posttoday

โพลนิด้าชี้คนค้านคุมไลน์-เอาผิดกดไลค์-แชร์

15 สิงหาคม 2556

นิด้าโพลเผยคนค้านรัฐบาลคุมการสื่อสารผ่านไลน์ ขู่เอาผิดกดไลค์-แชร์ นักวิชาการแนะรัฐควรเปิดข้อมูลความจริงมากกว่าปิดกั้น

นิด้าโพลเผยคนค้านรัฐบาลคุมการสื่อสารผ่านไลน์ ขู่เอาผิดกดไลค์-แชร์ นักวิชาการแนะรัฐควรเปิดข้อมูลความจริงมากกว่าปิดกั้น

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “สื่อออนไลน์กับความมั่นคงของชาติและรัฐบาล” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 13 – 15 ส.ค. จากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,232 หน่วยตัวอย่าง ที่ใช้สื่อออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ

จากกรณีกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. ประกาศจับตาเฝ้าระวังควบคุมสื่อออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ หลังจากมีการปล่อยข่าวเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติและรัฐบาล เช่น ข่าวลือเกี่ยวกับการปฏิวัติ รัฐประหาร โดยอ้างว่ากระทบต่อความมั่นคงของชาติ จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์ถึงสิทธิส่วนบุคคล โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐานไม่เกิน ร้อยละ 1.4

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อการที่ตำรวจเตรียมควบคุมการสื่อสารผ่านแอพพลิเคชั่น ไลน์ (Line) โดยอ้างว่ากระทบต่อความมั่นคงของชาติ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 73.54 ระบุว่าไม่เห็นด้วย เพราะ เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลในการรับรู้ข่าวสาร ขณะที่ ร้อยละ 20.29 เห็นด้วย เพราะ ถ้าเป็นข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงจริง ก็ควรจะมีการตรวจสอบ และร้อยละ 0.08 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ

เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อการห้ามไม่ให้กดไลค์ (Like)/แชร์ (Share) ข้อมูลที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐบาล ในสื่อออนไลน์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 68.18 ระบุว่า ไม่สมควร เพราะ รัฐบาลไม่ควรปิดกั้นประชาชน เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานมากเกินไป ประชาชนควรที่จะมีสิทธิในการรับรู้ข่าวสารต่างๆ ตามระบอบประชาธิปไตย  ขณะที่ร้อยละ 23.78 ระบุว่า สมควร เพราะ หากมีข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐบาลรั่วไหลออกไป อาจจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศในเชิงลบ และสังคมออนไลน์การเผยแพร่ข้อมูลเป็นอย่างรวดเร็ว และยากต่อการตรวจสอบ และร้อยละ 0.16 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ

นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.40 เห็นด้วยกับข้อความ “กดไลค์(Like) ไม่ใช่อาชญากรรม” รองลงมา ร้อยละ 39.20         ไม่เห็นด้วยทั้ง 2 ข้อความ  ร้อยละ 7.31 เห็นด้วยกับข้อความ  “แค่กดไลค์ (Like) ก็ติดคุกได้” และร้อยละ 9.09 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ

ผศ.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒน       บริหารศาสตร์ กล่าวว่า จากผลสำรวจสะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มผู้ที่เล่นสังคมออนไลน์ เป็นกลุ่มที่ค่อนข้างจะเร็วต่อข้อมูลข่าวสารและยอมรับในนวัตกรรมของการสื่อสารในยุคนี้

ทั้งนี้ส่วนใหญ่ต่างไม่เห็นด้วยกับการเข้ามาควบคุมหรือตรวจสอบการใช้โปรแกรมแชทออนไลน์ เพราะต่างให้ความสำคัญและรู้สึกหวงแหนเกี่ยวกับสิทธิการแสดงออกและการรับรู้ข่าวสารผ่าน สื่อออนไลน์ ที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้ว รวมไปถึงส่วนหนึ่งของการทำงานด้วย อีกทั้งไลน์ (LINE) มีความเฉพาะเจาะจงและเป็นส่วนบุคคลมากกว่า Facebook หรือ Twitter ที่ค่อนข้างจะเป็นสาธารณะ เมื่อมีข่าวในการตรวจสอบและควบคุมสื่อออนไลน์ จึงมีสัดส่วนของผู้ที่ไม่เห็นด้วยค่อนข้างสูง

ขณะเดียวกันสังเกตได้ว่าก็ยังมีกลุ่มคนอีกจำนวนหนึ่งที่เห็นด้วย เป็นไปได้ว่า กลุ่มดังกล่าวน่าจะตระหนักถึงความรวดเร็วของข้อมูลข่าวสารและข้อจำกัดในการสื่อสาร

อย่างไรก็ตามก็ควรที่จะพิจารณาเป็นรายกรณีไป หากมีการเผยแพร่มูลที่ไม่เหมาะสมหรือส่งผลกระทบต่อความมั่นคงจริง ๆ หรืออาจมีคำสั่งจากศาลในการขอข้อมูลเพื่อประกอบการตรวจสอบเป็นบางกรณี ซึ่งบริษัทที่ให้บริการโปรแกรมแชทสังคมออนไลน์คงไม่แลกกับผลประโยชน์และชื่อเสียงที่จะเกิดขึ้นตามมาอย่างแน่นอน ดังนั้น รัฐบาลควรมีมาตรการที่ไม่เป็นการปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและใช้อำนาจนิยมมากจนเกินไป ควรมีการชี้แจงหรือเปิดเผยข้อมูลที่เป็นจริงให้กว้างมากยิ่งขึ้น เพราะประชาชนบางส่วนยังเกิดข้อกังขาในหลายๆ ประเด็นเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่แท้จริงที่ประเทศชาติจะได้รับ หรือเป็นเพียงแค่ประโยชน์เฉพาะบางกลุ่ม 

ทั้งนี้เพื่อให้มีการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายอันจะนำมาสู่นโยบายสาธารณะ ขณะเดียวกันผู้ใช้สื่อออนไลน์ก็ควรจะร่วมมือกันใช้สื่อออนไลน์ในเชิงสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ ให้มีความถูกต้องและเหมาะสม