posttoday

จี้เอกชนรื้อป้ายเถื่อนทั่วกรุง

07 กันยายน 2556

กทม.ขีดเส้น1สัปดาห์ขู่ฟ้องคดีแพ่ง เข้มวินมอ’ไซค์จอด/ขับขี่ทางเท้าโดนปรับ

กทม.ขีดเส้น1สัปดาห์ขู่ฟ้องคดีแพ่ง เข้มวินมอ’ไซค์จอด/ขับขี่ทางเท้าโดนปรับ

กทม. แจ้งผู้ประกอบการ ถอนป้ายโฆษณาผิดกฎหมาย สั่ง 50 เขตฟ้องดำเนินคดี

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าฯ กทม. แถลงว่า ตั้งแต่คืนวันที่ 4 ก.ย. กทม.ได้ให้เจ้าหน้าที่เทศกิจ 50 สำนักงานเขต ไปเก็บป้ายที่ผิดกฎหมายที่ติดตั้งใน กทม.รวบรวมได้ทั้งหมด 3,118 ป้าย โดยป้ายส่วนใหญ่ติดตามเสาไฟฟ้า ต้นไม้ กีดขวางทางสัญจรของประชาชนบนทางเท้า และผู้ขับขี่รถยนต์ ซึ่งผู้ประกอบการจะใช้เวลาช่วงกลางคืนติดป้ายที่ผิดกฎหมาย ของ กทม.

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า กทม.เตรียมร้องทุกข์กับกระบวนการยุติธรรมให้ดำเนินคดีแพ่งกับผู้ประกอบการ โดย กทม.จะพิจารณา3 เรื่อง 1.ป้ายผิดกฎหมาย ต้องเก็บทันที 2.ป้ายที่ก้ำกึ่งผิดกฎหมาย จะตรวจสอบว่าถึงแม้ กทม.จะอนุญาตไปแล้ว แต่อาจจะติดตั้งเกินจำนวน หรือเกินขนาด และ 3.ป้ายขนาดใหญ่บนตึกสูงที่ผิดกฎหมายจำนวน 147 ป้าย จะแจ้งให้ผู้ประกอบการไปรื้อออก โดย กทม.จะทำหนังสือแจ้งไปโดยให้เวลารื้อถอนใน 1 สัปดาห์

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวอีกว่า จะให้ฝ่ายกฎหมายของแต่ละสำนักงานเขตไปแจ้งความกับตำรวจ 1 ป้าย 1 คดี ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ซึ่งมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท รวมทั้งจะดำเนินการจัดเก็บภาษีป้ายทุกป้ายด้วย ถ้าแจ้งแล้วยังดื้ออีก ก็ให้สังคมรับรู้ไว้ว่าคนรวยเอาเปรียบคนจน

“รวยเป็นหมื่นล้านแสนล้านกลับมาเอาเปรียบสังคมอีก หากยังมีปัญหาผมจะจ้างทหารช่างมาช่วยรื้อ” พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ส่วนเรื่องการจัดระเบียบวินมอเตอร์ไซค์เพื่อคืนทางเท้า ให้ประชาชน แม้ขณะนี้เสื้อวินมอเตอร์ไซค์จะขึ้นอยู่กับเขต แต่การอนุญาตขึ้นอยู่กับกรมขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม จึงเป็นหน้าที่ที่กรมขนส่งทางบกจะควบคุม แต่เบื้องต้น กทม.จะเรียกหัวหน้าวินมอเตอร์ไซค์มาหารือเพื่อขอร้องว่าห้ามจอดบนทางเท้าและห้ามขับขี่บนทางเท้า เพราะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ซึ่ง พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยฯ มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน5,000 บาท

ด้านนายธนา วิชัยสาร ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. กล่าวว่า กทม.โดยกองพัฒนาระบบจราจร สำนักการจราจรและขนส่ง มีโครงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ในปีงบประมาณ 2556 จำนวน 27,063 กล้อง ติดตั้งไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 12,903 กล้อง แบ่งเป็นกล้อง CCTV ที่ติดตั้งแล้วเสร็จและเปิดใช้งานแล้ว จำนวน 963 กล้อง ดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จ แต่ยังเปิดใช้งานไม่ได้ต้องรอการบรรจบกระแสไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวง จำนวน 11,940 กล้อง และอยู่ระหว่างการติดตั้งจำนวน 14,160 กล้อง