posttoday

สธ.แนะสูตรห่างไกลลดเสี่ยงโรคมะเร็ง

28 กรกฎาคม 2556

กระทรวงสาธารณสุขแนะสูตรห่างไกลมะเร็ง 5 ทำ 5 ไม่และวิธีสังเกตอาการสัญญาณอันตราย

กระทรวงสาธารณสุขแนะสูตรห่างไกลมะเร็ง 5 ทำ 5 ไม่และวิธีสังเกตอาการสัญญาณอันตราย
 
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สถานการณ์ของโรคมะเร็งในประเทศไทยเป็นปัญหาการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย ครองอันดับติดต่อกันมากว่า 10 ปี ปีละประมาณ 60,000 คน ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำคำแนะนำประชาชน เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง โดยใช้สูตรปฏิบัติตัว 5 ทำ 5 ไม่ ห่างไกลมะเร็ง
โดย 5 ทำ ประกอบด้วย 1. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละอย่างน้อย 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาทีขึ้นไป 2. ทำจิตใจให้แจ่มใส 3. กินผักผลไม้ให้ได้ครึ่งหนึ่งของอาหารที่บริโภคแต่ละมื้อ 4. รับประทานอาหารหลากหลาย 5. ตรวจร่างกายเป็นประจำ แม้ว่าตนเองจะมีสุขภาพแข็งแรงหรือไม่เคยเจ็บป่วยก็ตาม

ส่วน 5 ไม่ ประกอบด้วย 1. ไม่สูบบุหรี่หรือสูดดมควันบุหรี่ 2. ไม่มั่วเซ็กซ์ 3. ไม่ดื่มสุรา 4. ไม่ตากแดดจ้า5. ไม่กินปลาน้ำจืดดิบ
         
ด้านนายแพทย์ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า สัญญาณอันตรายของโรคมะเร็ง ที่พบบ่อย ประชาชนสามารถใช้สังเกตอาการผิดปกติของตนเองได้ มี 7 ประการ ได้แก่ 1. ระบบขับถ่ายผิดไปจากปกติ เช่นถ่ายเป็นก้อนแข็ง ท้องผูกนานหลายวัน มีกลิ่นผายลมเหม็นกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดจากสิ่งเน่าเสียคั่งค้างในลำไส้ใหญ่ 2. เป็นแผลเรื้อรัง รักษาไม่หาย 3. ร่างกายมีก้อนมีตุ่มขึ้น 4. กินกลืนอาหารลำบาก 5. มีเลือดออกที่ทวารหนัก หรือช่องคลอด 6. ไฝ หูด มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ 7. ไอเรื้อรัง เสียงแหบ หากพบความผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์เพราะการค้นหามะเร็งระยะเริ่มแรกนั้นมีประโยชน์มาก เพราะโรคชนิดนี้ หากเป็นในระยะเริ่มต้นคือก้อนเนื้อยังไม่ขยายตัวลุกลาม จะทำให้การรักษาได้ผลดี มีโอกาสหายขาดสูง เนื่องจากโรคนี้ใช้เวลาก่อโรคนานหลายปีต่างจากโรคติดเชื้ออื่นๆ ดังนั้น การรักษาเร็ว จะเป็นการป้องกันมิให้เข้าสู่ระยะมะเร็งลุกลามหรือเรียกว่าระยะที่ 4 ซึ่งโอกาสหายมีน้อยมาก
         
ในการรักษาโรคมะเร็ง ขณะนี้สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ใช้วิธีการรักษาตามมาตรฐานระดับสากล โดยหลักๆ คือ การผสมผสานการรักษาด้วยการผ่าตัด ฉายแสง และให้ยาเคมีบำบัด สำหรับเทคโนโลยีการรักษาใหม่ ที่ใช้ในสถาบันมะเร็งขณะนี้ ได้แก่ 1. การฉายแสงระบบ 4 มิติ 2.การรักษายาเคมีด้วยยาพุ่งเป้า 3.การผ่าตัดด้วยกล้องส่องช่องท้อง 4.การบำบัดด้วยคลื่นอัลตราซาวด์ความถี่สูง และ 5.การบำบัดด้วยความร้อน.