posttoday

ภาพถ่ายด้วยหัวใจ แบ่งปันสีสันสู่ผู้พิการสายตา

14 กันยายน 2556

เมื่อเราได้ยินครั้งแรกว่ามีโครงการสอนนักเรียนตาบอดถ่ายภาพ เชื่อว่าคำถามแรกในใจทุกคนก็คือแล้วเขาจะเห็นภาพที่ตัวเองถ่ายได้อย่างไร ถ่ายแล้วได้อะไร

โดย...โยธิน อยู่จงดี ภาพ Pict4all

เมื่อเราได้ยินครั้งแรกว่ามีโครงการสอนนักเรียนตาบอดถ่ายภาพ เชื่อว่าคำถามแรกในใจทุกคนก็คือแล้วเขาจะเห็นภาพที่ตัวเองถ่ายได้อย่างไร ถ่ายแล้วได้อะไร แต่วันนี้เราอยากจะให้คุณเปิดใจให้กว้างแล้วลืมทุกข้อจำกัดทางกายภาพ เพราะเวลานี้โลกของการถ่ายภาพไม่ได้เปิดกว้างแค่คนตาดี ผู้พิการทางสายตาก็สามารถถ่ายภาพได้ด้วยความช่วยเหลือของกลุ่มครูอาสาสอนถ่ายภาพให้คนตาบอด กลุ่มนักถ่ายภาพใจดีที่อยากแบ่งปันสีสันของโลกใบงามสู่น้องๆ ผู้พิการทางสายตา ให้ได้เห็นโลกสีเขียวก่อนแสงสุดท้ายจะดับลงอย่างถาวร

โครงการสอนนักเรียนตาบอดถ่ายภาพ อันเป็นเรื่องราวแสนแปลกประหลาดในสายตาคนปกตินี้ เริ่มต้นจาก นพดล ปัญญาวุฒิไกร ประธานกลุ่มโครงการสอนนักเรียนตาบอดถ่ายภาพ เล่าว่าเขาได้ยินเรื่องคนตาบอดถ่ายภาพมาตั้งแต่ครั้งที่ ธวัช มะลิลา อาจารย์สอนถ่ายภาพของเขาบอกว่าที่ต่างประเทศมีการสอนให้คนตาบอดถ่ายภาพได้ พอมีงานเวิร์กช็อปในงานนิทรรศการภาพถ่ายของคนตาบอดอิสราเอลในกรุงเทพฯ จึงจุดประกายความคิดเรื่องการสอนคนตาบอดให้ถ่ายภาพขึ้นมา

ภาพถ่ายด้วยหัวใจ แบ่งปันสีสันสู่ผู้พิการสายตา

 

แต่ทว่าหนทางก็ไม่ได้ง่ายนัก นพดล สอบถามไปถึงคุณครูสอนถ่ายภาพคนตาบอดชาวต่างชาติ ก็ไม่มีใครให้คำตอบกับเขาสักคนว่าจะสอนให้คนตาบอดถ่ายภาพได้อย่างไร ทุกคนต่างบอกว่าเรื่องนี้เป็นความลับ เขาจึงคิดว่าทำไมถึงเป็นความลับ ทำให้คนด้อยโอกาสต้องไร้โอกาสในการเข้าถึงภาพถ่ายเพิ่มขึ้นมาอีกเขาจึงลงมือเรียนรู้การเป็นคนตาบอดเองเสีย

ด้วยการปิดตาและใช้ชีวิตอย่างคนตาบอดที่พยายามถ่ายภาพ เพื่อเรียนรู้ข้อจำกัดของคนตาบอดว่าเขาสามารถทำอะไรได้บ้าง เขาค้นพบว่าคนตาบอดแม้จะมองไม่เห็นวัตถุ แต่พวกเขาก็สามารถกำหนดระยะของวัตถุจากการเอื้อมสัมผัสด้วยมือและไม้ รู้ตำแหน่งซ้าย ขวา บนล่างหรือตรงกลาง ระหว่างตัวเขากับผู้ถูกถ่ายภาพด้วยการฟังเสียง

พวกเขาจะใช้ความรู้สึกทางกายภาพทั้งหมดเข้ามาทดแทนสายตา ช่างภาพมืออาชีพอย่างนพดล จึงใช้คุณลักษณะนี้มาประยุกต์ใช้ในการถ่ายภาพของเขา ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องบอกว่าพวกเขาต้องใช้หัวใจถ่ายภาพกันจริงๆ

เมื่อได้วิธีสอนถ่ายภาพให้คนตาบอดแล้ว จึงจัดตั้งกลุ่มผู้ที่สนใจสอนคนตาบอดให้ถ่ายภาพขึ้นมา และเปิดหลักสูตรอบรมอาสาสมัครให้พวกเขาเรียนรู้วิธีการสอนถ่ายภาพให้นักเรียนตาบอดอย่างถูกต้อง และแน่นอนว่าครูอาสาเหล่านี้ก็ต้องปิดตาเพื่อให้รู้ว่าโลกไร้กับการถ่ายภาพนั้นมีความรู้สึกอย่างไร

สุพรรษา ลายเมฆ โปรดิวเซอร์ รายการข่าวมันนี่ชาแนล หนึ่งในครูอาสาเล่าถึงการเข้ามาทำกิจกรรมอาสาสมัครในโครงการสอนนักเรียนตาบอดถ่ายภาพว่า ได้เห็นข่าวเปิดรับสมัครครูอาสาสอนเด็กตาบอดในเฟซบุ๊กเมื่อตอนกลางปี พ.ศ. 2555 จึงสนใจเข้าร่วมกิจกรรมอย่างไม่ลังเลเพราะส่วนตัวก็เป็นคนที่ชอบทำกิจกรรมอาสาสมัครอยู่แล้ว

ภาพถ่ายด้วยหัวใจ แบ่งปันสีสันสู่ผู้พิการสายตา

 

แต่สิ่งที่เราค้นพบจากการสอนนักเรียนตาบอดก็คือการเรียนรู้โลกที่แตกต่างออกไป เปลี่ยนทัศนคติและมุมที่มีต่อโลกและต่อผู้คน ว่าเราไม่สามารถตัดสินใครได้จากสายตา เราจะไม่ตัดสินคนอื่นด้วยความเคยชิน

ในการอบรมอาสาสมัครทุกคนจะต้องปิดตาเพื่อใช้ประสาทสัมผัสทั้งหมดที่มีอยู่ซึ่งเป็นเรื่องที่ลำบากเหมือนกัน แต่สำหรับที่เป็นคนตาดีมาก่อน ก็พอจะคาดคะเนได้ว่าสิ่งที่เราจะถ่ายมีรูปร่างหน้าตาสีสันอย่างไร แต่สำหรับเด็กที่พิการทางสายตาแต่กำเนิด จะเป็นเรื่องยากมากสำหรับเขา

พอถึงขั้นตอนการสอนเด็กๆ จะเป็นการสอนแบบประกบตัวต่อตัว ครูหนึ่งคนจะต้องดูแลน้องเพียง 1 คนเท่านั้น เพื่อสอนและดูแลได้อย่างเต็มที่ โดยสอนให้เขารู้จักพื้นฐานการใช้กล้องคอมแพค การเล็งถ่ายภาพให้ตรงจุด แต่ก็จะแบ่งไปอีกว่าน้องๆ ที่เราสอนถ่ายภาพนั้นเป็นตาบอดประเภทไหน เช่นตาบอดสนิท หรือตาบอดประเภทเลือนราง ถ้าตาบอดสนิทก็จะไม่เห็นเลย เวลาที่ให้เขาดูผลงานภาพถ่ายของตัวเองเราจะต้องให้เขาเอามือสัมผัสที่หน้าจอและบอกว่ารูปถ่ายของเขาเป็นอย่างไร

แต่สำหรับเด็กตาบอดชนิดเลือนราง จะพอเห็นเป็นแสงอยู่บ้างแต่จะเห็นเป็นรูปร่างสีสันไม่ชัดเจนนัก ต้องมองใกล้ถึงจะเห็น การถ่ายภาพของเด็กตาบอดชนิดเลือนราง เขาจะใช้ตาแนบกับจอแอลซีดีหลังกล้องคอมแพค

ตรงเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะช่วยให้พวกเขาเห็นภาพของสถานที่ที่อยู่ตรงหน้าพวกเขา ว่ามีลักษณะอย่างไร เวลาที่พวกเขาไปทะเล เขาจะรู้ถึงเสียงคลื่น ลม สัมผัสของเม็ดทราย แต่จะไม่เห็นว่าฟองคลื่นนั้นหน้าตาอย่างไรเด็กเหล่านี้ก็จะยกกล้องขึ้นมาถ่ายแล้วมองภาพผ่านจอแอลซีดี ซึ่งจะทำให้พวกเขาเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น

น้องๆ ที่ตาบอดสนิทก็สามารถถ่ายภาพให้คนที่บ้านได้เห็นว่าเขาได้ไปเจออะไรมา แล้วเอามาเล่าสู่กันฟัง กลับมาเขียนบันทึกอักษรเบลล์ถึงเรื่องราวที่เขาได้พบเจอ

ส่วนอาสาสมัครเองก็ได้เรียนรู้ว่าเราไม่ควรคาดหวังกับสิ่งใดมากเกินไป ต้องใจเย็นและอดทนปรับความเข้าใจให้ตรงกันระหว่างครูและเด็ก

จนถึงวันนี้ตั้งแต่ก่อตั้งโครงการสอนเด็กตาบอดถ่ายภาพ มีเด็กตาบอดได้เรียนรู้ด้านการถ่ายภาพไปแล้วกว่า 300 คนทั่วประเทศ และโครงการสอนนักเรียนตาบอดถ่ายภาพนี้ก็ยังต้องการอาสาสมัครรุ่นใหม่ๆ ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก blindphotographer.thailand ซึ่งจะมีประกาศการจัดอบรมและกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้น้องๆ ผู้พิการทางสายตาเหล่านี้ได้เห็นโลกที่ชัดเจนขึ้นผ่านภาพที่ถ่ายด้วยหัวใจ เป็นประตูให้พวกเขาออกจากโลกความมืดได้อย่างน่าอัศจรรย์

ภาพถ่ายด้วยหัวใจ แบ่งปันสีสันสู่ผู้พิการสายตา