posttoday

46องค์กรรวมพลังสร้างสุขภาวะชุมชน

30 ตุลาคม 2556

ภาคี46องค์กรขานรับยุทธศาสตร์ชุมชนเข้มแข็งเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่6 รวมพลังสร้างสุขภาวะชุมชน

ภาคี46องค์กรขานรับยุทธศาสตร์ชุมชนเข้มแข็งเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่6 รวมพลังสร้างสุขภาวะชุมชน

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีรับฟังความเห็นกำหนดเป็นระเบียบวาระการประชุมของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 6 พ.ศ.2556 วันที่ 18-20  ธันวาคมนี้ ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ (UNCC) กรุงเทพมหานคร ภายใต้แนวคิด "สานพลัง สร้างสุขภาวะชุมชน"  โดยเชิญผู้แทนจาก 234 กลุ่มภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพจำนวน 77 จังหวัด พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และเครือข่ายวิชาชีพเข้าร่วม จำนวนกว่า 450 คน โดยมี นางกรรณิการ์ บรรเทิงจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวต้อนรับ

รศ.ดร.ดรุณี รุจกรกานต์ ประธานอนุกรรมการวิชาการ กล่าวว่า กระบวนการรับฟังความคิดเห็นเอกสารร่างมติเชิงนโยบายครั้งนี้ ช่วยให้ยุทธศาสตร์ที่จะเสนอต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมีความสมบูรณ์และนำไปสู่ภาคปฏิบัติได้อย่างแท้จริง โดยในปีนี้มีผู้นำเสนอวาระที่สำคัญจำนวนทั้งสิ้น 40 หัวข้อ จาก 35 ภาคีเครือข่าย คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ได้พิจารณากลั่นกรองประเด็น เรียงลำดับความสำคัญเร่งด่วน ความรุนแรงของปัญหา รวมทั้งประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชนเหลือประเด็นอยู่ทั้งสิ้น 8 เรื่อง ประกอบด้วย

1. แผนยุทธศาสตร์ร่วมแห่งชาติ ว่าด้วยระบบสุขภาวะชุมชน
2. แผนยุทธศาสตร์ การจัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายของยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพทางวิทยุกระจายเสียง สื่อโทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต
3. ระบบการจัดอาหารในโรงเรียน
4. นโยบายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน
5. การกำกับดูแลสื่อในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสุราและยาสูบ
6. กรอบการดำเนินงาน ติดตาม ประเมินผล การป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อระดับชาติ
7. การสร้างความร่วมมือระหว่างสาขาในการดูแลสุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน
8. ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ การป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ
       
ประเด็นหลักที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือ ร่างยุทธศาสตร์ร่วมว่าด้วยการสนับสนุนชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาร่างยุทธศาสตร์ฯ กล่าวว่า ปัจจุบันมีหน่วยงานรัฐและองค์กรต่างๆที่มีบทบาทสนับสนุนชุมชน พร้อมเข้าร่วมลงนามเป็นภาคีเครือข่ายแล้วไม่น้อยกว่า 46 หน่วยงาน  หลังจากนี้จะมีการรวมเป้าหมายและโครงการเพื่อสร้างกลไกความเป็นเจ้าของยุทธศาสตร์ร่วมกัน โดยมีชุมชนเป็นศูนย์กลางในการสร้างความเข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกันนโยบายที่จะสร้างความอ่อนแอ และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชุมชนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้กลไกการจัดการร่วม 3ระดับ ทั้งกลไกปฏิบัติการที่"ตำบล" สำหรับการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นแบบดั้งเดิม  กลไกระดับ"จังหวัด" และกลไกในระดับ"ชาติ" พร้อมเปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหน่วยงานภาคีเป็นประจำทุก 1-2 เดือน 
     
นอกจากนั้นยังกำหนดระยะเวลาชี้วัดองค์กรชุมชนเข้มแข็ง โดยตั้งเป้าหมายอย่างน้อยสองในสามขององค์กรชุมชนทุกรูปแบบ ทุกเครือข่าย ที่ประชุมมีข้อเสนอให้สร้างความเข้มแข็งในเชิงคุณภาพภายใน  5 ปี เร็วขึ้นจากเดิมที่กำหนดไว้  10ปี เพื่อให้การทำงานร่วมกันมีความกระชับมากขึ้น