posttoday

ภาคประชาชนจี้ปวีณาแก้ความรุนแรงต่อผู้หญิง

21 พฤศจิกายน 2556

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จี้“ปวีณา”ลุยแก้ปัญหาความรุนแรง เนื่องในเดือนยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง แนะจับมือเอ็นจีโอ เครือข่ายภาคประชาชนร่วมแก้ไข

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จี้“ปวีณา”ลุยแก้ปัญหาความรุนแรง เนื่องในเดือนยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง แนะจับมือเอ็นจีโอ เครือข่ายภาคประชาชนร่วมแก้ไข

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. นายจะเด็จ  เชาวน์วิไล  ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พร้อมด้วย เครือข่ายสตรี กว่า 50คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ นางปวีณา หงสกุล รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อเรียกร้องให้ช่วยแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง เนื่องในเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี 

นายจะเด็จ กล่าวว่า เนื่องด้วยวันที่ 25 พ.ย.ของทุกปี คณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดให้เป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ทางมูลนิธิฯร่วมกับเครือข่ายขับเคลื่อนงานป้องกัน แก้ไข รณรงค์ และช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงลงพื้นที่สำรวจยังพบข้อมูลน่าห่วง คือ ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะอดทน หากมีความรุนแรง และพฤติกรรมความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้นกับตัวเอง เนื่องจากว่าอาย ยอมทนเพื่อลูก กลัวถูกทำร้ายซ้ำ ไม่รู้ช่องทางการให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐ และไม่รู้เรื่องของกฎหมายที่สามารถคุ้มครองผู้หญิงได้

นายจะเด็จ กล่าวว่า ในฐานะที่พม.เป็นองค์กรภาครัฐที่ดูแลแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัว โดยตรง มูลนิธิฯและเครือข่ายสตรี 8 จังหวัด ขอเสนอแนวทางแก้ปัญหาเพื่อนำไปพิจารณา ดังนี้     

1.เร่งประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนได้รับรู้ถึงข้อมูลเกี่ยวกับศูนย์ช่วยเหลือสังคม (OSCC) และกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550  ให้ต่อเนื่อง 

2.เร่งรณรงค์ให้ผู้หญิงได้ออกมาใช้สิทธิของผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศ เพื่อนำมาสู่การได้รับความคุ้มครองและการป้องกันปัญหาจากความรุนแรง

3.พัฒนากลไกในการบำบัดฟื้นฟูผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำซ้ำต่อผู้หญิง 

4. สนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรต่างๆให้กับองค์กรพัฒนาเอกชนและเครือข่ายชุมชน  ได้ดำเนินงานในการบำบัดฟื้นฟูและคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว และผู้กระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว เพื่อให้การดำเนินงาน ด้านการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหามีประสิทธิภาพและครอบคลุมยิ่งขึ้น

“พม.มีอำนาจในการกำกับดูแล ควรปรับกระบวนการและส่งเสริมกลไกลให้ภาคส่วนต่างๆบูรณาการร่วมกันเพราะปัญหาเหล่านี้กระทรวงฯ จะทำเพียงลำพังไม่ได้ เนื่องจากแนวโน้มความรุนแรงมีเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากผู้มาขอรับคำปรึกษาจากมูลนิธิฯ และปรากฏข่าวทางสื่อต่างๆ รวมถึงข้อมูลของ OSCC ส่วนใหญ่เป็นปัญหาความรุนแรงในครอบครัว อาทิ สามีนอกใจ  ถูกทำร้ายร่างกาย  การข่มขู่ ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงยังมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาเสพติด เป็นต้น ทั้งนี้บางรายประสบปัญหามากกว่าหนึ่งเรื่อง  ในหลายประเทศที่พัฒนาแล้วรัฐจะสนับสนุนงบประมาณให้องค์กรพัฒนาเอกชนและชุมชนที่มีความสามารถดำเนินการด้านการยุติปัญหา ได้เข้ามาช่วยทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เนื่องจากการทำงานของรัฐยังมีข้อจำกัดและสามารถรับมือกับปัญหานี้ได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น รัฐควรสนับสนุนให้หน่วยงานภาคเอกชนและชุมชนที่มีความสามารถเข้ามาร่วมทำงานแก้ไขปัญหาดังกล่าว ไม่ใช่ทุกอย่างวิ่งรวมศูนย์มาที่จุดเดียวในการแก้ไขปัญหา”นายจะเด็จ กล่าว