posttoday

โฆสิตแนะปรับตัวรับคนสูงวัยมากขึ้น

10 กรกฎาคม 2556

"โฆสิต" ชี้โจทย์ใหญ่ประเทศไทย ทุกคนต้องตื่นตัวรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยคนสูงวัยมากขึ้น

"โฆสิต" ชี้โจทย์ใหญ่ประเทศไทย ทุกคนต้องตื่นตัวรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยคนสูงวัยมากขึ้น   

นายโฆสิต  ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและแผนประชากร สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวในงานเสวนา  “เกิดน้อย ด้อยคุณภาพ อนาคต (เศรษฐกิจ)  ประเทศไทยจะไปทางไหน”  โดยย้ำว่าโครงสร้างประชากรของไทยที่เปลี่ยนไปจากอดีตที่ผ่านมาอย่างมาก โดยปัจจุบันประชากรเด็กและวัยทำงานเริ่มมีจำนวนน้อยลง  และในอนาคตกลุ่มคนทำงานจะเหลือเพียง  1  ใน 4 ของจำนวนประชากร และคนส่วนใหญ่จะมีอายุเกิน  65  ปี  ทำให้คนวัยทำงานต้องมีภาระเลี้ยงดูวัยสูงอายุ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่  จึงมีผลต่อการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ  โครงสร้างการผลิตจะเปลี่ยนแปลงไป 

ดังนั้น  ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐเอกชนและประชาชนทุกคน จะต้องปรับตัวรองรับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงดังกล่าว  เพราะประเทศไทยยังต้องใช้แรงงาน  คนวัยทำงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ    เพราะเป็นโจทย์สำคัญในการแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น รวมถึงหาทางดูแลพัฒนาคุณภาพประชากรตั้งแต่วัยรุ่นเพื่อให้มีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ 

ด้านนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาสนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิสถาบันอนาคตไทย กล่าวว่า  ตลาดแรงงานไทยปัจจุบันมีจำนวน  38  ล้านคน  ในสัดส่วนดังกล่าว  21  ล้านคนเป็นผู้ทำงานอิสระ  เช่น  พ่อค้า แม่ค้า  หาบเร่แผงลอย  โดย  17  ล้านคนเป็นวัยแรงงานรับเงินเดือนประจำ  ครึ่งหนึ่งหรือ 50% ของ  17 ล้านคนเป็นแรงงานรับค่าจ้างรายวัน  ส่งผลให้นายจ้างไม่ยอมลงทุนพัฒนาคุณภาพแรงงาน  เพราะเป็นลูกจ้างรายวัน  จึงมีผลต่อภาคการผลิตและประสิทธิภาพของแรงงาน  รัฐบาลจึงต้องให้ความสำคัญพัฒนาและดูแลฝีมือแรงงานให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น  เพราะมีผลต่อโครงสร้างการผลิตของประเทศ

ทั้งนี้การเกิดน้อย ขาดกำลังแรงงาน ก็สามารถที่จะนำแรงงานจากต่างประเทศที่มีคุณภาพมาเข้ามาทำงาน เพื่อพัฒนาประเทศไทย แต่รัฐบาลจะต้องมีนโยบายแรงงานระดับอาเซียนรองรับ

นายมีชัย  วีระไวทยะ  ประธานกรรมการและผู้ก่อตั้งสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน  กล่าวว่า  ยอมรับประเด็นการเกิดใหม่น้อยไม่ใช่ประเด็นสำคัญ  ที่สำคัญต้องพัฒนาคนให้มีคุณภาพมีความซื่อสัตย์ มีวินัย   แต่ถ้ามีเด็กเกิดมากแต่ไม่มีคุณภาพก็ทำให้ประเทศเสียหาย   ทั้งนี้ผลสำรวจความคิดเห็นของโพลสถาบันต่าง ๆระบุรในมุมมองข้าราชการ  ยอมรับการทุจริตคอรัปชั่นได้   58 % พนักงานเอกชน  65.3 %  พ่อค้า  65 %    ผลการศึกษาไทยด้อยคุณภาพ  ซึ่งสะท้อนว่าสังคมขาดคุณภาพ  ดังนั้น  เพื่อให้โครงสร้างเศรษฐกิจสามารถพัฒนาและเติบโตต่อไปได้  ต้องส่งเสริม และรณรงค์ไม่ให้เกิดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในทุกอาชีพ

ทั้งนี้การท้องก่อนวัยเรียนเป็นปัญหาด้านการประชากรหนึ่ง และจุดเริ่มต้นของปัญหาคุณภาพชีวิตของแม่วัยรุ่นและเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่เกิดมาไม่มีโอกาสเข้ารับการศึกษา   ซึ่งทุกฝ่ายต้องเข้าไปช่วยเหลือเด็กท้องก่อนวันเรียนให้อยู่ในสังคมได้  และโรงเรียนก็ต้องให้เด็กที่ท้องก่อนวัยเรียนได้รับการศึกษา โดยให้เพื่อนๆในกลุ่มช่วยเป็นพี่เลี้ยง พร้อมกับสอนให้เด็กรู้จักป้องกันการตั้งครรภ์