posttoday

สมัครงานล้นตำแหน่ง163%จบปริญญาตกงานอื้อ

30 สิงหาคม 2556

ไตรมาส 2 สัดส่วนคนสมัครงานต่อตำแหน่งว่างพุ่งแตะ 163% สูงกว่าช่วงน้ำท่วมปลายปี54 "อีสาน-กทม." อัตราการแข่งขัน2ต่อ1

ไตรมาส 2 สัดส่วนคนสมัครงานต่อตำแหน่งว่างพุ่งแตะ 163% สูงกว่าช่วงน้ำท่วมปลายปี54 "อีสาน-กทม." อัตราการแข่งขัน2ต่อ1

สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยรายงานสถานการณ์และการเตือนภัยด้านแรงงานประจำไตรมาส 2 ระบุว่า ไตรมาสดังกล่าวมีอัตราการว่างงานต่อกำลังแรงงานอยู่ที่ 0.77% โดยมีตำแหน่งงานว่าง 1.38 แสนอัตรา มีผู้สมัครงาน 2.26 แสนคน ซึ่งเมื่อเทียบอัตราผู้สมัครงานต่อตำแหน่งงานว่างแล้วอยู่ที่ 163.4% ขยายตัวจากไตรมาสแรกที่ผ่านมาซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 119.9% หรือเพิ่มขึ้น 36.28%

นอกจากนี้ หากเทียบกับไตรมาส 2 ของปี 2555 ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 121.12% แล้ว เท่ากับไตรมาส 2 ของปีนี้ อัตราผู้สมัครงานต่อตำแหน่งงานว่างขยายตัวเพิ่มขึ้น 34.9%

ขณะเดียวกันเมื่อดูข้อมูลย้อนหลังจากไตรมาส 4 ปี 2553 ถึงปัจจุบัน ตัวเลขผู้สมัครงานต่อตำแหน่งงานว่าง 163.4% เป็นตัวเลขที่สูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี โดยสูงกว่าไตรมาส 4 ปี 2554 ซึ่งเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เสียอีก เพราะขณะนั้นผู้สมัครงานต่อตำแหน่งงานว่างอยู่ที่ 150.56%

ทั้งนี้ ภูมิภาคที่มีอัตราการสมัครงานต่อตำแหน่งงานว่างสูงสุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 205.25% รองลงมา คือ กรุงเทพมหานคร 197.19% ภาคใต้ 183.46% ภาคเหนือ 154.47% และภาคกลาง 131.57%

อย่างไรก็ดี หากดูตัวเลขอัตราการบรรจุงาน โดยดูจากอัตราการบรรจุงานต่อตำแหน่งงานว่าง พบว่าการบรรจุงานในไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก 38.18% แต่ติดลบ 6.11% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันหากดูจากอัตราการบรรจุงานต่อจำนวนผู้สมัคร พบว่าขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 1.39% แต่ติดลบ 30.4% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปีที่ผ่านมา

รายงานดังกล่าวระบุด้วยว่า ในส่วนของอัตราการว่างงานต่อกำลังแรงงานอยู่ที่ 0.77% นั้น มีสัดส่วนเพศชายว่างงานมากกว่าเพศหญิง โดยชายว่างงานที่ระดับ 0.83% ขณะที่เพศหญิงว่างงาน 0.69%

นอกจากนี้ หากจำแนกตามระดับการศึกษา ระดับอุดมศึกษา มีอัตราการว่างงานสูงสุด 40.43% รองลงมา คือ มัธยมปลาย 19.24% มัธยมต้น 18.70% ประถมศึกษา 14.32% ต่ำกว่าประถมศึกษา 4.77% และไม่มีการศึกษา 2.54%

นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ตัวเลขดังกล่าวถือว่ามีจำนวนไม่มากอยู่ในหลักแสนคน ซึ่งคนกลุ่มคนที่มาแสดงตัวกับกรมการจัดหางานส่วนใหญ่จะมีการศึกษาระดับปริญญา และเมื่อดูจำนวนผู้สมัครแล้วต้องดูจำนวนการบรรจุงานควบคู่ไปด้วยว่าบรรจุได้เท่าใด ส่วนที่เหลือคือคนที่มีคุณสมบัติไม่ตรงกับความต้องการของนายจ้าง (Mismatch)

นายยงยุทธ กล่าวว่า ตัวเลขการบรรจุงานที่ลดลงหากเทียบแบบปีต่อปี อาจเป็นเพราะมีคนที่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามที่นายจ้างต้องการมากขึ้น หรืออีกด้านอาจเป็นเพราะนายจ้างมีตำแหน่งงานรับสมัครน้อยลง ทำให้เหลือคนที่ไม่ได้บรรจุงานมากขึ้น ซึ่งจะต้องไปดูในรายละเอียดอีกครั้ง