posttoday

ตำรวจจ่อดำเนินคดีสุเทพปลุกปั่นมวลชน

12 พฤศจิกายน 2556

ตร.จ่อดำเนินคดีกับสุเทพปลุกปั่นมวลชนและประชาชนที่ร่วมหยุดงานจับคนพกอาวุธได้แล้วชี้ชุมนุมไม่ชอบ

ตร.จ่อดำเนินคดีกับสุเทพปลุกปั่นมวลชนและประชาชนที่ร่วมหยุดงานจับคนพกอาวุธได้แล้วชี้ชุมนุมไม่ชอบ

ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รอง ผบช.น. ในฐานะ โฆษก บช.น. แถลงว่า กลุ่มผู้ชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำ ซึ่งได้ประกาศ 4 ข้อ  คือ 1.เชิญชวนให้ประชาชนทุกสาขาอาชีพ หยุดงานในวันที่ 13 – 15 พ.ย. 2556 2.เชิญชวนให้ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ให้ชะลอการเสียภาษี 3. ให้ประชาชนติดธงชาติและสติ๊กเกอร์สัญลักษณ์ธงชาติ และ 4.ให้ประชาชนพกนกหวีดติดตัว หากพบเห็นฝ่ายรัฐบาล ให้เป่านกหวีดขับไล่

การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116  ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน  ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 117  ผู้ใดยุยงหรือจัดให้เกิดการร่วมหยุดงาน เพื่อบังคับรัฐบาล  หรือเพื่อข่มขู่ประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 14,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับประชาชนผู้ที่ทราบความมุ่งหมายดังกล่าวแล้ว ยังเข้ามามีส่วน หรือเข้าช่วยในการร่วมกันหยุดงาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำ   ทั้งปรับ ​​ซึ่งขณะนี้ได้มีการแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ  ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์แล้ว ข้อหา “เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมาย หรือกระทำความผิดอื่น”  โดยรับเป็นคดีอาญาที่ 1380/2556 ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 

นอกจากนี้ กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ซึ่งได้เข้ามาชุมนุมในพื้นที่ห้าม ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ซึ่งเมื่อวันที่ 8 พ.ย. ทาง บช.น. ได้แจ้งให้กลุ่มผู้ชุมนุมออกไปจากพื้นที่ดังกล่าว แต่กลุ่มผู้ชุมนุมก็ไม่ยอมออกไป  และในวันที่ 9 พ.ย. ชุดเจรจาต่อรองของ บช.น.ได้เข้าไปเจรจาให้กลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าวออกไป แต่ปรากฏว่ากลุ่มผู้ชุมนุมก็ยังไม่ยอมออกไป  ทาง บช.น.จึงได้ดำเนินคดีกับแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม 2 คน คือ  นายนิธิธร  ล้ำเหลือ และนายอุทัย ยอดมณี ​​โดยให้มีความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศและข้อกำหนดให้บุคคลเข้าหรือออกในเขตพื้นที่ ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 มาตรา 24 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยได้มีการแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลเลิ้งแล้ว ตามเลขคดีอาญาที่ 760/2556 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2556
​​
“ สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเช้ามืดวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งจุดตรวจ บริเวณแยกเทวกรรม  ได้จับกุมตัวนายแสงชัย นาเหล็ก ตรวจค้นพบอาวุธมีดดาบ จำนวน 1 เล่ม และอาวุธขวาน จำนวน 2 เล่ม ในรถยนต์กระบะ ยี่ห้ออีซูซุ สีดำ ( ติดสติ๊กเกอร์สถาบันแพทย์ฉุกเฉิน -สพฉ. ) ซึ่งรถดังกล่าวไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง ได้ดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนประกาศและข้อกำหนดห้ามนำอาวุธออกนอกเคหสถาน ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ตามคดีอาญาที่ 765/2556 ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556  ซึ่งกรณีนี้จะเห็นได้ว่ากลุ่มผู้ที่เข้ามาร่วมชุมนุมนั้น  ยังมีการพกพาอาวุธเข้ามาในพื้นที่ชุมนุมอยู่ ทำให้การชุมนุมไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” รองผบช.น. กล่าว  
​​