posttoday

อดีตหัวหน้าก๊อตอาร์มี่ร้องสภาทนายความช่วยตามญาติ

04 ตุลาคม 2556

ลูเธอร์อดีตหัวหน้ากองกำลังก๊อตอาร์มี่ ร้องสภาทนายความช่วยตามหาญาติ 55 คน หลังเหตุการณ์ทหารบุกยึดฐานที่มั่นของกะเหรี่ยงก๊อดอาร์มี่เมื่อกว่า 13 ปี

ลูเธอร์อดีตหัวหน้ากองกำลังก๊อตอาร์มี่ ร้องสภาทนายความช่วยตามหาญาติ 55 คน หลังเหตุการณ์ทหารบุกยึดฐานที่มั่นของกะเหรี่ยงก๊อดอาร์มี่เมื่อกว่า 13 ปี

เมื่อวันที่ 4 ต.ค. เวลา 11. 00 น.  ที่สภาทนายความ นายลูเธอร์ ทู อายุ  25  ปี  พี่ชายนายจอนนี่ 2 เด็กแฝด อดีตหัวหน้ากองกำลังกะเหรี่ยงก๊อตอาร์มี่  พร้อมนายวุฒิ  บุญเลิศ   ที่ปรึกษาประธานเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตภาคกลางตะวันตก  นายเกรียงไกร  ชีช่วง  เลขาเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ทำหนังสือยื่นกับนายสุรพงษ์ กองจันทึก กรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ เพื่อขอให้รับเรื่องและตรวจสอบชาวกะเหรี่ยงที่สูญหาย ในเหตุการณ์ทหารบุกยึดฐานที่มั่นของกะเหรี่ยงก๊อดอาร์มี่เมื่อกว่า 13 ปี    

ทั้งนี้   นายวุฒิ   ได้เป็นล่ามแปลภาษาให้กับนายลูเธอร์ว่า  ได้รับการร้องขอจากครอบครัวผู้สูญหายให้ช่วยติดตามหาญาติและเพื่อนที่สูญหายไปเมื่อ 13 ปีก่อนด้วย  จึงทำหนังสือผ่านทางเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เพื่อร้องถึงกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ  ให้ช่วยรับเรื่องและติดตามหาคนที่สูญหาย เพราะอยากรู้ว่าคนที่สูญหายไป  55 คน อยู่ที่ไหน  เสียชีวิตหรือไม่

"ตอนนี้ผมไม่รู้ว่า พวกเขาอยู่ที่ไหนกัน แต่ก็มีคนเห็นทหารไทยจับคนเหล่านั้นไป  ครอบครัวของคนเหล่านั้นอยู่ในประเทศไทย  มีอยู่ทั่วไป เช่น บ้านต้นยาง  ถ้ำหิน  เป็นผู้อพยพ เหตุที่ต้องลุกมาเรียกร้องคือ  ในโลกนี้มีกฎระเบียบและกฎหมายคนหนึ่งจะหายไปได้ต้องมีการชี้แจง"นายลูเธอร์ กล่าวผ่านล่าม

นายวุฒิ กล่าวแปลต่อว่า ลูเธอร์คาดหวังว่าจะได้รับการดูแลรักษา  เพราะว่าญาติพี่น้องของเขาก็ยากจนลำบาก  เหตุการณ์นี้มีความสัมพันธ์กับรัฐไทยและรัฐพม่าที่เกิดขึ้น  ถ้าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทยได้รับเรื่องไว้ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยคนสูญหาย  ก็จะเป็นประเด็นกรณีศึกษาสำหรับกลุ่มประเทศอาเซียนกรณีที่มีปัญหาอย่างนี้เกิดขึ้น  

ด้านนายสุรพงษ์ กล่าวว่า ในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ในเบื้องต้นจะรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวตามขั้นตอน หลังจากนี้ก็จะมีการตรวจสอบตามขั้นตอนการทำงานก่อนจะเสนอกรรมการฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายต่อไป เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นข้องเกี่ยวกับความมั่นคงจึงต้องตรวจสอบข้อมูลอย่างถูกต้อง หลักฐานที่มอบให้กับสภาทนายความนั้นมีรายชื่อผู้สูญหายทั้งหมด 55  รายชื่อ ซึ่งบุคคลเหล่านี้เข้ามาหลบอยู่ในประเทศไทยในฐานะผู้ลี้ภัย