posttoday

คำต่อคำ!ทูตวีรชัยสรุป8ประเด็นพระวิหาร

13 พฤศจิกายน 2556

ทูตวีรชัยสรุปคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารของศาลโลก 8 ประเด็น ชี้ชัด 'ภูมะเขือ' แยกจากยอดเขาพระวิหาร

ทูตวีรชัยสรุปคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารของศาลโลก 8 ประเด็น ชี้ชัด 'ภูมะเขือ' แยกจากยอดเขาพระวิหาร

เวลาประมาณ 14.30 น. ที่รัฐสภา นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะตัวแทนรัฐบาลต่อสู้คดีปราสาทพระวิหาร กล่าวรายงานสรุปสาระคำพิพากษา ของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) เมื่อวันที่ 11 พ.ย. ต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาที่เปิดให้มีการอภิปรายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 179 โดยไม่มีการลงมติ  มีเนื้อหาดังนี้     

นายวีรชัย ระบุว่า ส่วนแรกข้อบทปฏิบัติการ คือ คำพิพากษาที่ผูกพันคู่กรณีประกอบด้วย 2 ข้อ คือ 1.ศาลลงความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า ศาลมีอำนาจตามข้อ 60 ของธรรมนูญศาลเพื่อพิจารณาคำขอตีความคำพิพากษาปี พ.ศ.2505 ของกัมพูชาและคำขอนี้สามารถรับฟังได้ และ 2.ศาลชี้ขาดเป็นเอกฉันท์ โดยอาศัยการตีความคำพิพากษา เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2505 ว่า ในคำพิพากษาดังกล่าวได้ตัดสินให้กัมพูชามีอธิปไตยเหนือดินแดนทั้งหมดของยอดเขาพระวิหาร ดังที่นิยามไว้ในวรรคที่ 98 ของคำพิพากษานี้ และโดยเหตุนี้ประเทศไทยมีพันธกรณีต้องถอนกำลังทหาร หรือ ตำรวจ หรือ ผู้เฝ้ารักษา หรือผู้ดูแลของไทย ซึ่งส่งไปประจำอยู่แล้วบนจุด “ยอดเขา” (นายวีรชัย ระบุว่าขอใช้คำว่า “ยอดเขา” เป็นคำแปลชั่วคราวมาจากภาษาอังกฤษว่า Promontory ซึ่งคำเดียวกันมีผู้เชี่ยวชาญบางท่านใช้คำว่า “ชะง่อนผา” ) ทั้งนี้มีข้อสังเกตด้วยว่าในคำแถลงของผู้พิพากษาบอกว่า วรรค 98 ของคำพิพากษาเป็นส่วนหนึ่งของคำตัดสินซึ่งผูกพันคู่กรณีด้วย

นายวีรชัย ระบุว่า ในส่วนคำพิพากษาที่เป็นเหตุผลมีทั้งหมด 8 ประเด็น ประกอบด้วย

ประเด็นที่ 1.วันที่ข้อพิพาทปรากฏชัด ศาลเห็นว่าข้อพิพาทปรากฏชัดในช่วงปี 2550-2551 ถือว่าเป็นการฟังการต่อสู้ของเรา

ประเด็นที่ 2.อำนาจศาลแบ่งเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย 1.ประเด็นที่ว่ามีข้อพิพาทระหว่างคู่กรณีหรือไม่ เกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของคำพิพากษา ศาลเห็นว่ามีข้อพิพาท ในชั้นนี้ศาลชี้แจงด้วยว่าตัวบทภาษาฝรั่งเศสของข้อ 60 ของธรรมนูญ โดยใช้คำว่า “ข้อพิพาท” ในข้อ 60 มีความหมายกว้างกว่าคำว่า “ข้อพิพาท” เดียวกันในข้อ 36 วรรคสองของศาลโลกที่ว่าด้วยอำนาจศาลในกรณีปกติ ดังนั้น “ข้อพิพาท” ในกรณีนี้จะต้องตีความกว้างกว่าในข้อ 36 วรรคสอง ดังนั้นศาลก็ตัดสินว่าในกรณีนี้มีข้อพิพาทระหว่างคู่กรณี ว่าด้วยความหมายและขอบเขตของคำพิพากษาเมื่อพ.ศ.2505 ถือว่าข้อนี้ศาลฟังฝ่ายกัมพูชา แต่เหตุผลที่ศาลใช้ ไม่ใช่เหตุผลของกัมพูชา แต่เป็นเหตุผลของศาลเอง

2.ในเรื่องอำนาจศาล ข้อพิพาทที่ว่านี้อยู่ในประเด็นอะไรบ้าง ศาลเห็นว่ามีข้อพิพาทใน 3 ประเด็น คือ 1.ในคำพิพากษา พ.ศ.2505 ศาลได้ตัดสินโดยมีผลผูกพันหรือไม่ว่าเส้นบนแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน เป็นเขตแดนระหว่างคู่กรณีในบริเวณปราสาท 2.ประเด็นความหมายและขอบเขตของข้อความว่า บริเวณใกล้เคียงบนดินแดนของกัมพูชา และ 3.ประเด็นลักษณะพันธกรณีของไทยที่ต้องถอนกำลังตามวรรคสองของข้อบทปฏิบัติการของคำพิพากษาพ.ศ.2505

ประเด็นที่ 3 ศาลวินิจฉัยว่าคำขอของกัมพูชารับฟังได้หรือไม่ ศาลเห็นว่าคำขอของกัมพูชารับฟังได้ เพราะคู่กรณีมีความเห็นต่างกันในเรื่องความหมายและขอบเขตของคำพิพากษา พ.ศ.2505 จึงมีความจำเป็นต้องตีความวรรคสองของบทปฏิบัติการ รวมทั้งผลทางกฎหมายของสิ่งที่ศาลกล่าวเกี่ยวกับเส้นบนแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน

ประเด็นที่ 4  ความสัมพันธ์ระหว่างคำพิพากษาพ.ศ.2505 ในส่วนที่เป็นเหตุผลกับในส่วนที่เป็นข้อบทปฏิบัติการ ศาลยืนยันหลักการตามแนวคำพิพากษาของศาลที่มีอยู่ว่า จะตีความในส่วนที่เป็นเหตุผลได้ก็ต่อเมื่อส่วนนั้นแยกไม่ได้จากส่วนข้อบทปฏิบัติการ แต่ศาลไม่ได้ชี้ขาดในประเด็นนี้เพียงแต่ระบุว่า ศาลจะพิจารณาในส่วนที่เป็นเหตุผลของคำพิพากษาพ.ศ.2505 เท่าที่ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับการตีความที่ควรจะเป็นของส่วนข้อบทปฏิบัติการ

ประเด็นที่ 5 วิธีการทั่วไปของการตีความ ประกอบด้วย 1.ในการตีความ ศาลจะต้องเคารพ และอยู่ในขอบเขตของสิ่งที่ได้รับการตัดสินในคำพิพากษาที่ตีความ ก็คือ ต้องเคารพสิ่งที่ได้รับการตัดสิน ขอบเขตของสิ่งที่รับการตัดสินในคำพิพากษา พ.ศ.2505 2.ศาลไม่จำเป็นต้องจำกัดตัวเองอยู่ในข้อต่อสู้ของคู่กรณี ศาลอาจจะหาเหตุผลมาแทนได้ 3.คำให้การเป็นลายลักษณ์อักษร และการให้การด้วยวาจาของคู่กรณีในคดีเดิม ต้องนำมาพิจารณาในการตีความ เพราะทำให้เห็นว่า คู่กรณีเดิมได้เสนอพยานหลักฐานใดต่อศาล และได้ตั้งประเด็นใดต่อศาลอย่างไร

4.ในการตีความ ศาลมีดุลยพินิจจำกัดภายใต้ขอบเขตของคำขอของคู่กรณีในคดีเดิม ตามที่ศาลเข้าใจ ซึ่งคำขอของคู่กรณีเดิมตามที่ศาลเข้าใจนั้น ศาลไม่อาจวินิจฉัยขอบเขตดังกล่าวใหม่ได้ เพราะทั้งหมดนี้ เป็นหลักกฎหมายว่าด้วย ศาลไม่อาจจะให้เกินกว่าที่ผู้ร้องขอได้  5.คำสรุปย่อต้นคำพิพากษา ศาลบอกว่าไม่อาจนำมาร่วมในการพิจารณาตีความได้  6.ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหลังคำพิพากษา และพฤติกรรมของคู่กรณีหลังคำพิพากษา พ.ศ.2505 ไม่อาจนำมาพิจารณาในการตีความในคำพิพากษาดังกล่าว ที่กล่าวมาเป็น 6 ประเด็นถึงวิธีการทั่วไปของการตีความที่ศาลได้กำหนด

ประเด็นที่ 6 ถือเป็นประเด็นสำคัญที่สุดที่ศาลตีความ ประกอบด้วย 1.ศาลตีความว่าคำพิพากษาเมื่อพ.ศ.2505 มีองค์ประกอบหลัก 3 ประการ ประกอบด้วย

1.ศาลในปี 2505 ไม่ได้ชี้ขาดเรื่องเขตแดน เท่ากับศาลรับฟังข้อต่อสู้ของไทย

2.แผนที่ 1 ต่อ 2 แสน มีบทบาทหลักในการให้เหตุผลของศาล อันนี้เท่ากับศาลฟังกัมพูชา อย่างไรก็ดีบทบาทหลักนั้นจำกัดเฉพาะในบริเวณพิพาทในคดีเดิมเท่านั้น จุดนี้น่าจะเป็นเพราะศาลรับฟังข้อต่อสู้ของเราว่าคดีนี้ต้องจำกัด

3.อาณาบริเวณปราสาท มีพื้นที่จำกัดมาก และศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องศาลในปี 2505 ได้วินิจฉัยชี้ขาดในแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน เฉพาะในบริเวณพิพาทในคดีเดิม นี่เป็นประการสำคัญที่ศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดว่า ศาลในปี 2505 ได้วินิจฉัยชี้ขาดเรื่องแผนที่ 1 ต่อ 2 แสนเฉพาะในบริเวณพิพาทในคดีเดิมเท่านั้น แม้ว่าเส้นเขตแดนในแผนที่ดังกล่าวจะยาวกว่า 100 กม.ก็ตาม

นายวีรชัย กล่าวต่อว่า ศาลได้ตีความในเรื่องความหมายในส่วนข้อ บทปฏิบัติการของคำพิพากษาปี 2505 ศาลเริ่มต้นด้วยการระบุว่า ข้อบทปฏิบัติการทั้ง 3 วรรคในปี 2505 ต้องพิจารณารวมกันทั้งหมด จากนั้นศาลก็ตีความวรรคที่ 1 ว่าความหมายของวรรคที่ 1 มีความชัดเจน เพราะชี้ขาดตามข้อเรียกร้องหลักของกัมพูชาในคดีเดิมว่า ปราสาทอยู่บนดินแดนภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา จากนั้นศาลได้ตีความวรรคที่สอง บอกว่า วรรคที่สองนั้นระบุดินแดนกัมพูชาที่ไทยต้องถอนกำลังออก โดยอ้างอิงถึงบุคลากรของไทยที่ได้ส่งไปประจำอยู่ จึงต้องดูหลักฐานในคดีเดิมว่ากำลังของไทย ตั้งอยู่ที่ใด

ซึ่งคำให้การเมื่อปี 2504 เคยให้การชัดเจนถึงที่ตั้งของกองกำลังตำรวจตระเวนชายแดนไทย ด้วยเหตุนี้ศาลในวันนี้จึงเห็นว่า อย่างน้อยบริเวณใกล้เคียงปราสาทจะต้องรวมที่ตั้งของตำรวจชายแดนไทยตามคำให้การดังกล่าว ซึ่งที่ตั้งนั้นอยู่ทางทิศเหนือของเส้นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2505 ของไทยซึ่งมากำหนดภายหลังคดี แต่อยู่ใต้เส้นเขตแดนบนแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน จุดนี้เป็นการให้การของฝ่ายไทยในสมัยนั้น ดังนั้นเส้นมติ ครม.ดังกล่าว จึงไม่อาจจะเป็นขอบเขตของบริเวณใกล้เคียงปราสาทตามความหมายของวรรคที่สองได้ ส่วนตัวเห็นว่าคำให้การของไทยไม่ได้ให้การเกี่ยวกับเส้นมติ ครม.เพราะเส้นมติ ครม.เกิดภายหลังคำพิพากษา เป็นการให้การก่อนคำพิพากษาตั้งของตำรวจชายแดนไทยจุดนั้นอยู่เหนือสันปันน้ำที่กัมพูชาอ้างในคดีเดิม ซึ่งเมื่อศาลมาดูแล้วก็พบว่าเท่ากับอยู่เหนือเส้นมติ ครม.ซึ่งมีการลากภายหลัง

นายวีรชัย ระบุว่า ด้วยหลักฐาน 2 ชิ้นศาลจึงตัดสินภายหลังว่า เส้นมติ ครม.ไทย ไม่อาจเป็นขอบเขตของบริเวณใกล้เคียงปราสาทตามความหมายของวรรคที่สองในความหมายของศาลใน พ.ศ.2505 ได้ ศาลยังตีความด้วยว่า ศาลใน พ.ศ.2505 อธิบายพื้นที่รอบปราสาทโดยใช้ลักษณะทางภูมิศาสตร์ พื้นที่รอบปราสาทนี้ที่เรียกว่า area around the temple ซึ่งเป็นคำที่ไม่มีที่มาเดิม แต่เป็นคำที่ศาลกำหนดขึ้นในวันนี้ แต่สิ่งสำคัญในวันนี้ คือ ศาลใน พ.ศ.2505 ใช้ลักษณะ สัณฐานทางภูมิศาสตร์เป็นหลัก จากนั้นศาลในวันนี้ได้ตีความว่าพื้นที่พิพาทในคดีเดิม “แคบ” และ “จำกัด” อย่างชัดเจนด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์  ในทางทิศตะวันออก ทิศใต้ ทิศตะวันตก และทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทั้งหมดใช้สัณฐานทางภูมิศาสตร์

ส่วนทางเหนือนั้นจำกัดตามขอบเขตของดินแดนกัมพูชาตามที่ศาลชี้ขาดในส่วนเหตุผลของคำพิพากษา พ.ศ.2505 บริเวณใกล้เคียงปราสาท ศาลตีความว่าจำกัดอยู่เฉพาะยอดเขาพระวิหาร หรือ Promontory ศาลตีความเช่นนี้ด้วยเหตุผลว่า 1.พื้นที่บริเวณใกล้เคียงตัวปราสาทไม่รวมภูมะเขือ เพราะภูมะเขือกับยอดเขาพระวิหาร เป็นพื้นที่ทางภูมิสาสตร์ที่แยกจากกัน ผู้ว่าฯ จ.พระวิหารของกัมพูชาใน พ.ศ.2505 ในคดีเก่าก็ระบุว่า ภูมะเขืออยู่คนละจังหวัดกับยอดเขาพระวิหาร ทนายความของกัมพูชาท่านหนึ่งก็กล่าวว่า ภูมะเขือไม่ใช่บริเวณสำคัญ สำหรับการพิจารณาของศาล นอกจากนี้ ไม่มีพยานหลักฐานใดในคดีเดิมที่ชี้ว่ามีกำลังทหาร หรือตำรวจของไทยอยู่ที่ภูมะเขือในสมัยนั้น ดังนั้นศาลจึงสรุปว่าภูมะเขือไม่รวมยู่ในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงปราสาทในความหมายของคดีเดิม

นอกจากนี้ศาลยังให้เหตุผลที่เลือกพื้นที่ใกล้เคียงในวันนี้ว่า การตีความของกัมพูชาในปัจจุบันที่อ้างพื้นที่ที่อยู่ระหว่างเส้นแผนที่ 1 ต่อ 2 แสนตามที่กัมพูชาถ่ายทอด กับสันปันน้ำตามที่ไทยเสนอในปัจจุบัน ศาลในคดีเดิมระบุไว้ชัดว่าไม่สนใจที่จะรู้ว่าสันปันน้ำอยู่ที่ไหน ดังนั้นเป็นไปไม่ได้ที่ศาลในคดีเดิมจะนึกถึงสันปันน้ำเมื่อใช้คำว่าบริเวณใกล้เคียง คำพิพากษาของศาลในวันที่ 11 พ.ย.จึงสรุปว่าศาลในคดีเดิมเข้าใจคำว่า “บริเวณใกล้เคียง” บนดินแดนของกัมพูชาจำกัดอยู่บนยอดเขาพระวิหาร และพื้นที่ดังกล่าวจะต้องเล็กและเห็นได้ชัด แสดงว่าศาลฟังข้อต่อสู้ของเรา โดยศาลย้ำ 3 แห่งเป็นอย่างน้อยว่าจะต้อง เล็ก แคบ และจำกัด บริเวณใกล้เคียง

ศาลในปัจจุบันจึงชี้ขาดว่า ไทยต้องถอนบุคลากรทั้งหมดออกจากดินแดนทั้งหมดของยอดเขาพระวิหาร ซึ่งอธิบายขอบเขตไว้ในวรรคที่ 98 แต่ศาลไม่ได้แนบแผนที่ประกอบ จึงไม่มีเส้นให้เราเห็น ศาลรับทราบข้อต่อสู้ของไทยว่าเป็นการยากที่ถ่ายทอดเส้นบนแผนที่  1 ต่อ 2 แสนลงบนพื้นที่จริง แต่กรณีนี้ศาลคดีเดิมไม่ได้พิจารณา จึงอยู่นอกอำนาจศาลในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี คู่กรณีต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลในปัจจุบันโดยสุจริต และการถ่ายทอดเส้นบนแผนที่ 1 ต่อ 2 แสนบนแผนที่จริงนี้ ไม่อาจดำเนินการฝ่ายเดียวได้ อันนี้เป็นการตีความวรรคสอง ถือว่าสำคัญที่สุด

ศาลยังตีความอีกประเด็น คือ การเชื่อมโยงวรรคที่สองส่วนที่เหลือของข้อบทปฏิบัติการ ศาลตีความว่า ดินแดนผืนเล็กๆ ที่เป็นบริเวณใกล้เคียงในวรรคที่สองของส่วนข้อบทปฏิบัติการในปี 2505 มีขนาดเท่ากับอาณาบริเวณ ในวรรคที่ 3 และมีขนาดเท่ากับดินแดน ในวรรคที่ 1 ของข้อบทปฏิบัติการ ซึ่งทั้งหมดนี้มีขนาดเท่ากับยอดเขาพระวิหารที่ศาลได้อธิบายไว้ในวรรค 98 ของคำพิพากษาฉบับปัจจุบัน

ประเด็นที่ 7 กรณีที่ศาลเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องวินิจฉัย มี 2 ประเด็น 1.ศาลในคดีเดิมได้กำหนดเส้นเขตแดนระหว่างไทยและกัมพูชาโดยมีผลผูกพันหรือไม่ และ 2.พันธกรณีการถอนกำลังของไทยเป็นพันธกรณีต่อเนื่องตามความหมายของคำขอของกัมพูชาหรือไม่ โดย 2 ประเด็นนี้ศาลไม่เห็นว่ามีความจำเป็นต้องวินิจฉัย

ประเด็นที่ 8 ที่ศาลระบุเพิ่มเติม คือ ศาลระบุว่า ไทยและกัมพูชาต้องร่วมมือกัน และร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศเพื่อปกป้องปราสาทในฐานะที่เป็นมรดกโลก และจำเป็นต้องให้มีทางเข้าถึงปราสาทจากที่ราบในฝั่งกัมพูชา