posttoday

ชำแหละโครงการน้ำส่อฮั้ว-ทุจริต

06 กรกฎาคม 2556

ผู้เชี่ยวชาญชี้ควรชะลอโครงการจัดการน้ำ ศึกษาผลกระทบรอบด้าน ส่อขัดกฎหมาย ด้านสว.เตรียมยื่นสอบป.ป.ช.แทงกั๊กทั้งที่รู้ว่าผิด

ผู้เชี่ยวชาญชี้ควรชะลอโครงการจัดการน้ำ ศึกษาผลกระทบรอบด้าน ส่อขัดกฎหมาย ด้านสว.เตรียมยื่นสอบป.ป.ช.แทงกั๊กทั้งที่รู้ว่าผิด

นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีชลประทาน เปิดเผยในงานเสวนา "กู้ 3 แสนล้าน จัดการหรือจัดโกง...น้ำ" ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า อยากเรียกร้องให้รัฐบาลชะลอโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และไปศึกษาความเป็นไปได้และความคุ้มค่าการลงทุนก่อน เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาน้ำท่วมได้อย่างถูกต้อง โดยที่ผ่านมา เห็นว่า เป็นการดำเนินการแบบเหมาเข่ง อาจจะเกิดปัญหาการซูเอี๋ย รวมถึงเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาค่าโง่แบบโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านและโครงการโฮปเวลล์

นายไพบูลย์ นิติตะวัน สว.สรรหากลุ่ม 40 สว. ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา กล่าวว่า ในวันที่ 11 ก.ค. จะรวมกลุ่มไปยื่นหนังสือกับผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อขอให้ยุติโครงการดังกล่าว เพราะเห็นว่า ขัดกฎหมายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาตรา 103 อนุ 7 ที่ไม่มีราคากลาง จึงไม่อาจดำเนินการขอกู้เงินได้

นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตประธานกรรมการผันน้ำลงทะเล ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าจะยื่นเรื่องต่อประธานวุฒิสภา เพื่อให้มีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของคณะกรรมการป.ป.ช. รวมถึงตุลาการศาลปกครอง เนื่องจากเห็นว่า การดำเนินการของ 2 หน่วยงานดังกล่าวเป็นไปในลักษณะแทงกั๊ก ไม่เด็ดขาด โดยเฉพาะป.ป.ช.ที่เห็นแล้วว่ารัฐบาลดำเนินการผิดกฎหมายป.ป.ช. แต่กลับยังนิ่งเฉย

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่า โครงการโมดูล A5 ฟลัดเวย์ ที่เริ่มต้นดำเนินการจากบริเวณขาณุวรลักษณ์ ถึงท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ระยะทาง 289 กิโลเมตร ถือเป็นการดึงน้ำจากแม่น้ำปิงลงมาใส่แม่น้ำแม่กลอง ซึ่งในอนาคตจะทำให้จ.กาญจนบุรีน้ำท่วม และขณะนี้ประชาชนในพื้นที่แม่กลองต่อต้านคัดค้านไม่ยอมเวนคืนที่ดิน อีกทั้งผิดกฎหมายสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เพราะมีการแก้ระเบียบว่าด้วยการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำโดยไม่ต้องศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม จากเดิมที่จะต้องทำ EIA ด้วย

นอกจากนี้ เห็นว่า โมดูล A1 โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนที่รัฐบาลรวมแผนการสร้างเขื่อนจำนวนมากกว่า 20 เขื่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการที่มีผลการศึกษามานานแล้ว แต่ยังผลักดันโครงการไม่ได้เนื่องจากมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและผิดกฎหมาย เช่น บริเวณโครงการก่อสร้างทับพื้นที่อุทยานและป่าสงวน แต่ที่พยายามเดินหน้าในคราวนี้ เพราะต้องการให้เกิดการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ เพื่อจะได้ค่าหัวคิวที่เป็นผลประโยชน์มหาศาลระหว่างฝ่ายการเมืองกับผู้ก่อสร้างโครงการ

นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า ขอตั้งคำถาม 3 ข้อถึงรัฐบาล คือ 1.เมื่อมีการสร้างฟลัดเวย์ เหตุใดจะต้องสร้างเขื่อนแม่วงก์ มูลค่า 1.3 หมื่นล้านอีก เพราะฟลัดเวย์สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้อยู่แล้ว 2.กลุ่มบุคคลใดจะได้ประโยชน์จากพื้นที่โดยรอบเส้นทางฟลัดเวย์ เพราะขณะนี้ทราบว่ามีกลุ่มธุรกิจเข้าไปกว้านซื้อพื้นที่ เช่น โครงการบ้านจัดสรร และ 3.จำนวนดินที่ขุดได้จากการทำฟลัดเวย์ ที่เป็นผลประโยชน์มหาศาลจะดำเนินการอย่างไร