posttoday

สหภาพรัฐวิสาหกิจล่าชื่อถอดกสทช.ทั้งคณะ

23 สิงหาคม 2556

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ทีโอที-กสทฯ-อสมท. เดินหน้าล่ารายชื่อ 2 หมื่นคน หวังยื่นถอดถอนกสทช. ทั้งคณะ

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ทีโอที-กสทฯ-อสมท. เดินหน้าล่ารายชื่อ 2 หมื่นคน หวังยื่นถอดถอนกสทช. ทั้งคณะ

นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เปิดเผยว่า พนักงานรัฐวิสาหกิจทั้ง 3 แห่ง คือ ทีโอที กสท โทรคมนาคม และ อสมท. ประมาณ 500 คน ได้ลงชื่อเพื่อถอดถอนคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และต้องการให้กสทช.ทั้ง 11 คนยุติบทบาทการทำหน้าที่กำกับดูแล เพราะเกรงว่าประเทศชาติจะได้รับความเสียหายเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ผ่านมา การออกหลักเกณฑ์ของ กสทช.ส่งผลกระทบต่อหน่วยงาน และทำให้รายได้รัฐวิสาหกิจลดลง

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. ทีโอที  สรส. และสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย (สพร.ท.) จัดเสวนาทางรอด 3 รัฐวิสาหกิจไทย ประเด็น "สิ้นโครงข่าย กระทบความมั่นคงชาติ ประมูลคลื่นความถี่ ผลประโยชน์แสนล้าน เพื่อใคร" โดยเห็นว่า การที่กสทช.นำคลื่นความความถี่ของประเทศไปเปิดประมูล 3 จี เมื่อปี 2555 เอื้อประโยชน์แก่เอกชน และกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งกับการเปิดประมูลทีวีดิจิตอล 24 ช่อง ปลายปีนี้ สร้างผลกระทบโดยตรงต่อรัฐวิสาหกิจทั้ง 3 แห่งของประเทศ

นอกจากนี้ ในวันที่ 26 ส.ค. กลุ่มสหภาพฯ จะลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจแก่ภาคประชาชน ให้เกิดการหวงแหนคลื่นความถี่ที่เป็นสมบัติของประเทศชาติ ที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และล่ารายชื่อประชาชนให้ครบ 2 หมื่นรายชื่อ เพื่อยื่นต่อประธานวุฒิสภา ตามกระบวนการถอดถอน

สำหรับการลงชื่อเพื่อถอดถอนกสทช. เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากการที่ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ 49 องค์กร ได้รวมตัวเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ  เพราะการที่กสทช. นำคลื่นความถี่มาเปิดประมูล  โดยการตั้งราคาประมูลตั้งต้นที่ต่ำมากและแทบไม่มีการแข่งขันราคาในการประมูลเลย  ทำให้ราคาที่ประมูลได้ต่ำกว่าความเป็นจริง ส่งผลให้รัฐสูญเสียประโยชน์รายได้ที่ควรจะได้รับ โดยราคาประมูล กสทช. ได้รับเงินเพียง 4.1 หมื่นล้านบาท ในระยะเวลาสัมปทาน 15 ปี แต่เมื่อเทียบกับเงินรายได้นำส่งให้รัฐผ่าน ทีโอที และกสทฯ จากสัญญาสัมปทาน ในระยะเวลา 15 ปี เป็นเงินกว่า 5 แสนล้านบาท

ขณะที่การเตรียมการนำคลื่นความถี่ในกิจการวิทยุโทรทัศน์มาเปิดประมูล พบว่า กสทช. ได้ออกประกาศ ระบุขั้นตอนวิธีการประมูลคลื่นในกิจการวิทยุโทรทัศน์ มีใช้วิธีจับฉลาก เพื่อเลือกผู้ชนะการประมูล กรณีที่ชนะการประมูลด้วยราคาที่เท่ากัน  ซึ่งไม่ใช่วิธีการประมูลที่ดีที่สุดที่จะเป็นหลักประกันว่าประชาชนจะได้รับชมสถานีโทรทัศน์ที่มีความพร้อมให้บริการมากที่สุด  

นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนที่มีการผูกพันกันในเชิงการถือครองหุ้น มาประมูลฮั้วราคากันได้ แต่ อสมท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ไม่มีการแยกจดทะเบียนตั้งบริษัทลูก จะเสียเปรียบเมื่อเข้าแข่งขันการประมูล