posttoday

ห่วงระบบนิเวศระยองถูกทำลายหนัก

30 กรกฎาคม 2556

นักวิชาการ เตือน น้ำมันรั่วระยองทำลายระบบนิเวศ ระบุสารเคมีสลายน้ำมันอาจส่งผลเสีย จี้ หน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งแจง หวั่นซ้ำรอยกรณีอ่าวเม็กซิโก

นักวิชาการ เตือน น้ำมันรั่วระยองทำลายระบบนิเวศ ระบุสารเคมีสลายน้ำมันอาจส่งผลเสีย จี้ หน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งแจง หวั่นซ้ำรอยกรณีอ่าวเม็กซิโก

รศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับรายการโพสต์ทูเดย์ เรดิโอ ทอล์ค ทางคลื่นวิทยุเอฟเอ็ม 101 ถึงเหตุการณ์ท่อรับน้ำมันดิบของ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล  รั่วไหลกลางทะเลจ.ระยองว่า  เหตุการณ์ลักษณะนี้คล้ายกับที่เกิดขึ้นที่อ่าวเม็กซิโกเมื่ือ3ปีที่ผ่านมา ในครั้งนั้นใช้เวลาจัดการปัญหาประมาณ3เดือน ซึ่งส่งผลกระทบในเชิงการท่องเที่ยว ระบบนิเวศวิทยาในเชิงกว้าง และเศรษฐกิจมหาศาล รัฐในสหรัฐอเมริกาได้รับผลกระทบถึง3รัฐ สัตว์ทะเลกว่า800ชนิดได้รับผลกระทบ ปัจจุบันผ่านมากว่า3ปีแล้วแต่ยังมีนักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสงสัยว่ายังมีปัญหาอยู่

รศ.ดร.พิสุทธิ์ กล่าวว่า เมื่อน้ำมันดิบเกิดการรั่วไหลจะเกิดคราบน้ำมัน แม้ว่าจะจัดการเอาออกไปได้แต่จะมีอีกส่วนหนึ่งไปเคลือบบนโขดหิน แนวปะการัง และดินทรายต่างๆนอกจากนี้อนุภาคของน้ำมันจะเป็นลักษณะแขวนลอยไปอยู่กับสัตว์ทะเลต่างๆได้ 

เมื่อถามว่าการที่น้ำมันอยู่ในสัตว์ทะเลหมายความว่าสัตว์จะกินเข้าไปใช่หรือไม่ นายพิสุทธิ์ ตอบว่า ถูกต้องเพราะคราบน้ำมันเมื่อปนเปื้อนกับแหล่งน้ำธรรมชาติแล้วจะสามารถปลอมตัวได้หลายแบบ โดยส่วนแรกจะเป็นคราบที่ลอยบนผิวน้ำ อีกส่วนจะเป็นอนุภาคขนาดเล็กมากๆ ในส่วนนี้จะสามารถแพร่กระจายเข้าไปในสิ่งมีชีวิตได้ ขณะเดียวกัน มีอีกประเด็นที่เป็นผลกระทบ คือ การใช้สารเคมีลดและการกระจายของครบน้ำมัน เพราะสารเคมีที่ผลิตออกมาแม้จะมีคุณสมบัติย่อยสลายได้ทางชีวิภาพ แต่ในเชิงของสารเคมีสามารถปนเปื้อนและอยู่ตามสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศวิทยา

"การใช้เคมีขึ้นอยู่กับชนิดที่เราเลือกใช้ ดังนั้น องค์กรที่เกี่ยวข้องต้องออกมาชี้แจงว่าสารเคมีที่ใช้เป็นชนิดอะไรและมีลักษณะอย่างไร โดยในกรณีของอ่าวเม็กซิโกมีการวิเคราะห์ที่บอสตันแล็บพบว่ามีสารเคมีที่ใช้จัดการครายน้ำมันไปปนเปื้อนในอาหารทะเลในปริมาณสูงเหมือนกัน"

เมื่อถามว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคาดว่าต้องใช้เวลาเท่าไหรถึงจัดการกับปัญหาได้ รศ.ดร.พิสุทธิ์ กล่าวว่า โดยทั่วไปการจัดการกับน้ำมันรั่วกลางทะเลมี 3 ขั้นตอน ตั้งแต่ ขั้นที่ 1 พยายามหยุดการรั่วไหลและการแจ้งเตือนทุกภาคส่วนโดยเร็วที่สุด ต้องแสดงความมั่นใจออกมาให้ได้ว่าสามารถหยุดการรั่วไหลได้แล้วอย่างชัดเจน ซึ่งส่วนนี้มีความสำคัญมากต่อการวางแผนและประเมินสถานการณ์ได้ว่าจะใช้วลานานเท่าไหรในการจัดการ ขั้นที่2 หาวิธีการจำกัดการกระจายพื้นที่ของน้ำมันให้ได้มากที่สุด ขั้นที่ 3 การกำจัดและการบำบัด

"ในกรณีของไทยมีข้อจำกัดบางประการในการใช้ทุ่นลอยเพื่อจำกัดพื้นที่ ซึ่งคิดว่าน่าจะมีจำนวนไม่เพียงพอ เมื่อไม่สามารถจำกัดพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เราต้องมีการใช้สารกระจายเพื่อลดคราบน้ำมันในปริมาณมาก สารกระจายดังกล่าวส่งผลให้อนุภาคของน้ำมันแทนที่จะเป็นคราบหรือเม็ดใหญ่เพื่อให้ง่ายต่อการกำจัดแต่อนุภาคของน้ำมันจะแตกตัวเล็กลงมากๆ ซึ่งการที่อนุภาคเล็กลงจะทำให้น้ำมันเคลื่อนที่ได้ไกลและเร็วกว่าเดิม ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่มีแรงลมมากยิ่งทำให้คราบน้ำมันไปได้ไกลมากยิ่งขึ้น"รศ.ดร.พิสุทธิ์ กล่าว 

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวอีกว่า เมื่ออนุภาคน้ำมันขนาดเล็กเคลื่อนที่ไปได้ไกลและใกล้เข้าฝั่งจะมีความเป็นไปได้ที่จะไปรวมกับตะกอนใต้ท้องทะเล เท่ากับว่าจะกระจายใน 2 ทางคือ ก้นทะเล และเข้าหาฝั่ง ซึ่งทั้งสองทางจะส่งผลต่อระบบนิเวศวิทยาและมนุษย์ที่ต้องบริโภคอาหารทะเลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมคิดว่าน่าจะช่วยลดผลกระทบลงได้ในเวลาไม่นานมากนัก

ส่วนการเรียกร้องความเสียหายที่ผ่านมาของกรณีอ่าวเม็กซิโกมีการปรับถึง4.5พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้กรณีดังกล่าวมีน้ำมันรั่วไหลกว่าของไทยถึง4,000เท่า โดยของไทยมีปริมาณ50-70ลูกบาศก์เมตร แต่ของสรัฐอเมริกามีมากถึง8แสนลูกบาศก์เมตร ดังนั้น ถ้ามองในเชิงปริมาณน้ำมันของไทยที่ออกมาไม้ได้มากถ้าเทียบกับกรณีของอ่าวเม็กซิโก

รศ.ดร.พิสุทธิ์ ยังได้เขียน บทความวิชาการเรื่องภาพรวมแนวทางจัดการน้ำมันรั่วไหล (Oil Spill) ลงสู่ทะเลเผยแพร่ในเว็บไซต์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยอธิบายถึง กระบวนการจัดการกับเหตุน้ำมันรั่วไหลอย่าละเอียด

ทั้งนี้ท้ายบทความ รศ.ดร.พิสุทธิ์ ได้สรุปว่า แม้ว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีที่เกิดขึ้นกับแท่นขุดเจาะน้ำมัน Deepwater Horizon ของบริษัทบริติช ปิโตรเลียม (บีพี) ในอ่าวเม็กซิโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อกว่า 3 ปีที่ผ่านมา (น้ำมันดิบปริมาณมากถึง 4.9 ล้านบาร์เรล (780,000 ลูกบาศก์เมตร) รั่วไหลออกสู่อ่าวเม็กซิโกเป็นเวลานานถึง 3 เดือน ก่อนที่การรั่วไหลจะสามารถหยุดได้ และต้องใช้เวลานานถึง 5 เดือน กว่าที่การปิดตายบ่อน้ำมันอย่างถาวร) เราอาจกล่าวได้ว่าปริมาณการรั่วไหลของน้ำมันที่เกิดขึ้นในประเทศเราจะมีค่าที่ต่ำกว่ามากๆ (กว่า 4,000 เท่า) แต่ก็จะเห็นได้ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากน้ำมันรั่วไหลนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อขาดความชัดเจนในการจัดการ การเตรียมความพร้อม และประสบการณ์ ก็สามารถส่งผลเสียในวงกว้างให้กับหลากหลายภาคส่วนของประเทศ

ดังนั้น การป้องกันและการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมากับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกๆ ฝ่ายต้องให้ความสำคัญ รวมถึงเราควรให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนที่จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก หรือถ้าเกิดขึ้นอีกก็จะต้องมีแนวทางการบริหารจัดการที่ดีกว่านี้ เพราะปัญหาดังกล่าวกระทบกับระบบเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม และเหนือสิ่งอื่นใดของผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนคนไทย 

ผู้สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ www.eng.chula.ac.th/node/824

หรือดาวน์โหลดบทความฉบับไฟล์ .pdf ได้ที่

http://www.eng.chula.ac.th/sites/default/files/phaaphrwmaenwthaangcchadkaarnammanrawaihl_oil_spill_lngsuuthael.pdf