posttoday

ตั้งกก.ไกล่เกลี่ยทางการแพทย์ให้ต่างชาติ

08 สิงหาคม 2556

สธ.ตั้งกรรมการไกล่เกลี่ยทางการแพทย์ให้ชาวต่างชาติที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ รับนโยบาย "เมดิคัลฮับ"

สธ.ตั้งกรรมการไกล่เกลี่ยทางการแพทย์ให้ชาวต่างชาติที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ รับนโยบาย "เมดิคัลฮับ"

เมื่อวันที่ 8 ส.ค. นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าว “การพัฒนาระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการแพทย์ (Medical Mediator)” ว่า สธ.ได้พัฒนาให้มีระบบการไกล่เกลี่ยกรณีข้อพิพาททางการแพทย์ (Medical Mediator) หากเกิดกรณีข้อร้องเรียนหรือข้อพิพาททางการแพทย์ ทั้งในด้านคุณภาพการรักษาพยาบาล และอัตราค่าบริการ ระหว่างผู้ใช้บริการชาวต่างชาติกับสถานพยาบาลในประเทศไทยทั้งรัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขความเสียหายจากบริการทางการแพทย์ โดยใช้ระบบการไกล่เกลี่ย เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและสร้างความเชื่อมั่น รวมถึงสร้างความเข้าใจให้ชาวต่างชาติตามนโยบาย เมดิคัล ฮับ (Medical Hub)

ทั้งนี้ ระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาท จะเน้นรองรับชาวต่างชาติที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ โดยมีหลักการได้แก่ ต้องจ่ายค่ารักษาเองทั้งหมดก่อน ซึ่งกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มใหญ่ประมาณ 80% ส่วนรูปแบบการดำเนินการ จะมีการตั้งคณะกรรมการ 1 ชุด 18 คน มีอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นประธาน  และมีคณะกรรมการประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สมาคมโรงพยาบาลเอกชน แพทยสภา กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย สมาคมแพทย์คลินิกไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สมาคมประกันชีวิตไทย กระทรวงการต่างประเทศ  มีสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล  และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นเลขานุการ รวมทั้งยังมีคณะอนุกรรมการวิชาการ คณะอนุกรรมการด้านการเงิน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมในแต่ละสาขามาร่วมดำเนินการในบทบาทหน้าที่ตามข้อร้องเรียนที่เกี่ยวข้อง

รมว.สธ. กล่าวอีกว่า คณะกรรมการจะทำหน้าที่พิจารณา เจรจาไกล่เกลี่ย ทบทวนให้ข้อคิดเห็นโดยยึดหลักความถูกต้องทางวิชาการทางการแพทย์ในระดับสากล รวมทั้งความสมเหตุสมผลในด้านการเงิน เพื่อยกระดับการพัฒนาระบบการไกล่เกลี่ยทางการแพทย์ของไทยสู่ระดับสากล ซึ่งหากทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้องยินยอมเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย และกำหนดระยะเวลาดำเนินการทั้งระบบไม่เกิน 90 วัน หากไม่ยินยอมจะส่งเรื่องให้สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไปโดยเปิดช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย และได้เพิ่มช่องทาง 3 ได้แก่ 1.Web Portal : www.thailandmedicalhub.net , E-mail : [email protected]  2. Call Center กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หมายเลข 02-193-7999 ตลอด 24 ชั่วโมง 3.รับเรื่องร้องเรียนโดยตรงผ่านทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันมีข้อร้องเรียนที่เข้าสู่กลไก Medical Mediator แล้วและประสบความสำเร็จในการดำเนินงาน 

จากข้อมูลการร้องเรียนการให้บริการด้านการแพทย์ของไทย ปี 2555 พบว่ามีการร้องเรียนเกี่ยวโรงพยาบาล 59% ร้องเรียนเกี่ยวกับคลินิก 41%  เรื่องที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุดคือ ระบบการให้บริการของสถานพยาบาล 40% การรักษาพยาบาล 15%  ค่ารักษาพยาบาลแพง 9%  ร้องเรียนพฤติกรรมบุคลากรทางการแพทย์ 9%  และคลินิกเถื่อน/หมอเถื่อน 8%