posttoday

ภาคประชาชนฟ้องปธน.เกาหลีชี้เควอเตอร์คุกคาม

07 กรกฎาคม 2556

ตัวแทนภาคประชาชน 11 กลุ่มยื่นหนังสือตอ่ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ชี้เควอเตอร์คุกคาม ใช้มาตรการทางกฎหมายข่มขู่

ตัวแทนภาคประชาชน 11 กลุ่มยื่นหนังสือตอ่ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ชี้เควอเตอร์คุกคาม ใช้มาตรการทางกฎหมายข่มขู่

เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ตัวแทนภาคประชาชน 11 กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ได้ทำจดหมายเปิดผนึกเรื่อง การเปิดเผยข้อมูลและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนไทยในโครงการบริหารจัดการน้ำ ถึง ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เอกอัคราชฑูตเกาหลีใต้ประจำประเทศไทย และประชาชนชาวเกาหลี เนื้อหาระบุว่า

กว่า 5 ทศวรรษที่ผ่านมานับตั้งแต่เริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 ประชาชนชาวไทยจำนวนมากต้องเดือดร้อนและเจ็บปวดจากการจัดการน้ำของรัฐ ชุมชนจำนวนมากต้องล่มสลายเมื่อมีการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำต่างๆ หรือโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมซึ่งต้องพึ่งพาน้ำเป็นปัจจัยสำคัญ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศและฐานทรัพยากรธรรมชาติ จึงส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน การหาปลา เกษตร แหล่งรายได้ และความมั่นคงทางอาหาร ปัจจุบันผลของการสร้างเขื่อนยังเป็นปัญหาเรื้อรังที่ไม่ได้รับการแก้ไข และกลายเป็นปัญหาสังคมในระยะยาว

สังคมไทยได้รับความเจ็บปวดมายาวนานเนื่องจากการพัฒนาที่ผิดแนววิถีวัฒนธรรมดั้งเดิม ละเลยความเดือดร้อนที่เกิดกับคนท้องถิ่น แต่สิ่งเหล่านี้กลับไม่เคยถูกหยิบยกมาเป็นบทเรียนสำหรับคณะผู้บริหารประเทศไทย โดยเฉพาะล่าสุดรัฐบาลไทยได้ผุดแผนโครงการบริหารและจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งภาคประชาชนไม่เคยรับรู้มาก่อน แต่กลับมีการคัดเลือกบริษัทที่รับผิดชอบเสร็จสิ้นไปแล้ว โดย 1 ในบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกครั้งนี้คือบริษัทโคเรียวอเตอแอนด์รีซอสเซส (เควอเตอร์) จากประเทศเกาหลี

คนในสังคมไทยส่วนใหญ่ไม่เคยรู้จักเควอเตอร์มาก่อน มีเพียงเสียงป่าวประกาศจากรัฐบาลสู่ประชาชนถึงความเป็นมืออาชีพและมีผลงานของเควอเตอร์ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลด้านเดียว อย่างไรก็ตามเมื่อปลายเดือนมิถุนายน องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจากเกาหลีได้รับเชิญจากสื่อมวลชนและภาคประชาชนไทยเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตรวจสอบโครงการในสังคมระบอบประชาธิปไตย

ทั้งนี้บริษัทเควอเตอร์ได้รับการคัดเลือกให้ดำเนินชุดโครงการก่อสร้าง floodway ที่มีความยาวราว 300 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัด และพื้นที่รับน้ำ (แก้มลิง) นับล้านไร่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นเรื่องความโปร่งใส การป้องกันและประเมินผลกระทบตั้งแต่ขั้นตอนแรกๆ ของโครงการเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ขอเรียนให้ท่านทราบว่า ไม่ว่าจะเป็นบริษัทหรือหน่วยงานใดที่ดำเนินโครงการลักษณะนี้ ย่อมต้องถูกตรวจสอบในลักษณะเดียวกัน

แต่ภายหลังการเป็นข่าวคึกโครมด้วยข้อมูลจากผู้แทนองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเกาหลี กลับมีปฏิกริยาที่ไม่สร้างสรรค์ออกมาจากเควอเตอร์ อาทิ การข่มขู่จะใช้มาตรการทางกฎหมาย แทนที่จะใช้วิธีชี้แจงข้อมูลสร้างความเข้าใจต่อสาธารณะหรือสื่อมวลชน ขณะเดียวกันมีความพยายามของเควอเตอร์ในการสืบค้นหาผู้ประสานงานเชิญผู้แทนองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเกาหลีด้วยรูปแบบต่างๆ ที่ไม่เป็นมิตร

ความสัมพันธ์เกาหลี-ไทย ดำเนินมายาวนาน เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในสังคมไทยและสังคมเกาหลี แต่พฤติกรรมของเควอเตอร์ขณะนี้กำลังทำให้ประชาชนไทยจำนวนหนึ่งรู้สึกเคลือบแคลงสังสัย โดยเฉพาะการปกปิดข้อมูลซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความไม่โปร่งใส ซึ่งจนถึงขณะนี้ประชาชนที่อาศัยในจังหวัดที่คาดว่าโครงการพาดผ่านกลับยังไม่ทราบข้อมูลใดๆ เลย ทำให้ต่างรู้สึกหวาดวิตกว่าต้องสูญเสียที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ขณะเดียวกันทุกวันนี้สังคมไทยยังคงพึ่งพาเกษตรกรรมและกสิกรรม ซึ่งบริเวณลุ่มน้ำต่างๆยังมีความอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญของชุมชน

เราไม่รู้แน่ชัดว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เควอเตอร์ได้รับการคัดเลือกครั้งนี้ แต่เรารู้สึกห่วงใยในมิตรภาพของประชาชนทั้ง 2 ประเทศ ที่ดำเนินความมาด้วยดีโดยตลอด เราหวังว่ารัฐบาลเกาหลีและสังคมเกาหลีจะเข้าในสถานการณ์ของประชาชนไทยออกมาปกป้องฐานทรัพยากรธรรมชาติของแผ่นดิน พร้อมทั้งร่วมกันสนับสนุนและส่งเสริมกระบวนการการส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างแท้จริงให้เกิดขึ้น

ทั้งนี้กลุ่มภาคประชาชนทั้ง 11 กลุ่มประกอบด้วย

สภาลุ่มน้ำท่าจีน

มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย)

เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ

เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา

สถาบันอ้อผหญา อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

เครือข่ายอนุรักษ์คลองชมพู จ.พิษณุโลก

กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ จ.แพร่

กลุ่มตะกอนยม จ.แพร่

เครือข่ายลุ่มน้ำขาน จ.เชียงใหม่