posttoday

Thai Handi Club เปลี่ยนจาก ‘ผู้รับ’ เป็น ‘ผู้ให้’

24 สิงหาคม 2556

จากที่เคยเป็นผู้รับ แต่ในวันนี้พวกเขาจะเปลี่ยนบทบาทไปเป็นผู้ให้

โดย...กันย์ ภาพ ไม่มีเครดิต

จากที่เคยเป็นผู้รับ แต่ในวันนี้พวกเขาจะเปลี่ยนบทบาทไปเป็นผู้ให้

Thai Handi Club หรือเรียกกลุ่มนี้ ว่า “คลับของคนทำมือ” ซึ่งมี โสภี ฉวีวรรณ หรือ “พี่กบ” เจ้าของธุรกิจด้านที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ให้กับภาครัฐและเอกชนหลายแห่งเป็นผู้ก่อตั้ง ที่มาที่ไปของการก่อตั้งชมรมนี้ เนื่องจากทำงานคลุกคลีกับด้านกิจกรรมสังคมโดยเฉพาะคนพิการ ตอนนั้นเคยเป็นผู้บริหารอยู่ธนาคารเอเชียและเมืองไทยประกันภัย เคยทำกิจกรรมกับน้องๆ นักเรียนโรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ

“ทำให้เรามองเห็นว่า ด้วยคนพิการสามารถทำอะไรได้หลายๆ อย่าง โดยเฉพาะงานด้านศิลปหัตถกรรม บางครั้งอาจทำได้มากกว่าคนปกติอีกด้วย แต่พวกเขาไม่มีช่องทางและโอกาสในการเรียนและการประกอบอาชีพเหมือนกับคนปกติเท่านั้นเอง ดังนั้นจึงมานั่งคิดว่าจะหาหนทางใดบ้างที่จะช่วยสนับสนุนหรือแสวงหาโอกาสให้กับพวกน้องๆ คนพิการกลุ่มนี้จึงเป็นที่มาและจุดเริ่มต้นและตัดสินใจก่อตั้งชมรม Thai Handi Club ” เธอเล่าย้อนให้ฟัง

ชมรม Thai Handi Club ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2552 โดยกิจกรรมหลักของชมรมจะเน้นไปในเรื่องของการฝึกสอนงานอาชีพ ศิลปหัตถกรรมด้านต่างๆ โดยคุณครูผู้สอนของเรา คือ “คุณครูพิเศษผู้พิการด้านการได้ยิน” ซึ่งคุณครูตัวน้อยเหล่านี้ จะเป็นนักเรียนจากโรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ จะแปลงเปลี่ยนสถานะจากนักเรียนมาเป็นคุณครูพิเศษ โดยโปรแกรมการเรียนการสอน ทางชมรมจัดแบ่งกิจกรรม จะให้ความรู้ในด้านศิลปะหัตถกรรมอย่างมืออาชีพ จากเหล่าคุณครูผู้พิการ Handi Club ตามหลักสูตรที่ได้มีการประยุกต์พัฒนาให้เข้ากับความสามารถของผู้เรียนทั่วไป และมีรายได้พิเศษจากการไปสอนตามที่ต่างๆ

สมาชิกเด็กๆ อายุตั้งแต่ 512 ปี ก็จะทำศิลปะประดิษฐ์สำหรับเด็ก เช่น บอลลูนอาร์ตรูปสัตว์ และดอกไม้ต่างๆ เทียนเจลสี สายหนังรัดข้อมือ ฯลฯ

ส่วนเยาวชนตั้งแต่อายุ 1325 ปี สร้างสรรค์ศิลปะประดิษฐ์จากวัสดุที่ใช้แล้วและงานประดิษฐ์อย่างละเอียด เช่น การเพนต์ผ้า การย้อมผ้าบาติก การพับกระดาษ/ธนบัตร ขั้นพื้นฐานสูงสุด ฯลฯ

ขณะที่ผู้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 2555 ปี ผลิตศิลปะประดิษฐ์จากวัสดุที่ใช้แล้วและงานประดิษฐ์อย่างละเอียด เช่น การจับจีบผ้า การทำดอกไม้ ตุ๊กตาประดิษฐ์ (ถุงน่อง/ถุงพลาสติก) การเพนต์ผ้า การย้อมผ้าบาติค การพับกระดาษ/ธนบัตร ขั้นพื้นฐานสูงสุด ฯลฯ

และครอบครัว (พ่อ แม่ ลูก) ก็จะมาร่วมกันสร้างศิลปะประดิษฐ์จากวัสดุที่ใช้แล้ว เช่น กรอบรูปครอบครัว กระปุกออมสินมั่นคง ผ้าขนหนูแปรงร่าง กระถางต้นไม้วิเศษ ฯลฯ

ทุกกลุ่มดูแลโดยคุณครูพิเศษตัวน้อยที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านงานศิลปหัตถกรรมระดับมืออาชีพ บางคนมีรางวัลการแข่งขันงานฝีมืออาชีพจากหลากหลายเวที ทั้งนี้จะมี “ครูจัน” จันทร์ธดี จันทรเสน ครูประจำชั้น ม.5 โรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ เป็นคุณครูที่ฝึกฝนอบรมน้องๆ ผู้พิการที่ผันตัวเองมาเป็นคุณครูพิเศษตัวน้อยของชมรม เพื่อให้น้องๆ ได้เป็นผู้ให้และภูมิใจในความสามารถของตนเอง

การเรียนการสอนของโรงเรียนโสตศึกษาเป็นหลักสูตรสายสามัญ แต่เพิ่มวิชาการงานอาชีพ เพื่อเป็นพื้นฐานในการประกอบอาชีพหาเลี้ยงตัวเองหลังจากเรียนจบ โดยสอนให้แก่นักเรียนในโรงเรียนที่มีความสนใจอยากประกอบอาชีพและรับสอนบุคคลหรือประชาชนทั่วไปด้วย เพราะเชื่อว่าฝึกให้คนพิการสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ พวกเขาจะไม่เป็นภาระให้แก่สังคม เพราะ “เขาสามารถเป็นวิทยากรที่ดีให้แก่คนปกติ เรารู้สึกภูมิใจที่นักเรียนของเราสามารถเป็นครูหรือวิทยากรสอนและถ่ายทอดความรู้ให้กับคนปกติ”

นี่หมายความว่า ความพิการไม่ได้เป็นอุปสรรคอย่างใดกับการให้ อย่างที่ชมรม Thai Handi Club ได้พิสูจน์

ผู้ก่อตั้งชมรม กล่าวว่า โปรแกรมการเรียนการสอนของเหล่าคุณครูพิเศษกลุ่มนี้ จะคิดค่าใช้จ่ายจากหลักสูตรการเรียนที่ผู้เรียนสนใจ โดยค่าใช้จ่ายการเรียนทั้งหมดจะรวมค่าอุปกรณ์เสร็จสรรพ แต่การออกรอบสอนต่อครั้งขอให้มีกลุ่มผู้เรียนไม่ต่ำกว่า 20 คน เพื่อจะได้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการสอนแต่ละครั้ง

“หลายครั้งที่น้องๆ ครูตัวน้อยเหล่านี้ จะปลื้มใจมากกับงานในชมรม พวกเขารู้สึกภูมิใจมากๆ เขาสามารถรับรู้ถึงการเป็นคนสำคัญ การได้เห็นคุณค่าภายในตัวเอง การได้มาเป็นคุณครูสอนคนปกติมันคือความภาคภูมิใจว่าพวกเขาสามารถทำได้ นอกเหนือจากการหารายได้ให้กับตัวเองโดยที่ไม่ได้เป็นภาระของครอบครัว”

เพียงแค่ทุกคนเปิดใจยอมรับสิ่งที่พวกเขาเป็นอยู่ ไม่มองว่าเป็น “ภาระสังคมและพร้อมให้โอกาส” เพียงเท่านั้น “คนพิการ” ที่มีอยู่ในสังคมก็ภาคภูมิใจเป็นที่สุดแล้ว สนใจร่วมเปิดโลกกว้างให้แก่คนพิการ ได้ที่ Thai Handi Club โทร. 02-438-9945 ต่อ 1217 หรือสนับสนุนให้การศึกษาแก่ผู้พิการทางการได้ยินที่โรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ โทร. 02-286-0733 หรือ http://www.school.obec.go.th