posttoday

แจง"ภาษีคนโสด"เป็นแค่แนวคิดทางวิชาการ

08 กันยายน 2556

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต แจงยิบระบุ "ภาษีคนโสด" เป็นแค่แนวคิดของนักวิชาการ ไม่ใช่ข้อเสนอของคณะเศรษฐศาสตร์ โอดโซเชียลมีเดียวิจารณ์รุนแรง

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต แจงยิบระบุ "ภาษีคนโสด" เป็นแค่แนวคิดของนักวิชาการ ไม่ใช่ข้อเสนอของคณะเศรษฐศาสตร์ โอดโซเชียลมีเดียวิจารณ์รุนแรง

เมื่อวันที่ 8 ก.ย. นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เผยแพร่หนังสือชี้แจงเรื่อง "ความสับสนในเรื่องภาษีคนโสด กับ ข้อเสนอเพื่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและปฏิรูปเศรษฐกิจช่วงเปลี่ยนผ่าน" โดยมีเนื้อหาดังนี้

ในวันที่ 5 ก.ย. ที่ผ่าน ทางคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตและศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ได้จัดงานสัมมนาเพื่อเผยแพร่ การประเมินการคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจปี 2556 ใหม่ พร้อมกับนำเสนอข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ในช่วงเช้า และ ในช่วงบ่ายวันเดียวกันได้จัดงานสัมมนาทางวิชาการร่วมกับหลายสถาบัน เรื่อง การปรับโครงสร้างและปฏิรูปเศรษฐกิจช่วงเปลี่ยนผ่าน

ผมและคณะได้นำเสนอข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปเศรษฐกิจ 8 ข้อ ดังนี้

ข้อ 1 การปฏิรูปภาษี เสนอให้ปฏิรูปทั้งโครงสร้างภาษี อัตราภาษี ฐานภาษี ใช้เครื่องมือภาษีในการจัดการทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองให้ดีขึ้น มาตรการภาษีสามารถจัดการทางด้านเศรษฐกิจ ได้ทั้งในมิติด้านการส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (ลดภาษีการลงทุน การบริโภคหรือกิจกรรมการผลิต) การกระจายความมั่งคั่ง (เพิ่มภาษีทรัพย์สินและภาษีมรดก) สนับสนุนความสามารถในการแข่งขัน (ลดภาษีให้กับวัตถุดิบหรือปัจจัยการผลิตบางประเภท) กระตุ้นให้เกิดการลงทุนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ลดหย่อนภาษีเพื่อกระตุ้นการลงทุน) และ ยังช่วยในการจัดการทางด้านสังคม (ภาษีบาปควบคุมกิจกรรมอบายมุข) และ ปัญหาสิ่งแวดล้อม (เก็บภาษีมลพิษต่างๆ) รวมทั้ง การเสริมสร้างให้ระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็ง ด้วยการทำให้พรรคการเมืองและสถาบันทางการเมืองเป็นของมหาชนมากขึ้นผ่านการบริจาคภาษีหรือบริจาคเงินสนับสนุนพรรคการเมืองแล้วสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ รัฐต้องเก็บภาษีที่มีลักษณะก้าวหน้ามากขึ้นและขยายฐานภาษีให้ใหญ่ขึ้นโดยเฉพาะภาษีทรัพย์สิน ควรพลักดันตัวเลขรายได้ภาครัฐให้ขึ้นไปอยู่สักระดับประมาณ 20% ของจีดีพี สถานะทางคลังจึงมั่นคงมีเสถียรภาพ และ ไม่กระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

การปรับโครงสร้างภาษีเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การพลักดันภาษีมรดกภาษีทรัพย์สินอันเป็นการเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สิน จะช่วยรัฐลดการพึ่งพิงภาษีที่เก็บจาก ฐานรายได้ สิ่งนี้จะลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจในสังคมลงได้

ข้อ 2. เร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจตามโครงการ  2 ล้านล้านและโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท โดยยึดหลักความโปร่งใสและประสิทธิภาพในการดำเนินการ และการลงทุนทางด้านทรัพยากรมนุษย์ด้วยการปฏิรูประบบการศึกษาและระบบบริการสาธารณสุขให้ทั่วถึงและมีคุณภาพ ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการให้บริการได้อย่างมีคุณภาพและทั่วถึง

ข้อ 3. พลักดันให้มีการปฏิรูปที่ดินและกระจายการถือครองที่ดิน และ ปัจจัยการผลิต

ข้อ 4. การปฏิรูประบบสวัสดิการสังคมโดยใช้กลไกรัฐสวัสดิการร่วมกับสังคมสวัสดิการโดยลดมาตรการหรือนโยบายประชานิยมลง

ข้อ 5.  การปฏิรูปภาคเกษตรกรรมให้มีผลผลิตต่อพื้นที่สูงขึ้น ลดต้นทุน เพิ่มอำนาจต่อรองให้เกษตรกรผ่านขบวนการสหกรณ์ ทะยอยลดมาตรการแทรกแซงราคาหรือพยุงราคาที่ฝืนกลไกตลาดมากเกินไป เพิ่มความสมดุลของภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมในระบบเศรษฐกิจไทย

ข้อ 6. ปรับโครงสร้างประชากรโดยเพิ่มอัตราการเกิดของประชากรเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา อัตราการพึ่งพิงสูงในอนาคต และ เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วเกินไป

ข้อ 7.  ปรับโครงสร้างการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีและลดการใช้พลังงาน

ข้อ 8. พัฒนาเศรษฐกิจโดยใช้ “คุณภาพชีวิต” เป็นเป้าหมายของการพัฒนา ให้”ประชาชน” เป็นศูนย์กลาง พัฒนาแบบยั่งยืนโดยการดูแลสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคม

นอกจากนี้ เสนอให้วางยุทธศาสตร์และเป้าหมายเพื่อให้ “ไทย” ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจอาเซียนและสามารถใช้โอกาสความรุ่งเรืองของเอเชียตะวันออก หรือ ศตวรรษแห่งเอเชีย เพื่อยกระดับฐานะของไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้วภายใน 15-20 ปีข้างหน้า

ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปในข้อ 6. เรื่อง ปรับโครงสร้างประชากรโดยเพิ่มอัตราการเกิดของประชากรเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา อัตราการพึ่งพิงสูงในอนาคต และ เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วเกินไป ผมได้มอบหมายให้ ดร. เทอดศักดิ์ ชมโต๊ะสุวรรณ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต   ศึกษาในเบื้องต้นว่า จะทำอย่างไรที่จะมีนโยบายหรือมาตรการรองรับในช่วงสองทศวรรษข้างหน้าต่อการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร โดยที่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรนี้จะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก มีข้อเสนอหลากหลายเพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน เช่น มาตรการลดหย่อนภาษีให้กับลูกคนที่ 2 คนที่ 3 หรือ สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูก เป็นต้น

ส่วนข้อเสนอเก็บภาษีคนโสดเป็นข้อเสนอจากแนวความคิดของ ดร. เทอดศักดิ์ โต๊ะสุวรรณ และเป็นแนวคิดเบื้องต้นเท่านั้น ยังไม่ได้ศึกษาวิจัยอย่างละเอียด เป็นการนำเสนอเชิงตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการถกเถียงกันในแวดวงวิชาการและในวงสัมมนาทางวิชาการ

“ภาษีคนโสด” จึงไม่ใช่ข้อเสนอของคณะเศรษฐศาสตร์แต่อย่างใด และไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับรัฐบาลเลย เพราะเป็นเพียงข้อเสนอของนักวิชาการท่านหนึ่งที่ห่วงใยประเทศชาติและนำเสนอด้วยความบริสุทธิ์ใจเพื่อให้มีการอภิปรายอย่างสร้างสรรค์ แต่เป็นที่น่าเสียใจที่สังคมไทยมีความแตกแยกสูงมากและได้นำประเด็นดังกล่าวไปบิดเบือนว่ารัฐบาลจะเก็บภาษีคนโสด ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริงแต่ประการใด

นอกจากนี้ยังใช้ถ้อยคำรุนแรงต่อนักวิชาการท่านดังกล่าวใน Social Media ซึ่งเป็นการทำลายขวัญกำลังใจในการทำหน้าที่บริการวิชาการเพื่อประโยชน์สาธารณะ 

โดยส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อการเก็บภาษีคนโสด แต่ คณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต ยึดถือนโยบายการให้เสรีภาพทางวิชาการ นักวิชาการทุกท่านสามารถนำเสนอความเห็นได้อย่างเป็นอิสระภายใต้ความรับผิดชอบต่อสังคมและองค์กร

การที่ผมไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีคนโสดเพราะการเก็บภาษีต้องยึดหลักความเป็นธรรมและเสมอภาค ไม่ควรนำเอาสถานภาพโสดหรือแต่งงานของบุคคลมาเป็นเกณฑ์กำหนด

นอกจากนี้ ภาษีคนโสดยังมีความยุ่งยากในทางปฏิบัติ และไม่มีหลักประกันอะไรว่าอัตราเพิ่มของประชากรจะสูงขึ้น การตัดสินใจเรื่องแต่งงานและการมีครอบครัวเป็นสิทธิส่วนบุคคลและเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ รัฐจึงไม่ควรมีนโยบายหรือมาตรการไปบริหารจัดการหรือแทรกแซงชีวิตส่วนตัวของประชาชน แต่ในทางวิชาการควรจะมีการศึกษาเอาไว้เพื่อเป็นข้อมูลและเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจทางนโยบาย เนื่องจากโครงสร้างประชากรและการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุจะเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทยในอนาคตที่ต้องเริ่มต้นวางแผนแก้ไขตั้งแต่วันนี้ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างประชากรหรือการทำให้อัตราการเพิ่มประชากรสูงขึ้นจึงต้องใช้มาตรการที่อยู่บนแนวคิดแบบสมัครใจหรือสร้างแรงจูงใจในทางบวกมากกว่าแรงจูงใจในทางลบ

ประเทศพัฒนาแล้ว มีโจทย์ใหญ่เมื่อเศรษฐกิจแก่ตัวลงจากโครงสร้างประชากรมีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงมาก มีอัตราส่วนการพึ่งพิง หรือ Dependency Ratio สูงขึ้น อัตราส่วนการพึ่งพิงนี้วัดจาก สัดส่วนระหว่างจำนวนคนที่ต้องการการพึ่งพิงหรือคนที่ไม่อยู่ในวัยทำงานอันหมายถึงเด็กและคนชรา กับ จำนวนประชากรที่อยู่ในวัยทำงาน อัตราการว่างงานในยุโรปเองก็สูงลิ่ว เกิดแรงงานเคลื่อนย้ายมาทำงานในเอเชียมากขึ้น 

ด้วยความสำเร็จของการวางแผนครอบครัวบวกกับความก้าวหน้าทางการแพทย์ ไทยมีอัตราการเกิดเหลือเพียง 1.6% (อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรอยู่ที่ 0.5% เท่านั้น) จากระดับ 6% เมื่อ 40-50 ปีก่อน อายุขัยเฉลี่ยคนไทยวันนี้อยู่ที่ 75 ปี ประเทศไทยผ่านจุดที่ดีที่สุดในแง่โครงสร้างประชากรไปแล้ว (ดีที่สุดหมายถึง มีอัตราการพึ่งพิงต่ำ ประชากรในวัยทำงานมาก ประชากรวัยชราและเด็กน้อย) ถือเป็น ช่วงที่เรียกว่า เป็น Demographic Dividend คือ ได้รับผลประโยชน์เหมือนเงินปันผลจากโครงสร้างประชากร ตอนนี้ คนไทยมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 34 ปี สังคมโดยภาพรวมยังไม่แก่มาก แต่อีกสิบปีข้างหน้าสถานการณ์น่าเป็นห่วงและดูแล้วจะแย่ลงเรื่อยๆหากเราไม่เริ่มดำเนินการแก้ปัญหานับตั้งแต่บัดนี้ อายุเฉลี่ยคนไทยเกิน 40 ปี ย่างเข้าปี ค.ศ. 2022 ประชากรในวัยทำงานจะเริ่มลดลง แรงงานซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญจะเริ่มขาดแคลน

วันนี้ เราก็ได้เห็น “อาการ” ของภาวการณ์ขาดแคลนแรงงานอยู่แล้ว ต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน มีอัตราการว่างงานต่ำกว่าร้อยละ 1 ไทยเคยเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labour Intensive Industry) และ เราได้สูญเสียสถานะดังกล่าวไปหลายปีแล้ว หากเราไม่แก้ปัญหาเรื่องโครงสร้างประชากร นอกจากจะเกิดสภาพประชากรหดตัวแล้ว รายได้ต่อหัวจะลดลง เรากำลังแก่ลงโดยที่ยังไม่ได้รวยขึ้นเท่าไหร่ ยังติดกับดับประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางอยู่ เราจะเจอกับปัญหาภาระทางการคลังที่เพิ่มขึ้น ความยั่งยืนทางการเงินของระบบสวัสดิการชราภาพสั่นคลอน ระบบประกันสังคมล้มละลายได้ ประเทศพัฒนาแล้วต่างเจอปัญหานี้ในขณะนี้ ตัวเลขภาระหนี้ภาครัฐสูงมาก และมีแนวโน้มค่าใช้จ่ายสวัสดิการชราภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ ระบบสวัสดิการสังคมจำต้องลดผลประโยชน์ด้านสวัสดิการลง พร้อมยืดอายุเกษียณออกไป

การดำเนินการดังกล่าวของรัฐบาลในกลุ่มยูโรโซนล้วนถูกต่อต้านจากผู้ที่ได้รับผลกระทบ กระแสประท้วงต่อต้านการปฏิรูประบบสวัสดิการและระบบการจ้างงานเกิดขึ้นโดยทั่วไปในยุโรป ปัญหาการว่างงานและความวุ่นวายของสถานการณ์แรงงานยังคงดำเนินต่อไป ไม่น่าจะดีขึ้นมากนักหากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวอย่างแท้จริง

ไทยต้องเจอกับปัญหาหนี้สาธารณะอันเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับประชากรชราภาพและต้นทุนเพิ่มขึ้นยามสังคมแก่เฒ่าลง ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการชราภาพ ค่ารักษาพยาบาล กำลังแรงงานสร้างรายได้หดหายลง รายได้ภาษีจากการทำงานลดลง เป็นต้น

การเพิ่มประชากรที่ต่ำเกินไปพร้อมกับปัญหาประชากรชราภาพจะเป็นระเบิดเวลาสำหรับอนาคตเศรษฐกิจและสังคมไทย เราจะแก่เร็วมากโดยที่ยังไม่รวยพอที่จะดูแลประชากรสูงอายุและเด็กให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนญี่ปุ่นหรือยุโรป หากเราไม่เริ่มวางแผน เรื่องการปรับโครงสร้างประชากร การปฏิรูปค่าใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการให้มีประสิทธิภาพและทำให้ระบบมี
 
ความยั่งยืนทางการเงินโดยลดภาระทางการคลังลง จะทำให้ไทยประสบปัญหาวิกฤตการณ์ทางการคลังได้ในอนาคต การนำเสนอนโยบายและมาตรการเพื่อดูแลผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชน อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวก็ยังเป็นเพียงส่วนเดียวของหลายส่วนในระบบเศรษฐกิจไทยที่จำเป็นต้องมีการปฏิรูปและปรับโครงสร้างช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ระบบการเมืองมีเสถียรภาพ

***บรรยายภาพ : นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต***