posttoday

ยุคล-สุภรณ์แจงยิบปมราคายาง

31 สิงหาคม 2556

รมว.เกษตรฯแจงราคายางตก เหตุเศรษฐกิจโลกอ่อนแอ ยันช่วยลดต้นทุนการผลิต ด้านสุภรณ์ ย้ำ เคลียร์เกษตรกรเหนือ-กลาง-ตะวันออก แล้ว 3 กย.ไม่มีปิดถนน

รมว.เกษตรฯแจงราคายางตก เหตุเศรษฐกิจโลกอ่อนแอ ยันช่วยลดต้นทุนการผลิต ด้านสุภรณ์ ย้ำ เคลียร์เกษตรกรเหนือ-กลาง-ตะวันออก แล้ว 3 กย.ไม่มีปิดถนน

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบประชาชน ถึง การแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ และการประท้วงของเกษตรกรสวนยาง

โดยนายยุคล กล่าวว่า กรณีราคายางพาราตกต่ำมาจาก 2 ปัจจัยหลักคือ ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกอ่อนแอและการผลิตมากกว่าความต้องการ เพราะถึงแม้ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย 3 ประเทศ ผู้ผลิตรายใหญ่จะมีบริษัทร่วมกัน แต่ความร่วมมือยังไม่ดีพอ อีกทั้งไม่ใช่ผู้ที่สามารถกำหนดราคาเองได้ นอกจากนี้ ยังเริ่มมีผู้ผลิตรายใหม่ทั้งลาวและเวียดนามเพิ่มมาอีก ในระยะยาวจะต้องร่วมมือกันทั้งอาเซียน

รมว.เกษตรฯ กล่าวต่อว่า ในประเด็นการแก้ไขปัญหา ได้หารือกับตัวแทนในสภาเกษตร ก่อนจะมีการชุมนุมมาตลอด แต่ไม่ได้หมายความว่าจะใช้ราคาชี้นำ โดยการตั้งราคาไว้แล้วไปให้ถึง เนื่องจากจะกระทบต่อราคาตลาด เพราะจะถูกกดราคา  และยังมียางพาราในสต๊อก ซึ่งผู้ซื้อจ้องกดราคา สำหรับสต๊อกยางพาราทั้งของรัฐบาลและเอกชน มีกว่า 3 แสนตัน  แต่ในส่วนของสต๊อกรัฐมีการประกาศชัดว่าจะเอามาใช้ในประเทศ  จึงแก้ไขโดยลดปัจจัยการผลิตและสนับสนุนปัจจัยการผลิต
รมว.เกษตรฯ กล่าวอีกว่า ทางออกของความเดือดร้อนของชาวสวนยางและการชุมนุมคือ ทั้งหมดจะดำเนินผ่านคณะกรรมการนโยบายยางพาราแห่งชาติจะช่วยลดต้นทุน  โดยจากการหารือกับตัวแทนเกษตรกรยางพาราเมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปรัฐจะช่วยค่าปุ๋ยไร่ละ 1,260 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ก่อน เพราะกลุ่มปลูกไม่เกิน 10 ไร่ เดือดร้อนมากที่สุด จ่ายเงินสดไปยังเกษตรกรโดยตรง ทั้งหมดนี้จะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันอังคารหน้าและดำเนินการได้ทันที

"พี่น้องเกษตรกรต่อรองกับเราว่า 10 ไร่ไม่พอ จะขอ 25 ไร่ ผมก็เรียนว่า 10 ไร่ผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองแล้ว เข้าครม.อังคารหน้า เอาไปก่อน ส่วนที่เกินไปเข้าคณะกรรมการนโยบายยาง เขาก็รับได้ "นายยุคลกล่าว

ด้าน นายสุภรณ์ กล่าวว่า กรณีการชุมนุมปิดถนนใน อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ได้มีการเจรจากับเกษตรกรในพื้นที่  อ.ชะอวด และจุฬากรณ์ พอใจราคาที่ 80 บาท โดยได้สลายการชุมนุมปิดถนนแล้ง แต่ก็มีพี่น้องเกษตรกรอีกกลุ่มหนึ่งมาบอกว่าไม่ยอมจะเอา 120 บาท ก็เลยไม่ยอมปิดถนน และก็ไปปิดเส้นทางรถไฟ กลุ่มเกษตรกรก็มีหลายกลุ่ม รัฐบาลก็พยายามเจรจาทุกรูปแบบ ไม่ใช่ทอดทิ้ง
และจากการหารือกับตัวแทนเกษตรกรในวันที่ 28 ส.ค. 2556 เกษตรกรสาวยางพาราภาคเหนือ ภาคตะวันออก และอีสาน พอใจผลการหารือแล้ว จะไม่มีการปิดถนนในวันที่ 3 ก.ย.นี้ ยกเว้นเกษตรกรภาคใต้ที่ยังคงชุมนุมปิดถนนในจุดเดิม อย่างไรก็ตาม อยากให้มาหาทางออกร่วมกัน โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายชัดเจนให้หารือกันและพร้อมรับฟังรอบด้าน