posttoday

ไทย-พม่าผุด4จังหวัดแฝดคุมโรคติดต่อ

20 กันยายน 2556

สาธารณสุขไทย-พม่าลงนามเอ็มโอยู ผุด 4 จังหวัดแฝดคุมโรคติดต่อ-แก้ปัญหาสุขภาพ

สาธารณสุขไทย-พม่าลงนามเอ็มโอยู ผุด 4 จังหวัดแฝดคุมโรคติดต่อ-แก้ปัญหาสุขภาพ

นพ.ประดิษฐ  สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข และนายพี เธท คิน (Prof. Pe Thet Khin) รมว.สาธารณสุขของพม่า ร่วมประชุมความร่วมมือด้านสาธารณสุขไทย–พม่า ที่โรงแรมมัณฑะเลย์ ฮิล รีสอร์ท  เมืองมัณฑะเลย์ โดยมีผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการจากกระทรวงสาธารณสุข 2 ประเทศ ร่วมประชุม 60 คน ในการหารือครั้งนี้ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ด้านสาธารณสุข เพื่อแก้ปัญหาสาธารณสุขระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรก

การลงนามดังกล่าว มีความร่วมมือใน 7 สาขา ได้แก่ 1.การเฝ้าระวังโรค  2.การควบคุมมาตรฐานอาหารและยา  3. การแพทย์พื้นบ้าน 4. การควบคุมผลิตภัณฑ์ยาและเครื่องสำอาง 5. การควบคุมโรคติดต่อและโรคติดต่ออุบัติใหม่ โดยเฉพาะโรคระบาดข้ามเขตแดน 6. การส่งเสริมสุขภาพ 7.การพัฒนาระบบบริการสุขภาพสำหรับแรงงานต่างด้าวและประชากรข้ามพรมแดน

ทั้งนี้ ในเอ็มโอยูระบุถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูล การพัฒนาบุคลากร เช่น การฝึกอบรม การศึกษาดูงาน  และการศึกษาวิจัยร่วมกัน โดยจัดทำแผนปฏิบัติการร่วม ตามข้อตกลงดังกล่าวระหว่างปี 2556-2558  ก่อนเปิดประชาคมอาเซียนในปี 2558  โดยจะใช้งบประมาณของแต่ละประเทศและเงินสนับสนุนจากองค์กรและหน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น กองทุนโลกเพื่อต่อสู้โรคเอดส์ กองทุนวัณโรคและมาลาเรียสนับสนุน

นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แผนปฏิบัติการ ประกอบด้วย การเฝ้าระวังโรคและการป้องกันควบคุมโรคติดต่อชายแดน โดยเฉพาะโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในพื้นที่ชายแดน รวมทั้งโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ จะเฝ้าระวังเชื้อเอดส์ มาลาเรีย และวัณโรค และการจัดตั้งห้องปฏิบัติการอาหารและยาขนาดย่อยเพื่อตรวจสอบและเฝ้าระวังยาปลอมและยาที่ไม่ได้มาตรฐาน 4 แห่ง ที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก เมียวดี ทวาย และเกาะสอง  การซ้อมแผนรับมือโรคระบาดและภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข การพัฒนาระบบรักษาพยาบาลและการส่งต่อผู้ป่วยข้ามพรมแดน โดยเน้นการพัฒนาการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของกลุ่มแรงงานต่างด้าวและประชากรข้ามเขตแดน

นอกจากนี้ จะจัดให้มีหลักประกันสุขภาพที่เหมาะสม เช่น บัตรประกันสุขภาพ โดยตั้งเป้าไว้ว่าผู้ป่วยวัณโรคหายขาด ต้องเพิ่มขึ้นจาก 85% เป็น 90% รวมทั้งพัฒนาบุคลากรสาธารณสุขของทั้ง 2 ประเทศ และอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว   ใน 4 จังหวัดคู่แฝด ได้แก่ จ.เชียงรายกับ จ.ท่าขี้เหล็ก  จ.ตาก และ จ.เมียวดี จ.กาญจนบุรีและ จ.ทวาย และ จ.ระนองกับเกาะสอง  โดยมีกรมควบคุมโรครับผิดชอบหลัก และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพร่วมดำเนินการ  

สาขาการแพทย์พื้นบ้านและสมุนไพร จะเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูล การพัฒนาบุคลากร เช่น การแลกเปลี่ยนศึกษาดูงานของบุคลากรสาธารณสุขและนักศึกษาด้านการแพทย์พื้นบ้าน  การพัฒนาระบบการควบคุมคุณภาพและการผลิตสมุนไพรให้ได้มาตรฐานจีเอ็มพี  การศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาและควบคุมคุณภาพยาสมุนไพร  โดยมีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นหน่วยงานหลัก

สาขาอาหาร ยาและเครื่องสำอาง จะเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านระเบียบและกฎหมายอาหารและยา การพัฒนาบุคลากร โดยการฝึกอบรมและการแลกเปลี่ยนศึกษาดูงานของบุคลากร มีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นหน่วยงานหลัก    สำหรับสาขาการส่งเสริมสุขภาพ   จะมุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพนักเรียน วัยรุ่นและผู้สูงอายุ  รวมทั้งการส่งเสริมด้านโภชนาการ จะมีการฝึกอบรมและแลกเปลี่ยนศึกษาดูงาน โดยมีกรมอนามัยเป็นหน่วยงานหลัก 

ที่ผ่านมาประเทศไทยมีความร่วมมือกับสหภาพพม่า เพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุขชายแดนมาตั้งแต่พ.ศ. 2543 เน้นหนักเรื่องโรคมาลาเรีย เอดส์ วัณโรค  พบว่ามีพัฒนาการดีขึ้นเป็นลำดับ  โดยมีประชากรพม่าอาศัยตามแนวชายแดนประมาณ 1 ล้าน 6 แสนคน  มีพื้นที่ติดต่อกับไทย 16 จังหวัด(Township) ใน 4 รัฐ ได้แก่ รัฐฉาน (Shan) คะยา(Kayah) คะยิน (Kayin) มอญ (Mon) และเขตทะนินทะยี (Tanintharyi)  มีโรงพยาบาลของพม่าอยู่ที่ชายแดน 2 แห่ง และคลินิก 1 แห่ง ขณะนี้คาดว่าจะมีชาวพม่าประกอบอาชีพในประเทศไทย กว่า 1 ล้านคน 

จากการเฝ้าระวังการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มประชากรพม่าในประเทศไทยล่าสุดในปี 2555  พบอัตราการติดเชื้อร้อยละ 1  ลดลงจากร้อยละ 1.22 ในปี 2553  ส่วนโรคมาลาเรียชายแดนไทย-พม่า  ในภาพรวมมีแนวโน้มลดลง โดยในกลุ่มคนไทยลดจาก 14,431 รายในปี 2553  เหลือ 9,600  ราย ในปี 2555   ในกลุ่มชาวต่างชาติลดจาก 19,283  ราย เหลือ 8,367 ราย  จังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยมาลาเรียสูงสุดได้แก่ ตาก กาญจนบุรี และแม่ฮ่องสอน

สำหรับวัณโรคนั้น ในปี 2554 พบผู้ป่วยวัณโรคในกลุ่มต่างด้าว 2,268 ราย และมีปัญหาเชื้อดื้อยาร้อยละ 1-4  ส่วนคนไทยพบปัญหาเชื้อดื้อยาร้อยละ 1.7  และจากรายงานผลการตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวพม่า พบอัตราการติดเชื้อวัณโรคประมาณร้อยละ 0.2