posttoday

แนะรัฐแก้โจทย์ไฟใต้อย่ามองแค่ความรุนแรง

17 กรกฎาคม 2556

แนะรัฐดูสาเหตุปัญหาใต้ให้ลึกอย่ามองแค่ความรุนแรง ด้านสมาคมหญิงฯชี้ปัญหาแบ่งแยกดินแดนมีเพียง 20% ยาเสพติดพุ่ง 30%

แนะรัฐดูสาเหตุปัญหาใต้ให้ลึกอย่ามองแค่ความรุนแรง ด้านสมาคมหญิงฯชี้ปัญหาแบ่งแยกดินแดนมีเพียง 20% ยาเสพติดพุ่ง 30%

น.ส.ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ นายกสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพกล่าวในเวทีเสวนาหัวข้อ "ไฟใต้ โจทย์ใหญ่ประเทศไทย” จัดโดยสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ว่า เหตุการณ์การแบ่งแยกดินแดนนั้นมีจริง แต่เพียง 20% เท่านั้น และเป็นปัญหายาเสพติดถึง 30% ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวบ้านต้องการให้ภาครัฐเข้ามาแก้ไขปัญหาให้มากที่สุด

สำหรับ 50% ที่เหลือ เป็นเรื่องของการขัดแย้งผลประโยชน์และความขัดแย้งส่วนตัวเท่านั้น แต่มีการบิดเบือนข้อมูลให้เป็นปัญหาจากความต้องการแบ่งแยกดินแดน เพื่อที่เจ้าหน้าที่อาจจะไม่ต้องตามตัวผู้ก่อเหตุ และชาวบ้านเองก็จะได้รับเงินเยียวยาจากความสูญเสีย

“รัฐลืมคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ไม่เคยมีรัฐบาลชุดไหนที่เอาข้อเสนอของชาวบ้านมาใช้แก้ปัญหา สิ่งที่ชาวบ้านต้องการคือ ให้แก้ไขปัญหายาเสพติด คุณภาพการศึกษา ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และความยุติธรรมเท่านั้น” น.ส.ปาตีเมาะ กล่าว

น.ส.ปาตีเมาะ ยังเรียกร้องอีกว่า ผู้หญิงคือเพศที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ความรุนแรงมากที่สุด เพราะนอกจากปัญหาดังกล่าวข้างต้นแล้ว ปัญหาสังคมยังเป็นสิ่งที่ต้องเผชิญในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งการข่มขืน การกดขี่ข่มเหง รวมถึง “กฎของชุมชน” ที่มีการละเมิดสิทธิ เพียงแต่ยังไม่ได้รับความใส่ใจและช่วยเหลือ รวมถึงที่พึ่งจากรัฐอย่างแท้จริงเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น

ด้านนายถาวร เสนเนียม ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ จ.สงขลา กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้เกิดความรุนแรงมี 10 ประเด็น คือ 1.ความรุนแรงที่มีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจากเจ้าหน้าที่รัฐเองในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 2.ยาเสพติด 3.อำนาจมืด ทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐและขบวนการ 4.การใช้กฎหมายพิเศษ 5.การเยียวยาผู้สูญเสีย 6.ศาสนา 7.วัฒนธรรม 8.เชื้อชาติ 9. ประวัติศาสตร์ และ 10.ความปลอดภัย

นายถาวร ยังกล่าวอีกว่า ประชาชนในพื้นที่ต้องการผู้นำหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่สามารถเข้าถึงตัวได้ง่ายเมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบหรือมีปัญหาเกิดขึ้น นอกจากนี้ การดำเนินงานตามนโยบายของรัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องนั้น ยังทำงานไม่เป็นเอกภาพ จึงต้องฝากความหวังไว้กับนโยบายของ คณะรัฐมนตรี และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพราะนายกรัฐมนตรีเองก็ควบตำแหน่ง รมว.กลาโหม  และเป็นประธาน ศอ.บต. ด้วย

นายปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า โจทย์ที่คนในพื้นที่กังวลอยู่มีเพียงไม่กี่เรื่องคือ การศึกษา การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ การเมือง การบริหาร และความสงบปลอดภัย ในขณะที่รัฐกลับมองว่าทำอย่างไรให้บ้านเมืองสงบ แต่ไม่ได้เข้าไปดูถึงสาเหตุที่แท้จริง

“คนมักจะมองไปที่โจทย์ของความรุนแรง คือแค่ผิวหน้า แต่ต้องมองไปลึกกว่า คือเรื่องของอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ศาสนา ว่าได้รับการตอบสนองแล้วหรือยัง” นายปิยะ กล่าว

นายปิยะ กล่าวอีกว่า โจทย์ที่สำคัญคือ การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในสังคมประชาธิปไตย เพราะรัฐเองคงไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ดีเท่ากับประชาชนในพื้นที่เอง ขอเพียงแต่รัฐต้องให้โอกาส โดยที่เจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่แค่สนับสนุน ชาวบ้านก็จะเป็นผู้ที่ตอบโจทย์และแก้ปัญหาได้ดีที่สุด

ขณะที่ นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการข่าวการเมืองและความมั่นคง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า รัฐควรลดช่องว่างในพื้นที่ โดยการนำงบประมาณไปใช้ในการพัฒนาพื้นที่มากกว่าที่จะเอางบประมาณไปทุ่มกับอุปกรณ์ที่ไม่สามารถใช้ได้จริง และรัฐควรที่จะลดความรุนแรงเองด้วย โดยห้ามมีการวิสามัญ