posttoday

ดีเอสไอพบรฟท.เอื้อเอกชนเช่าที่สัมปทาน

02 ตุลาคม 2556

ดีเอสไอชี้การรถไฟต่อสัมปทานเอกชนรัฐเสียหายโยนปปช. ฟันคดี พบข้อพิรุธเจ้าหน้าที่รฟท.มีเอี่ยว

ดีเอสไอชี้การรถไฟต่อสัมปทานเอกชนรัฐเสียหายโยนปปช.ฟันคดี พบข้อพิรุธเจ้าหน้าที่รฟท.มีเอี่ยว

เมื่อวันที่ 2 ต.ค. นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผย กรณีการต่อสัญญาระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย กับบริษัทยูไนติค โกลเบิล เอเยนซี คู่สัญญากับการรถไฟ เพื่อจัดทำตลาดสดและลานจอดรถพร้อมสาธารณูปโภคในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยสาขาธนบุรี  โดยสิ้นสุดสัญญาไปแล้ววันที่ 19 ตุลาคม 2552 ในระหว่างสัญญาเช่าการรถไฟฯ ได้ขอพื้นที่บางส่วนคืน เป็นเหตุให้บริษัทฯได้รับความเสียหาย จึงยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการรถไฟโดยศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาให้การรถไฟฯชำระค่าเสียหายให้กับบริษัทฯจำนวน 50.5 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จ เป็นเหตุให้ต่างฝ่ายต่างยื่นฎีกาและอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา

ต่อมา สัญญาเช่าครบกำหนด บริษัทฯยังคงครอบครองและทำประโยชน์ต่อเนื่องในพื้นที่เช่า และได้แจ้งความประสงค์ขอต่อสัญญาพื้นที่เช่าโดยเสนอเงื่อนไขพร้อมทั้งราคาที่ประสงค์จะขอเช่า ระยะเวลาการขอเช่า พร้อมกับจะพัฒนาปรับปรุงพื้นที่เช่า และมีการเจรจาหลายครั้ง จนได้ข้อสรุปว่า ที่ประชุมคณะกรรมการรถไฟได้มีมติให้ต่อสัญญาเช่าพื้นที่การรถไฟให้กับบริษัทฯ

ทั้งนี้ พบข้อพิรุธว่าเจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทยได้แจ้งเรื่องการต่ออายุสัญญาเช่าตลาดรถไฟธนบุรีให้บริษัทฯทราบ โดยไม่ปรากฏเงื่อนไขให้บริษัทฯถอนฟ้องหรือประนีประนอมยอมความกับการรถไฟก่อน ทั้งการลงนามต่อสัญญาเช่าพื้นที่การรถไฟก็ไม่ปรากฏชื่อบุคคลที่ทำการแทนหรือเป็นผู้แทนของบริษัทฯ มีเพียงแต่ลายมือชื่อและตราประทับของบริษัทเท่านั้น ส่อในทางไม่สุจริตและเร่งรีบเกินควร

นอกจากนี้ จากการสืบสวนพบว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวนั้นเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนมีสิทธิเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐเป็นเหตุให้รัฐได้รับความเสียหาย โดยเมื่อทำสัญญาไปแล้วเป็นเหตุให้รัฐเสียเปรียบ เนื่องจากไม่มีหลักฐานหรือข้อผูกพันให้บริษัทฯถอนฟ้องหรือประนีประนอมยอมความกับการรถไฟแห่งประเทศไทย แม้ว่าจะปรากฏภายหลังว่าบริษัทฯได้ทำการถอนฟ้องหรือประนีประนอมยอมความกับการรถไฟแห่งประเทศไทยในภายหลังก็ตาม

“ซึ่งเข้าข่ายการความผิดมาตรา 11 และมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และมาตรา 157  ซึ่งอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 จึงส่งสำนวนการสืบสวนเรื่องดังกล่าวไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง” อธิบดี ดีเอสไอ กล่าว