posttoday

คนไทยเจ๋ง!ผลิตสารรักษาไข้เลือดออกรายแรกของโลก

11 กรกฎาคม 2556

นักวิจัยไทยเจ๋ง ผลิตโมโนโคลนอล แอนติบอดี ใช้ในการรักษาไข้เลือดออกได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ "พงศ์ราม"ย้ำ รอการผลิตจากนอกเข้าสู่ไทย

นักวิจัยไทยเจ๋ง ผลิตโมโนโคลนอล แอนติบอดี ใช้ในการรักษาไข้เลือดออกได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ "พงศ์ราม"ย้ำ รอการผลิตจากนอกเข้าสู่ไทย

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อนและคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล Japan Science and Technology Agenda (JST) และ Japan International Cooperation Agency (JICA) จัดงานแถลงข่าวถึงความสำเร็จของ “โครงการวิจัยและพัฒนาชีวภัณฑ์รักษาโรคติดเชื้อโดยเน้นไข้เดงกี” ที่โรงแรมเวสติน แกรนด์ สุขุมวิท กรุงเทพฯ ซึ่งสามารถสร้างสารสำหรับอาการโรคติดเชื้อ โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออกได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก

ซึ่งทางโครงการสามารถสร้างสารชีวภาพที่ชื่อว่า “โมโนโคลนอล แอนติบอดี ของมนุษย์” (Human Monoclonal Antibody) ที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งเชื้อไวรัสไข้เลือดออก “ทั้ง 4 สายพันธุ์” โดยผสมเซลล์เม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก กับเซลล์ที่บ่งตัวเติบโตเร็ว (Myeloma ชื่อว่า SPYMEG cell) ได้เซลล์ลูกผสมที่ชื่อว่า “ไฮบริโดมา” (Hybridoma) ที่มีคุณสมบัติในการสร้างแอนติบิดีมนุษย์ได้ และแบ่งตัวเติบโตได้อย่างไม่จำกัด

นายนิพล โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การการแพทย์ กล่าวว่า "เป็นก้าวสำคัญในการค้นพบโมโนโคลนอล แอนติบอดี ซึ่งทำให้มีความหวังในการที่จะพัฒนาวัคซีน เพื่อใช้กับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เวชศาสตร์เขตร้อน ซึ่งไม่มีภูมิคุ้มกันกับโรคชนิดนี้"

นอกจากนี้ นายพงศ์ราม รามสูต หัวหน้านักวิจัยจากคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวว่า การสร้างโมโนโคลนอล แอนติบอดีมนุษย์ที่สามารถยับยั้งเชื้อไข้เลือดออกได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ในตัวเดียว โดยวิธี Hybridoma ใช้ SPYMEG นี้ ถือเป็นการค้นพบครั้งแรกของโลก และได้มีการจดสิทธิบัตรของอเมริกาแล้ว โดยนักวิจัยไทยและญี่ปุ่นมีสิทธิในสิทธิบัตรอย่างละครึ่ง เนื่องจากเป็นการทำโครงการวิจัยร่วมกันกับมหาวิทยาลัยโอซาก้า และได้รับเงินสนับสุนนจากทั้ง JICA JST และ รัฐบาลไทย

นายพงศ์ราม ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ตอนนี้มีการทดลองใช้สารตัวนี้กับหนูและลิงทดลองแล้ว ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดีในการยับยั้งเชื้อไวรัสไข้เลือดออกที่ฉีดเข้าไป โดยขั้นตอนต่อไปที่จะทำก็คือ การนำไปทดลองในอาสาสมัคร แล้วจึงนำไปสู่การทดลองกับผู้ป่วยไข้เลือดออกต่อไป ซึ่งตอนนี้มี 3 บริษัทให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบริษัทจากอินเดีย

"โดยต่อไปนี้จะหน้าที่ของแหล่งทุนที่จะมาสนับสนุน ซึ่งต้องผลิตให้ได้ตามหลักมาตรฐานของ GMP ถ้าผลิตได้เสร็จจึงนำไปทดลองในคน ซึ่งตอนนี้เมืองไทยมีนักวิจัยที่ทำวิจัยพื้นฐานแบบนี้เยอะ แต่ยังไม่มีบริษัทที่ผลิตได้ระดับอุตสาหกรรมแบบนี้แล้วนำไปทดลองกับคน ส่วนมากต้องใช้บริษัทนอก เพราะเมืองไทยไม่ค่อยมี"นายพงศ์ราม กล่าว