posttoday

เผยกิจกรรมชลประทานทำลายป่ามากสุด2.1ล้านไร่

01 ตุลาคม 2556

นักวนศาสตร์เผยกิจกรรมชลประทานทำลายป่ามากสุด 2.1 ล้านไร่ ชี้ปลูกทดแทนใช้เวลานานนแนะสำรวจผลกระทบแม่วงก์อย่างรอบคอบ

นักวนศาสตร์เผยกิจกรรมชลประทานทำลายป่ามากสุด 2.1 ล้านไร่ ชี้ปลูกทดแทนใช้เวลานานนแนะสำรวจผลกระทบแม่วงก์อย่างรอบคอบ

นายขวัญชัย ดวงสถาพร คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า จากที่รัฐบาลปัจจุบันกำหนดยุทธศาสตร์ประเทศและนโยบายป่าไม้แห่งชาติ รวมถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 กำหนดเป้าหมายพื้นที่ป่าไม้ของประเทศให้ได้ 40% ของพื้นที่ประเทศ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันขนาดพื้นที่ป่าของไทยยังน้อยกว่าเป้าที่กำหนดไว้ประมาณ 20.7 ล้านไร่ และภาพรวมการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าตั้งแต่ปี 2516-2552 พบว่า ในช่วงระยะเวลา 36 ปี พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยลดลง 30.9 ล้านไร่ หรือลดลงเฉลี่ย 8.5 แสนไร่/ปี

นายขวัญชัย ให้ข้อมูลว่าจากการวิเคราะห์กิจกรรมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับอนุญาตจากรัฐที่มีผลทำให้พื้นที่ป่าไม้ของประเทศลดลง 8 อันดับแรก พบว่า กิจกรรมการชลประทาน จัดเป็นกิจกรรมอันดับหนึ่งที่ใช้พื้นที่ป่ามากที่สุด และมีผลกระทบต่อการลดลงของพื้นที่ป่าของประเทศอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติ โดยใช้พื้นที่ป่าทั้งหมดประมาณ 2.1 ล้านไร่ ดังนั้นหากรัฐยังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีผลกระทบต่อพื้นที่ป่าไม้ก็จะทำให้การบรรลุเป้าหมายของการมีพื้นทึ่ป่า 40% ของพื้นที่ประเทศห่างไกลจากเป้าหมายที่รัฐเป็นผู้กำหนดเอง

นอกจากนี้ แม้ว่าทรัพยากรป่าไม้จะเป็นทรัพยากรที่สามารถทดแทนได้แต่ก็ใช้เวลายาวนานกว่าที่จะทำให้ป่าไม้มีโครงสร้างเหมือนป่าธรรมชาติ เช่น จากข้อมูลการวิจัยเกี่ยวกับการเติบโตของไม้สักในพื้นที่ภาคเหนือ พบว่าไม้สักใช้เวลาเติบโตจนถึงขนาดเส้นรอบวง 100 ซม. ใช้เวลาเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 60 ปี ไม้ตะแบกเปลือกบาง ใช้เวลาเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 86 ปี ดังนั้นการที่จะฟื้นฟูป่าโดยการปลูกทดแทนต้องใช้เวลาที่ยาวนานมากกว่าจะได้ป่าที่มีโครงสร้างใกล้เคียงป่าธรรมชาติ

นายขวัญชัย กล่าวว่า การประเมินผลกระทบต่อทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าควรจะต้องใช้เทคนิคการสำรวจที่เหมาะสมและประณีตมากขึ้น เนื่องจากเป็นเขตเปราะบางทางธรรมชาติและครอบคลุมพื้นที่ ทั้งพื้นที่ป่าแม่วงก์และพื้นที่ใกล้เคียงเนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นมีความเชื่อมโยงกันทั้งระบบนิเวศ การที่จะประเมินผลกระทบจำเป็นต้องรวบรวมข้อมูลตัวอย่างให้ครอบคลุมทุกสภาพในระบบนิเวศป่าไม้นั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและงบประมาณ

กิจกรรมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้พื้นที่ป่าไม้ลดลง 8 อันดับแรก ระหว่างปี 2516-2555

1.กิจกรรมการชลประทาน 2,180,692 ไร่

2.กิจกรรมการสร้างทาง 778,388 ไร่

3.กิจกรรมการเหมืองแร่ 482,056 ไร่

4.กิจกรรมการไฟฟ้า 371,236 ไร่

5.กิจกรรมการโทรคมนาคม 21,886 ไร่

6.กิจกรรมการขุดดิน ทราย 10,058 ไร่

7.กิจกรรมระเบิดและย่อยหิน 904 ไร่

8.กิจกรรมการปิโตรเลียม 325 ไร่