posttoday

ทปอ.แนะทุกฝ่ายแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี

11 พฤศจิกายน 2556

ทปอ.ออกแถลงการณ์ฉบับ2แนะทุกฝ่ายมีสติใช้ปัญญาแก้ปัญหาอย่างสันติวิธีห่วงเกิดความรุนแรง ย้ำนิรโทษกรรมต้องไม่มีเรื่องทิจริตคอร์รัปชั่น

ทปอ.ออกแถลงการณ์ฉบับ2แนะทุกฝ่ายมีสติใช้ปัญญาแก้ปัญหาอย่างสันติวิธีห่วงเกิดความรุนแรง ย้ำนิรโทษกรรมต้องไม่มีเรื่องทิจริตคอร์รัปชั่น

เมื่อวันที่ 11 พ.ย. ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้ประชุมวาระพิเศษเพื่อหารือถึงสถานการณ์บ้านเมือง โดยมี นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)ในฐานะประธานทปอ.,ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล  อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(มศว.), นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.)และ นายกีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) เข้าร่วม

ทั้งนี้ภายหลังการประชุมทปอ.ได้ ออกแถลงการณ์ฉบับที่2 โดยมีเนื้อหาดังนี้

​หลังจากแถลงการณ์ฉบับที่ 1 เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ทปอ. เห็นว่า สถานการณ์ปัจจุบันของประเทศมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วอันอาจนำมาซึ่งความรุนแรง และเมื่อทุกฝ่ายได้แสดงออกชัดเจนแล้วว่าไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรงขึ้นในประเทศไทย ทปอ. จึงขอเสนอว่า 

1.รัฐบาลมีหน้าที่และความรับผิดชอบ ตลอดจนต้องมีความจริงใจในการแก้ปัญหาของประเทศมิให้เกิดความรุนแรง ด้วยการควบคุมหน่วยงานของรัฐและกลไกอื่นให้แก้ปัญหาอย่างสันติวิธี 

2.ให้ทุกฝ่ายแก้ปัญหาด้วยสติและปัญญา หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ เพื่อไม่ให้ประเทศเกิดความบอบช้ำและเพื่อรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขให้พัฒนาต่อเนื่องสถาพรตลอดไป

อย่างไรก็ตาม ทปอ. ยืนยันหลักการในเรื่องการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยเห็นว่า

1. รัฐบาลจะต้องรณรงค์ต่อต้านเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลจะต้องขจัดปัญหาความคลางแคลงใจของประชาชนในเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล

2. รัฐบาลต้องสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนโดยการออกกฎหมายเพื่อกำหนดกรอบการนิรโทษกรรม แต่ต้องไม่รวมถึงการนิรโทษกรรมในประเด็นเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ​ทั้งนี้ ทปอ. จะตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

นายสมคิด กล่าวว่าทปอ.ห่วงสถานการณ์ทางการเมืองอาจยืดเยื้อออกไป เพราะตอนนี้ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลได้ระดมคนมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจจะควบคุมได้ยาก จนทำให้เกิดการปะทะกันและถ้าไปบุกรุกในพื้นที่ควบคุม รัฐบาลอาจใช้กำลังได้ โดยความรุนแรงที่เกิดขึ้นอาจทำให้ประเทศเกิดความบอบช้ำ จึงอยากให้ทุกฝ่ายใช้สติปัญญา เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ด้วยความสงบ 

ทั้งนี้ที่ประชุมมีข้อเสนอที่จะให้ทั้งสองฝ่ายหารือกัน และมีข้อเสนอให้ทปอ.เป็นตัวกลาง  แต่ข้อเสนอของทปอ.ที่ทำอยู่ในปัจจุบันที่ให้ทุกฝ่ายใช้สติปัญญา และสันติวิถี เป็นทางออกที่ดีอยู่แล้ว ส่วนการที่ทั้ง2 ฝ่ายจะไปหารือกันก็เป็นสิ่งที่ดี

นอกจากนี้ สำหรับกรณีที่ที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระบุว่าการที่อธิการบดีออกมาเคลื่อนไหวเป็นการไม่เหมาะสม และเป็นการบังคับให้นักศึกษาและบุคลากรออกมาเรียกร้องโดยไม่ได้สมัครใจนั้น ตนขอยืนยันว่าไม่มีมหาวิทยาลัยใดบังคับนักศึกษา เจ้าหน้าที่  ซึ่งคนที่พูดอาจไม่เข้าใจสถานะที่แท้จริงของอธิการบดี และมหาวิทยาลัย เพราะมหาวิทยาลัยเป็นแหล่งวิชาการที่มีเสรีภาพ ไม่สมารถบังคับใครได้ ประชาชนทุกกลุ่ม นักศึกษา อาจารย์  เจ้าหน้าที่ออกมาเคลื่อนไหวเป็นเรื่องของความสมัครใจทั้งนั้น

สำหรับกระแสข่าวว่ามีดารา นักแสดง นักร้องที่ไปขึ้นเวทีราชดำเนิน เพื่อแสดงจุดยืนและกล่าวปราศรัยโจมตีรัฐบาล จนโดนเช็คบิลเรื่องภาษีนั้น เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในระบบประชาธิปไตย รัฐบาลต้องแสดงความจริงใจในการแก้ปัญหา หากพูดอย่างแล้วทำอีกอย่างคนก็จะไม่เชื่อถือ อย่างไรก็ตาม ทราบว่าเรื่องนี้ขยายวงไปถึงบรรดาอธิการบดีและสภามหาวิทยาลัยที่ใครออกมาแสดงการคัดค้าน ก็ถูกนำไปขึ้นป้ายบอกว่าท่านใดอยู่ที่ไหน

"แม้ว่ารัฐบาลจะมีการลงนามในสัตยาบรรณร่วมกันที่จะไม่นำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กลับมาพิจารณาอีก แต่ทปอ.ก็ยังไม่ไว้วางใจใคร เพราะไม่มีใครไว้วางใจได้ในสังคม และที่ผ่านมามีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่า รัฐบาลบอกจะไม่แก้ไขในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่ก็มีการแก้ไข ดังนั้น ทปอ.ได้ตั้งคณะทำงาน เพื่อติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งสถานการณ์ของประเทศ และการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยมีอธิการบดีมหาวิทยาลัย 9 แห่ง ได้แก่ มธ. จุฬาฯ มศว. มม. มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  และมวล."นายสมคิดกล่าว

นพ.ภิรมย์  กล่าวว่า หวั่นว่าสถานการณ์จะบานปลายไปสู่ความรุนแรง เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีความคิดเห็นของตนเอง  อย่างไรก็ตามหากเราสามารถก้าวผ่านจุดวิกฤตตรงนี้ไปได้ ประเด็นสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการคือปฏิรูปการเมือง อย่างเช่นเรื่องการออกกฎหมายโดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก  หรืออาจจะต้องลงไปดูถึงเรื่องการเลือกตั้งส.ส. ซึ่งตอนนี้กลายเป็นเรื่องการสร้างความเข้มแข็งให้กับพรรคการเมือง โดยการสร้างความเข้มแข็งให้กับพรรคการเมือง แต่ก็ทำให้ส.ส.ขาดอิสระ ซึ่งก็อาจจะต้องมาทบทวนข้อดีข้อเสีย ทุกฝ่ายจะต้องมาช่วยกันหาระบบที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย และยืนยันว่า ที่ผ่านมา การแสดงออกทางการเมืองของนิสิต และบุคลากร สามารถทำได้ตามขอบเขตของกฎหมาย

นพ.เฉลิมชัย  บุญยะลีพรรณ  กล่าวว่า ขณะนี้แม้ว่ารัฐบาลทำสัตยาบันว่าจะไม่หยิบร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ออกมาพิจารณาอีก แต่ประชาชนบางส่วนก็ยังไม่เชื่อใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยาก ดังนั้นขอให้รัฐบาลใช้เครื่องมือและกลไกที่มีเพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดความรุนแรง ส่วนอนาคตต้องออกกฎหมายว่าต่อไป การนิรโทษกรรมในอนาคต ไม่ให้นิรโทษกรรมเรื่องทุจริตคอรัปชั่น แต่นิรโทษกรรมในเรื่องอื่น ๆ ได้ เพราะยังมีคนอีกมากที่อยู่ในเรือนจำที่ได้รับความเดือนร้อนและจำเป็นต้องได้รับการนิรโทษกรรม

“ในแถลงการณ์ของทปอ. บอกชัดเจนว่า รัฐบาลต้องปฏิบัติกับผู้ชุมนุมทั้งสองกลุ่มเหมือนกัน  ทั้งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยและฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น การเคลื่อนการชุมนุม การดูแลความปลอดภัย รวมทั้งขอความร่วมมือผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่ายอย่าเคลื่อนเข้ามาใกล้กันในทางกายภาพ ซึ่งขณะนี้ดีแล้วที่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่อยู่ใกล้กัน เพราะอาจจะเกิดการยั่วยุนำไปสู่ความรุนแรงได้ และต่อไปหากสถานการณ์รุนแรงขึ้นก็อาจจะต้องมีสานเสวนาระหว่างสองฝ่ายเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจ เหมือนเช่นตอนเหตุการณ์ชุมนุมที่ราชประสงค์ แต่ไม่ควรออกสื่อ โดยมีคนกลางที่ได้รับความเชื่อถือจากทั้งสองฝ่าย และรัฐบาลต้องอำนวยความสะดวกให้เกิดความเรียบร้อย”นายเฉลิมชัยกล่าว