.มีความสามารถในการวางแผนและบริหารจัดการ 4.สามารถคิดอย่างมีวิจารณญาณได้ 5.มีความอ่อนน้อมถ่อมตน 6.มุ่งมั่นอดทน และไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค และ 7.เชื่อมั่นในวิสัยทัศน์ของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์

ณิชา พิทยาพงศกร หนึ่งในทีมงาน เล่าว่า ในปีการศึกษาหน้า ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นแรก จะเข้าไปทำหน้าที่ครูใน 3 วิชาที่ขาดแคลน คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษในโรงเรียน โอกาสขยายของ กทม. 18 แห่ง ในระหว่างนี้จะมีครูพี่เลี้ยงจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Leadership Development Officer จากทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง ดูแลทั้งด้านการสอนและภาวะผู้นำที่เข้มข้น

สิ่งที่ครูเหล่านี้จะต้องเจอคืองานหนัก สิ่งที่พวกเขาต้องมีความมุ่งมั่นอดทน ความกล้าผจญ ขณะเดียวกันก็ต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตนที่จะปรับตัวปรับใจกับทุกปัญหา

ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ คนรุ่นใหม่และความหวังใหม่การศึกษาไทย

 

“แม้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งในอเมริกาและอังกฤษ หรือจะที่ใดก็ตาม ล้วนมีปัญหาด้านการศึกษา ในประเทศไทยก็เช่นกัน ปัญหาและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เกิดขึ้น แก้ได้ด้วยการนำการศึกษาที่เท่าเทียมไปยังห้องเรียนแต่ละห้อง เราจะค่อยๆ ทำไปทีละห้อง และเชื่อว่าสักวันหนึ่งเราจะเปลี่ยนแปลงได้” ณิชา เล่า

สุดท้าย ตะ บอกว่า ในการแก้ปัญหา เราต้องรู้ว่าปัญหาคืออะไร ปัญหาการศึกษาก็เช่นกัน จะแก้ปัญหาการศึกษาได้ ต้องมีคนรู้ว่าปัญหาอยู่ที่ไหน ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ กำลังสร้างคนเหล่านั้น พวกเขาคือครู ที่ต่อไปจะเปลี่ยนไปเป็นนักธุรกิจ วิศวกร ข้าราชการ หรือจะอยู่ในภาคส่วนใดของประเทศก็ตาม แต่พวกเขาได้รู้ปัญหาแล้ว พวกเขาจะร่วมแก้ปัญหาในจุดที่เขาอยู่